‘สมศักดิ์’ สั่ง ‘สทนช.’ สำรวจพื้นที่เสี่ยง เตรียมรับมือภัยแล้ง

‘สมศักดิ์’ สั่ง ‘สทนช.’ สำรวจพื้นที่เสี่ยง เตรียมรับมือภัยแล้ง

"สมศักดิ์" สั่ง สทนช.เดินหน้ามาตรการรับมือภัยแล้ง เร่ง ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ เผย พบปัญหาน้ำดิบผลิตน้ำประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอ ขอประสานหาแหล่งน้ำอื่นมาเติม กำชับ รับฟังความเห็นประชาชน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจาก นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง หลายจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ เพื่อรับทราบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในแหล่งน้ำทั้งการอุปโภคบริโภค เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่หลายจังหวัด

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยกับสถานการณ์แล้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งยังมีความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำได้ จึงสั่งการให้ สทนช.เร่งขับเคลื่อน 9 มาตรการฤดูแล้งปี 2566/2567 ให้เกิดประสิทธิภาพ และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะเร่งด่วน ในการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เช่น การสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง การจัดลำดับความสำคัญการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ เพราะตนมีความเป็นห่วงทุกพื้นที่ จึงได้กำชับ สทนช.ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศแล้ว 

"จากประสบการณ์ลงพื้นที่ของผมพบว่า ส่วนใหญ่ประสบปัญหาแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของระบบประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน รวมถึงคุณภาพน้ำประปาลดลงในช่วงฤดูแล้ง จึงได้สั่ง สทนช.ให้เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนน้ำจากแหล่งน้ำอื่นเข้ามาสนับสนุน เพราะหลายพื้นที่ เป็นพื้นที่อับฝน และอยู่นอกเขตชลประทาน แม้ว่าปัจจุบันประชาชน ยังไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่คงต้องมีการเตรียมแผนรองรับให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากแผนระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว สทนช. ยังได้รับฟังแนวทางความต้องการของประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงน้ำในพื้นที่ โดยพิจารณาแผนงานโครงการเพื่อสนับสนุนงบประมาณทั้งระยะกลาง และระยะยาวต่อไป  เช่น การสร้างฝายชะลอน้ำ แก้ไขระบบกรองน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำ ขุดลอกแก้มลิง ขุดเจาะบ่อบาดาลที่มีการสำรวจความเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน