ระบาด! 'ยานอนหลับชนิดใหม่' แรงกว่าตัวเดิม 10 เท่า

ระบาด! 'ยานอนหลับชนิดใหม่' แรงกว่าตัวเดิม 10 เท่า

"อีทิโซแลม" ยานอนหลับชนิดใหม่ ไทยยังไม่เคยเจอ พบระบาด 3 จชต. ฤทธิ์แรงกว่ายาไดอาซีแพม 10 เท่า อันตรายถึงตาย ลักลอบนำเข้าใช้เป็นยาเสพติด

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช รองผู้บัญชาการตำรวจภุธร(ผบช.ภธ.)ภาค 9 นายวชิระ อำพนธ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และน.ส.กัญญนันทน์ คงภัสนิธิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) แถลงข่าว "ตรวจพบยานอนหลัดชนิดใหม่ระบาดในประเทศไทย"

นพ.สุขุม กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2560 สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ส่งตรวจจากสถานีตำรวจภูธร 7 แห่งในเขตจ.นราธิวาสและยะลารวม 10 ตัวอย่าง มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งมีตัวพิมพ์ "5" ส่วนอีกด้านเป็นสัญลักษณ์ "4แฉกพร้อมตัวพิม์ 028 " บรรจุในแผงอลูมิเนียมสีเงินพลาสติกใสสีแดงแผงละ 10 เม็ด บนแผงพิมพ์ภาษาอังกฤษระบุผลิตในประเทศญี่ปุ่น (MADE IN JAPAN) และชื่อยา "Erimin5"

1024_589idc67fejbiib7ajhak2

หลังตรวจสอบ พบว่า เป็นยาปลอมเนื่องจากตรวจไม่พบส่วนประกอบที่เป็นยาไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) ที่ปกติจะพบอยู่ในยาอีริมิน( Erimin) 5 และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 มักนำไปใช้ทดแทนยาเสพติด ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากในสถานบันเทิง เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันชนิดของยา โดยใช้เทคนิคต่างๆในห้องปฏิบัติการประกอบกัน ได้แก่ เทคนิคโครมาโทกราฟีแผ่นบาง (TLC) การวัดการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องยูวี วิส สเปคโทรโฟโตมิเตอร์ การตรวจด้วยเครื่อง Gas chromatograph-Mass spectrometer และเทคนิค Infrared spectroscopy ทำให้สามารถยืนยันการตรวจของกลางทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าเป็นยาอีทิโซแลม (Etizolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย

1024_cbjaeki7bh8ij9dah8abd

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า ยาอีทิโซแลม มีสูตรโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีนส์ ซึ่งดูดซึมได้ดีผ่านระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากกว่ายานอนหลับไดอาซีแพม(Diazepam)ถึง 10 เท่า ให้ระดับยาในเลือดสูงสุดภายในเวลา 0.5-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 6-8 ชั่วโมง เป็นยากลุ่มกดประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี และ อินเดีย อนุญาตให้ใช้เป็นยาในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรงต่างๆกันสำหรับรักษาโรควิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ

"แต่มีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง เช่น ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาเลอะเลือน เดินเซ ง่วงนอน อาจมีอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งตัวใน และทำให้ลืมสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยที่ใช้ยามากกว่า 1 เดือนจะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เสพติดและมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดใช้ทดแทนยาอี (Ecstasy) สำหรับในประเทศไทยเนื่องจากยาดังกล่าวไม่มีจำหน่ายหรือไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศจึงยังไม่ถูกควบคุมหรือประกาศให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท "นพ.สุขุมกล่าว

1024_589idc67fejbiib7ajhak4


ด้านพล.ต.ต.ดาวลอย กล่าวว่า จากการปราบปรามยาเสพติดอย่างหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของตำรวจภูธรภาค 9 ในช่วง 2- 3เดือนที่ผ่านมา มีการตรวจจับผู้ใช้ยาเสพติดชนิดอื่นและพบพร้อมกับยาตัวนี้ 13 กรณี จึงได้นำส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการตรวจสอบ และพบว่าเป็นยาที่มีอันตราย แต่เนื่องจากเพิ่งพบว่ามีการระบาด เบื้องต้นน่าเชื่อได้ว่าผู้ใช้นำมาใช้กับตัวเองทดแทนหรือร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตรวจจับอย่างหนัก

" เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการนำไปใช้ในลักษณะการมอมผู้อื่น เพราะที่ผ่านมายังไม่มีเหยื่อหรือผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษว่าถูกมอมยา บวกกับ ยาชนิดนี้ไม่ละลายน้ำ จะละลายเฉพาะในแอลกอฮอล์ หากจะเป็นการป้องกันตัวเองจากยาชนิดนี้ ก็ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บุคคลอื่นหยิบยื่นให้ โดยเฉพาะในสถานบันเทิง ซึ่งคาดว่าเป็นการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน" พล.ต.ต.ดาวลอยกล่าว

นายวชิระ กล่าวว่า ยาชนิดนี้อย.ไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ไม่อนุญาตให้ใช้และยังไม่มีการควบคุมเนื่องจากเป็นการตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้ อย.จะเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลเอกสาร รวมถึง สอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและภาคอุตสาหกรรมด้วยว่ามีการใช้สารตัวนี้หรือไม่ ก่อนนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พิจารณาว่าจะจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์แบบไหน แต่เบื้องต้นอาจกำหนดเป็นประเภท 2 แต่หากพบว่าไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ใดๆในทางการแพทย์จริงๆ ก็อาจจะเข้มงวดการควบคุมมากขึ้น

"การเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบนำเข้าและครอบครองยาตัวนี้ ขณะนี้จะเป็นการเอาผิดในเรื่องยาปลอม มาตรา 117 ตาม พรบ.ยา พ.ศ.2510 ผู้ใดผลิตยาปลอมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(1) จำคุก 3 ปีถึงตลอดชีวิต ปรับ 1-5 หมื่นบาท ผู้ขายและนำเข้าตาม มาตรา 119 จำคุก 1-20 ปี ปรับ 2,000-10,000 บาท และวัตถุออกฤทธิ์ปลอม มาตรา 57(1) พรบ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2559 ที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ปลอม โดยผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท ส่วนผู้ขายต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท" นายวชิระกล่าว