เปิดปม ‘สถานีตำรวจจีนลับ’ มีจริงไหม? หลังรัฐบาลเล็งชวน ‘ตำรวจจีน’ ลาดตระเวนในไทย

เปิดปม ‘สถานีตำรวจจีนลับ’ มีจริงไหม? หลังรัฐบาลเล็งชวน ‘ตำรวจจีน’ ลาดตระเวนในไทย

ประเด็นร้อนหลังรัฐบาลไทยเล็งทำงานร่วม “ตำรวจจีน” หวังให้ข้อมูลปราบ “จีนเทา” ในประเทศไทย พร้อมสร้างความเชื่อมั่น “นักท่องเที่ยวจีน” ขณะที่ชาวเน็ตหวั่นซ้ำรอยประเทศอื่น ๆ ที่เกิดการตั้ง “สถานีตำรวจจีนลับ” ข่มขู่และปราบปรามชาวจีนในต่างแดนที่เห็นต่างจากรัฐบาลจีน

ประเด็นร้อนว่าด้วยแนวคิดจากภาครัฐที่อยากจะจุดพลุความร่วมมือกับ “ตำรวจจีน” ให้มาร่วมตระเวนดูแลความปลอดภัยในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้ “นักท่องเที่ยวจีน” กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ชาวจีนไม่กล้ามาเที่ยวไทย เพราะกลัวได้รับอันตรายและตกเป็นเหยื่อของกลุ่ม “จีนเทา” ที่แฝงตัวทำธุรกิจในไทย

นำมาสู่การตั้งคำถามรวมถึงความกังวลจากหลายฝ่าย ว่า การเข้ามาของตำรวจจีนจะส่งผลต่อความมั่นคงในประเทศอย่างไรหรือไม่ หากจะให้ตำรวจจีนเข้ามามีบทบาทในไทย ร้อนถึง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตำรวจจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมในมาตรการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวจีนที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่ม “จีนเทา” เนื่องจากข้อมูลของสตช. พบว่า กลุ่มจีนเทาจะเกรงกลัวตำรวจจีนมากกว่า ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนก็จะรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีตำรวจจีนมาคอยดูแล

ดังนั้น อาจเป็นการดีหากตำรวจจีนเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติงาน โดยเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การกำราบกลุ่มจีนสีเทา เพราะตำรวจจีนมีข้อมูลเบาะแสของกลุ่มจีนเทา และพร้อมให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน พร้อมทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ถือเป็นการทำงานร่วมกันของตำรวจของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ด้าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยไม่เห็นด้วยกับการนำตำรวจจีนเข้ามาดูแลนักท่องเที่ยวจีนในไทย เพราะถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย อีกทั้งตำรวจไทยมีศักยภาพในการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวเพียงพอแล้ว

  • “สถานีตำรวจจีนลับ” จับตาคนจีนในต่างแดน

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ดำเนินข้อตกลงทวิภาคีด้านการตรวจการของตำรวจในต่างแดนกับหลายประเทศมาตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้นโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง 

หนึ่งในนั้นคือ ประเทศอิตาลีที่ประกาศโครงการ “ลาดตระเวนร่วม” กับตำรวจจีน หวังฟื้นฟูภาพลักษณ์และให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย พร้อมเป็นความร่วมมือในระดับสากล สำหรับแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรเพื่อจัดการกับกลุ่มอาชญากรและก่อการร้ายในประเทศต่าง ๆ 

แต่แล้วช่วงปลายปี 2565 รัฐบาลอิตาลียุติโครงการดังกล่าว หลังข้อมูลจาก Safeguard Defenders องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน พบว่ามีการจัดตั้ง “สถานีตำรวจจีนลับ” เพื่อจับใช้จับตาและคุกคามคนจีน ในอิตาลีมากถึง 11 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ Safeguard Defenders ยังเปิดเผยว่ามีสถานีตำรวจจีนลับอย่างน้อย 102 กระจายอยู่ใน 53 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ แองโกลา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย บังกลาเทศ บราซิล บรูไน กัมพูชา แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คิวบา สาธารณรัฐเช็ก เอกวาดอร์ เอธิโอเปีย ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี เลโซโท มาดากัสการ์ มองโกเลีย เมียนมาร์ นามิเบีย นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย ซูดาน ปานามา เปรู โปรตุเกส โรมาเนีย รัสเซีย เซอร์เบีย สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน แทนซาเนีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยูเครน สหราชอาณาจักร สหรัฐ อุซเบกิสถาน เวียดนาม และแซมเบีย

“สถานีตำรวจจีนลับที่เราพบมาจากเอกสารทางการของจีน ซึ่งความจริงอาจจะมีมากกว่านี้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือ ตำรวจจีนเหล่านี้อาจพยายามบังคับให้คนจีนในต่างแดนกลับประเทศ ด้วยการข่มขู่ คุกคาม และลงโทษสมาชิกในครอบครัวที่ยังอยู่ในจีน” ลอว์รา ฮาร์ธ ผู้อำนวยการ Safeguard Defenders  ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC 

ฮาร์ธเน้นย้ำว่านี่เป็นมาตรการสังเกตการณ์ ข่มขู่และปราบปรามผู้เห็นต่าง เพื่อให้มั่นใจว่าคนจีนในต่างประเทศ ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ชาวอุยกูร์ และนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง จะปิดปากเงียบและเดินทางกลับจีน

 

  • จีนปฏิเสธ ไม่เคยมี ‘สถานีตำรวจจีนลับ’ 

Safeguard Defenders พบว่ารัฐบาลท้องถิ่นจีนมักออกประกาศด้วยวิธีการกำหนดเส้นตาย เช่น ประกาศให้ชาวจีนที่อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายในเมียนมาและกัมพูชาเดินทางกลับประเทศ หากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับครอบครัว หรือให้เงื่อนไขว่าจะลดโทษเหลือเพียงค่าปรับ 

เมื่อย้อนไปเดือน เม.ย. 2566 ทางการสหรัฐ จับกุมชายชาวจีนสองคนข้อหาตั้งสถานีตำรวจลับในนครนิวยอร์ก ตามคำสั่งของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของรัฐบาลจีน จากข้อมูลของอัยการสหรัฐ พบว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีน และถูกชักชวนมาทำการกดขี่ คุกคามผู้เห็นต่างในสหรัฐตั้งแต่ปี 2558 

อย่างไรก็ตาม หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีสถานีตำรวจจีนลับในต่างประเทศ มีเพียงแต่ศูนย์บริการช่วยเหลือชาวจีนในต่างแดนที่ก่อตั้งโดยชาวจีนด้วยกันเอง สำหรับการต่ออายุใบอนุญาตขับรถและตรวจร่างกาย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้อง

 

  • นักท่องเที่ยวจีนไม่มาอาเซียน เพราะกลัว “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”

แม้ว่าจะยุคโควิด-19 จะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่า “นักท่องเที่ยวจีน” ซึ่งเป็นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยังไม่กลับมาท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ง่าย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ปัญหากลุ่มจีนเทา และ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”

เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ทางการจีนได้ออกประกาศเตือนประชาชนชาวจีนว่า หากไม่มีความจำเป็น หรือ เหตุผลฉุกเฉิน ไม่ให้เดินทางไปยัง 9 ประเทศ แหล่งอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ คือ ไทย กัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาว มาเลเซีย ตุรกี และอินโดนีเซีย  รวมถึงคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ และควรกลับมาจีนให้เร็วที่สุด

หนำซ้ำยังเจออิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่อง “No More Bets” ที่ทำรายได้ถล่มทลายทั่วเมืองจีน ที่เล่าถึงการค้ามนุษย์และหลอกคนไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชมชาวจีนว่าจะโดนจับเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ และไม่กล้ามาเที่ยวในละแวกนี้เพิ่มเข้าไปอีก

แม้ว่าหลายประเทศจะออกมาจัดทำแคมเปญต่าง ๆ เพื่อเรียกความมั่นใจและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมา พร้อมถึงกล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นั้นเกินความเป็นจริงแล้วก็ตาม


ที่มา: BBCNikkeiThe GuardianWION