"ฟิกท์“ โชว์ศักยภาพคว้างาน depa งบกว่า 300 ล้าน หนุนสร้างบุคลากรรับศก.ดิจิทัล

"ฟิกท์“ โชว์ศักยภาพคว้างาน depa งบกว่า 300 ล้าน หนุนสร้างบุคลากรรับศก.ดิจิทัล

"ฟิกท์“ โชว์ศักยภาพผู้นำพัฒนาด้านไอทีครบวงจรคว้างาน depa งบกว่า 300 ล้าน หนุนรัฐสร้างบุคลากรรองรับการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

นายสุชาติ ศรีวรางกูล ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ ฟิกท์ กรุ๊ปในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลโครงการ Coding for Better Life มูลค่า 304 ล้านบาท จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depaและได้ร่วมลงนามสัญญาจ้างกับทาง depa เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการเรียนโค้ดดิ้งพัฒนาคุณภาพชีวิต (Coding for Better Life) เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ depa ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีศักยภาพ ทางด้านไอทีและดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ให้สอดรับกับการเจริญเติบโต ด้านดิจิทัลของโลกที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยมั่นใจว่าศักยภาพของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

หากได้เข้าถึงช่องทางและโอกาสในการส่งเสริมและพัฒนาตนเอง และโครงการนี้จะตอบโจทย์ทั้งด้านการสร้างโอกาสและการพัฒนาอย่างครอบคลุมที่สุด

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการเรียนโค้ดดิ้งพัฒนาคุณภาพชีวิต (Coding for Better Life) มุ่งเน้น การยกระดับทักษะด้านการคิดคำนวณอย่างเป็นระบบ (Computational Thinking) การเขียนโปรแกรม (Coding) และทักษะการเรียนรู้ด้าน STEM ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการพัฒนาความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมให้สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการใช้ Internet of Things (IoT) และมีการสนับสนุนอุปกรณ์

การเรียนการสอนโค้ดดิ้งให้แก่สถานศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสถานศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีศักยภาพ

ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ นำร่องจำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 โรงเรียน โดยทางฟิกท์ฯ จะมีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาใหม่สำหรับโครงการฯ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนโค้ดดิ้งที่ทันสมัยและมีความหลากหลาย
ทั้งภาษาและแพลตฟอร์ม ให้เหมาะกับเยาวชนในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ ฟิกท์ฯ ยังได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโค้ดดิ้งที่เผยแพร่ผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล

สำหรับเป้าหมายของโครงการดังกล่าว นายสุชาติตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถยกระดับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้มีความรู้ด้านทักษะโค้ดดิ้งและการใช้ Internet of Things (IoT) ได้มากกว่า 500,000 คน ยกระดับครูและบุคลากร
ทางการศึกษากว่า 3,000 คน รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกกว่า 20,000 คน ซึ่งตรงนี้ จะเห็นว่า depa และ ฟิกท์ฯ ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาแค่เพียงเยาวชนที่เป็นนักเรียนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงครู บุคลากรการศึกษา
แต่ยังรวมถึงผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม Boots Camp Road Show เพื่อยกระดับทักษะการเรียนโค้ดดิ้งให้กับเยาวชนด้าน Coding STEM และ IoT เน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และยกระดับครูและบุคลากรการศึกษาด้านเทคนิคการถ่ายทอดการเรียนรู้และการออกแบบกิจกรรม และจัดให้มีการแข่งขันนำเสนอผลงานนวัตกรรมดิจิทัลที่มีศักยภาพสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง โดยจะเดินสายจัดกิจกรรมจำนวนตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 8 ครั้ง มีเยาวชนและครูที่ผ่านการเข้าร่วมยกระดับทักษะ 400 คนต่อครั้ง หรือรวมทั้งหมดประมาณ 3,200 คน  
 
“หลังจากจบโครงการ 1 ปี บริษัทฯ จะทำการประเมินศักยภาพของนักเรียนว่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ มีอะไรที่เป็นรูปธรรม และมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งอาจมีนักเรียนบางคนสามารถนำวิชาที่สอนไปพัฒนาในแง่ E-Commerce
ในแง่ที่เกี่ยวกับชีวิตแล้วก่อให้เกิดรายได้ หรือก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในขอบเขตงาน (TOR) โครงการฯ ไม่ได้กำหนดไว้ แต่เราจะทำ เพราะบริษัทฯ ของเราทำในเรื่องของ Policy management ด้วย ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังโครงการ” นายสุชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสุชาติมองว่าประเทศไทยมีโอกาสในด้านธุรกิจดิจิทัลค่อนข้างมาก ซึ่งต้องให้ความสนใจเรื่องพื้นฐานการศึกษาในหลักสูตรด้านไอทีให้มากขึ้น เพราะวันนี้ความสำคัญสูงขึ้น แม้กระทั่งโครงการนี้ที่เกิดขึ้นได้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้บุคลากรมีความสามารถในเชิงดิจิทัล ส่วนศักยภาพจะเพิ่มขึ้นได้แค่ไหนนั้น ค่อนข้างวัดยาก ขึ้นอยู่กับว่าเราใส่อะไรเข้าไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าวันนี้เราใส่เข้าไปมาก ศักยภาพก็เพิ่มขึ้น อาจจะต้องรอเก็บข้อมูลอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคนไทยมีศักยภาพอยู่แล้วเพียงแต่ต้องมีโครงการประเภทนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ หลักสูตรการศึกษาต้องพัฒนาขึ้นมาให้มากขึ้น คนไทยมีความสามารถ แต่การที่จะสร้างโอกาสการเข้าถึง
ด้านเทคโนโลยีต้องมีความชัดเจนมากขึ้น

นายสุชาติ กล่าวย้ำถึงศักยภาพของบริษัทฯ ว่า บริษัท ฟิกท์ฯ เปิดดำเนินงานมาจนเข้าสู่ปีที่ 16 แล้วและมั่นใจว่าฟิกท์ฯ เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญสายงานด้านไอทีและการพัฒนาบุคลากรด้านไอที ซึ่งมีบุคคลากรที่มีความชำนาญและผ่านการดำเนินโครงการระดับประเทศมาโดยตลอด โดยบริษัทฯ ทำงานกับภาครัฐเป็นหลักแบ่งสายงานออกเป็น 3 ลักษณะ 1. งานด้านไอที 2. งาน Telecom และ 3. งาน Policy and Management หรือการบริหารจัดการนโยบาย โดยผลงานเด่น ๆ ของบริษัทด้านไอที เช่น โครงการพัฒนาระบบการเงินและการบัญชี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มูลคา 301 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังร่วมงานกับการประปาส่วนภูมิภาค มูลค่า 166 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่า 41 ล้านบาท และ
การท่าเรือแห่งประเทศไทย โครงการ Port Community System (PCS) มูลค่า 440 ล้านบาท เป็นต้นช่วงที่ผ่านมาฟิกท์ฯ ได้รับทำโครงการที่ใหญ่ขึ้น และมีมูลค่าโครงการที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งล่าสุดคือโครงการเรียนโค้ดดิ้งพัฒนาคุณภาพชีวิต (Coding for Better Life) ของ depa มูลค่า 304 ล้านบาท
ขณะที่งานด้านเทเลคอม ฟิกท์ฯ ออกแบบอินเทอร์เน็ตประชารัฐทั่วประเทศ หลังจากที่อินเทอร์เน็ตประชารัฐติดตั้งเสร็จ ฟิกท์เป็นบริษัทที่ตรวจรับทรัพท์สินที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ส่งมอบให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฟิกท์ฯ เป็นบริษัทที่จัดทำฐานข้อมูลโทรคมนาคมรายแรกของประเทศไทยให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมทั้งสำรวจอุปกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ กสทช. ใช้ในการบริหารด้านโทรคมนาคม

นอกจากนี้ ส่วนงานด้านบริหารที่เป็น Policy and Management ฟิกท์ฯ ได้ศึกษาระเบียงเศรษฐกิจให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฟิกท์ฯ จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและ
การใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นต้น