ชื่นชม! ช่วยเหลือเต่ากระ 2 ตัว ติดอวนกลางทะเลภูเก็ต

ชื่นชม! ช่วยเหลือเต่ากระ 2 ตัว ติดอวนกลางทะเลภูเก็ต

ชื่นชม! พนักงานนิกรมารีน ช่วยเหลือเต่ากระ 2 ตัว ติดอยู่ในกองเศษอวนจ.ภูเก็ต นำขึ้นฝั่งส่งกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก พบใบพายหน้ามีบาดแผลขนาดใหญ่จากเศษอวนรัด

เมื่อวานนี้ (5 ก.ย.2560) มีผู้ใช้เฟซบุ๊ค “หาใครสักคน ที่รู้ใจ” ทราบภายหลังว่าเป็นพนักงานของบริษัท นิกรมารีน จำกัด ได้นำคลิปภาพการช่วยเหลือเต่าทะเลที่ติดอยู่ในซากอวนขนาดใหญ่ขึ้นมาบนเรือนิกร 824 พร้อมช่วยกันตัดเศษอวนออกจากตัวเต่า โดยพบว่าภายในกองเศษอวนมีเต่าติดอยู่ 2 ตัว หลังจากนั้นได้นำเรือเข้าฝั่งบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ไปยังบริษัทฯ และประสานเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สบทช.6) เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต ก่อนนำเต่าทั้ง 2 ตัวไปส่งรักษาตัว

จากการสอบถามนางสาวบุศยรินทร์ วุฒินนท์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาดนิกรมารีนกรุ๊ป เล่าให้ฟังว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา (5 ก.ย.60) ได้รับแจ้งทางพนักงานประจำเรือเร็วนิกรมารีน 824 ว่า ได้ช่วยเหลือเต่าทะเลติดในกองเศษอวนไว้ได้ 2 ตัว เส้นทางระหว่างเกาะราชา-ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง โดยขอให้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯ เพื่อนำเต่าดังกล่าวไปส่งทำการรักษาที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ เพราะหลังจากช่วยขึ้นมาได้ และเตรียมจะปล่อยกลับลงทะเล พบว่าเต่าทั้ง 2 ตัว มีบาดแผลค่อนข้างใหญ่ อันเนื่องมาจากถูกเศษอวนรัด จึงต้องนำกลับขึ้นฝั่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการรักษาดังกล่าว

ขณะที่นายครรชิต คลิ้งขลิบ ประธานชมรม HEALTHY REEF'S ซึ่งเป็นผู้นำเต่าทะเลที่พนักงานเรือเร็วของนิกรมารีนช่วยเหลือมาได้ไปส่งยังกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ บอกว่า เต่าทั้ง 2 ตัว เป็นเต่ากระ ยังไม่ทราบเพศ อายุประมาณ 5 ปี ขนาดความยาวกระดองประมาณ 30 เซนติเมตร และความกว้างกระดองประมาณ 25 เซนติเมตร มีสภาพอ่อนแรงและมีรอยรัดบริเวณใบพายหน้าด้านซ้าย โดยมี 1 ตัว ที่รอยรัดลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ คาดว่าจะเกิดจากถูกเศษอวนรัดเป็นเวลานาน แต่ไม่พบบาดแผลภายนอกอื่นๆ ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามนายครรชิต ให้ข้อมูลด้วยว่า ในปีนี้จะพบเต่าทะเลติดเศษอวนค่อนข้างมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากในระยะนี้มีเต่าทะเลเข้ามายังบริเวณเกาะราชาและเกาะใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรใต้ท้องทะเลที่ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ช่วยกันดูแลมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนของเศษอวนที่เกาะกันเป็นจำนวนมากก็อาจจะเนื่องจากเรือประมงที่หลบคลื่นลมแล้วมีการซ่อมแซมอวนทำให้มีเศษอวนบางส่วนตกลงไปในน้ำ เมื่อเต่าทะเลว่ายน้ำเข้าไปติดไม่สามารถออกได้ ซึ่งที่ผ่านมามีเรือนำเที่ยวในบริเวณดังกล่าวได้ทำการช่วยเหลือเต่าทะเลที่ติดอวนหลายครั้ง หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีบาดแผลก็จะปล่อยลงทะเล แต่หากมีบาดแผลก็จะนำส่งให้กับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเพื่อช่วยเหลือต่อไป