อาหารบนเครื่องบิน

 อาหารบนเครื่องบิน

หลายคนเห็นชื่อเรื่อง คงคิดว่าผมกำลังจะบ่นเรื่องรสชาติอาหาร ของสายการบินไทยแน่ๆเชียว

ไม่หรอกครับ ผมกำลังจะบอกว่าอาหารของสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะอร่อยหรือไม่อร่อยก็ตาม ที่แน่ๆก็คือ อาหารที่ทุกสายการบินเตรียมไว้บริการผู้โดยสารนั้น… มีเหลือจำนวนมาก

อาหารดีๆที่ปรุงอย่างถูกอนามัย และเพียงพอที่จะนำไปเลี้ยงผู้คนที่ไม่มีอาหารรับประทานได้อีกจำนวนมาก แต่สายการบินกลับเอาไป “ทิ้งขยะ”  ทั้งหมดครับ!

ถ้าหากเราบินชั้นประหยัด สายการบินมักจะมีเมนูหลักให้เลือก 2 อย่าง เช่นจะเลือกปลาหรือหมู แต่ถ้าบินชั้นธุรกิจก็ 3 อย่าง ถ้าเป็นชั้นเฟิร์สคลาส อาจมีถึง 4 อย่างให้เลือก เรียกว่าคุ้มกับค่าโดยสารที่แพงลิบลิ่ว

เมื่อมีให้เลือกมากขนาดนี้ ให้รู้ไปว่าจะมีผู้โดยสารคนใด ที่ไม่ถูกใจเมนูนั้นเลยแม้แต่รายการเดียว ถ้าใครเป็นเช่นนั้น เห็นทีจะต้องจัดบะหมี่สำเร็จรูปให้ทานกระมัง

เชื่อได้เลยว่าสายการบิน ต้องมีการเก็บสถิติว่าเมนูอาหารจานหลักชนิดใด ควรจะเตรียมขึ้นเครื่องกี่ชุด จึงจะสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร และรสนิยมของผู้โดยสาร ในไฟล์ทต่างๆ

เป็นไปไม่ได้ที่มีผู้โดยสาร 100  คน  แล้วต้องเตรียมเมนูทุกชนิดอย่างละ 100 ชุด ดังนั้นอาหารที่เราเลือก บางครั้งพนักงานจึงบอกว่าหมดแล้ว ขอจัดอย่างอื่นให้แทน ซึ่งตรงนี้เราก็ควรจะเข้าใจ

แต่ประเด็นก็คือ อาหารที่สายการบินได้จัดเตรียมไว้ และยังไม่มีการบริโภคนั้น ส่วนที่เหลืออยู่สายการบินทั่วโลกจะนำไปทิ้งจริงๆครับ ด้วยเหตุผลหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกฎข้อบังคับของประเทศต่างๆ ไม่ยอมให้นำอาหารเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคที่ติดไปกับอาหาร 

ดังนั้นอาหารที่เหลือจากเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็น เศษอาหารจริงๆ ที่เหลือจากการบริโภคแล้ว หรือ อาหารพร้อมทานที่ยังไม่มีใครบริโภคเลย ก็ถูกจัดกลุ่มรวมกันให้เป็นสิ่งที่จะต้อง ถูกทำลายทิ้งทั้งหมด…. ว่างั้นเถอะ

ผมเพิ่งไปประเทศจีน และเห็นสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในประเทศจีน ทำโฆษณาประเภท “เน้นความยั่งยืน” โดยให้ข้อมูลว่า อาหารที่ผลิตขึ้นมาในโลกนี้ มีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ซึ่งไม่มีผู้ใดบริโภค และ ถูกทิ้งไปเฉยๆ จนกลายเป็นขยะจำนวนมาก

ในจำนวนนั้น 80% เป็นอาหารที่มาจาก สายการบินทั่วโลกครับ

ผมยังไม่มีเวลาหาตัวเลขล่าสุด แต่ตัวเลขที่มีคือเมื่อสิบปีที่แล้ว ในปี 2013 มีผู้โดยสารของสายการบินต่างๆทั่วโลก  จำนวน 6.3 พันล้านคน ซึ่งทำให้เกิดขยะรวมกัน มากถึง 3.15  ล้านตัน

ถ้าหากคุณมีเวลา ช่วยไปหาตัวเลขให้ด้วยครับว่า ถึงวันนี้  ขยะจะถึง 10 ล้านตันแล้วหรือยัง มนุษย์เอาทรัพยากรเหล่านั้น ไปผลิตสินค้าอื่นที่อยู่ในความต้องการ มิดีกว่าหรือ

น่าตกใจนะครับ เพราะนอกจากขยะอาหารที่ท่วมโลก และต้นทุนในการจัดการกำจัดขยะ รวมทั้งสภาพแวดล้อมเป็นพิษแล้ว เราจะต้องคิดต่อไปด้วยว่า กว่าจะผลิตอาหารเหล่านั้นขึ้นมาได้ เราต้องใช้ทรัพยากรของโลกไปแล้ว มากเพียงใด

แต่เมื่อผลิตออกมาแล้ว กลับนำไปทิ้งเป็นขยะมากมายขนาดนั้น ในขณะที่คนยากจน และคนที่อดอยากไม่มีอาหารรับประทาน ก็ยังมีอยู่มากมายบนโลกใบนี้

เวลาผมไปยุโรป เครื่องบินออกเกือบตีหนึ่ง ยังไงๆผมก็ไม่ทานอาหารบนเครื่องบินอยู่แล้ว  เตรียมนอนอย่างเดียว หลายคนก็คงเป็นเช่นนั้น ผมมั่นใจว่าพฤติกรรมอย่างนี้สายการบินต่างๆ ย่อมรู้ดี และคงเตรียมอาหารไว้จำนวนน้อยลง ตามสถิติที่เคยมีมา

แต่แทนที่จะพึ่งสถิติ เอาตัวเลขจริงๆเลยน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าไหม เช่นให้สายการบินรู้ล่วงหน้าว่าจะมีผู้โดยสารคนใด ที่ไม่รับประทานอาหารบ้าง จะได้เตรียมอาหารให้ได้จำนวนใกล้เคียงกับการบริโภคบนเครื่องบินสำหรับไฟล์ทนั้นๆ และมีอาหารเหลือน้อยที่สุด

เมื่อปี 2022 สายการบิน  Delta ได้ทำแบบนั้นแหละครับ คือขอให้ผู้โดยสาร แจ้งล่วงหน้า ก่อนเดินทาง  24  ชั่วโมง  ว่า “จะเลือกอาหารประเภทไหน” แต่ได้เพิ่มทางเลือกใหม่คือสามารถระบุได้ว่า  “ไม่ทานอะไรเลย” เป็นโครงการทดลอง ใช้กับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ บางไฟล์ทเท่านั้น

ผ่านไปหนึ่งปี มีผู้โดยสารที่ระบุว่า “ไม่ทานอะไรเลย”  ประมาณ  1,500 คน แปลว่าไม่ต้องทำอาหารดีๆ แล้วทิ้งเป็นขยะ  1,500 ชุด

ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2020 สายการบิน Japan Air Line ก็ได้ริเริ่มโครงการแจกกระเป๋าเครื่องใช้ (Amenity Kit) ให้แก่ผู้โดยสารที่ระบุว่าไม่ประสงค์จะรับประทานอาหาร โดยทดลองใช้ในบางไฟล์ท แต่ปัจจุบัน JAL ใช้ระบบนี้ กับทุกไฟล์ทบินระหว่างประเทศแล้ว โดยไม่ต้องแจกกระเป๋านี้อีกต่อไป

ก็นับว่าเป็นความพยายามที่ดีนะครับ แต่ทั้งๆที่สายการบินหวังดี ก็มีบางคนตีความเป็นร้ายให้จนได้  เช่นกล่าวหาว่า ใช้เรื่องของความยั่งยืน เป็นข้ออ้างเพื่อลดต้นทุน บางคนก็บอกว่า แล้วฉันจะรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่า  อีก  24 ชั่วโมง ฉันจะหิวหรือไม่ ฯลฯ 

ความจริง ถ้าเกิดหิวขึ้นมา ผมเชื่อว่าสายการบินก็ต้องมีของว่างเล็กๆน้อยๆ เอาไว้บริการอยู่แล้ว ซึ่งดีกว่าเอาอาหารชุดใหญ่ทั้งชุด ไปโยนทิ้งขยะไหมล่ะ

มนุษย์เราก็เป็นเช่นนี้ครับ คือทุกเรื่อง จะมีมุมมองที่เป็นทั้งบวกและลบได้เสมอ  

เอาเป็นว่า โลกนี้เข้าสู่ยุคความยั่งยืนอย่างชัดเจนแล้ว และโลกก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว อะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็มีได้ เช่นเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง ครม. ได้รับหลักการออก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมแล้ว  เป็นต้น

เมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน วันนี้เราจึงต้องช่วยกัน “สร้างความยั่งยืน” ในทุกรูปแบบ เช่นเรื่องอาหารที่พูดถึงในวันนี้

แล้วก็รวมถึง เรื่องความยั่งยืนทางการเมืองด้วย…นะเธอ