ได้เวลาทบทวน ยุทธศาสตร์ชาติ

ได้เวลาทบทวน ยุทธศาสตร์ชาติ

การปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการกำหนดทิศทางประเทศไทยในอนาคต เพราะตอนนี้คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดใหม่น้อย

มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้รัฐบาลจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ เป็นแนวทางการจัดทำแผนระดับอื่นๆ รวมทั้งแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 

กำหนดไว้  6 ด้านด้วยกันได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้าง โอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ระยะเวลาที่กำหนด 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 เป็นช่วงระยะเวลาที่ใช้เป็นกรอบในการอ้างอิง ของเป้าหมายและตัวชี้วัดต่าง ๆ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีคณะกรรมการฯมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ  ตามมาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้โดยให้คณะกรรมการฯจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปีหรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านใด ด้านหนึ่งได้ หากคณะกรรมการฯเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้คณะกรรมการฯขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการปรับปรุง

เราเห็นด้วยที่ “นายกรัฐมนตรี-เศรษฐา ทวีสิน” ได้สั่งการให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติตามมาตรา 11 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่เหมาะสม ยืดหยุ่น ทันสมัย และมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาประเทศต่อไป

ที่สำคัญการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ คือการกำหนดทิศทางประเทศไทยในอนาคต และคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดใหม่น้อย กำลังสำคัญในการจัดทำแผนส่วนหนึ่งอาจจะสวนทางกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยจะปรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างไรให้เหมาะสมเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศท่ามกลางโลกที่กำลังผันผวนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีผลต่อการพัฒนาในอนาคต