ปม ‘ไส้กรอกสิงโต’ โดนแบน ชวนเช็กอาหาร ‘ห้ามนำเข้าไทย’ เสี่ยงโทษปรับ-จำคุก!

ปม ‘ไส้กรอกสิงโต’ โดนแบน ชวนเช็กอาหาร ‘ห้ามนำเข้าไทย’ เสี่ยงโทษปรับ-จำคุก!

หลังไส้กรอกสิงโตโดนแบน! เปิดรายชื่ออาหารเข้าข่าย “สินค้าต้องจำกัด” ที่ “ห้ามนำเข้าไทย” ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก “หมู” และผลผลิตทางการเกษตร ทั้งผักและผลไม้ ที่อาจจะทำให้เกิดโรคระบาดในประเทศได้ แถมเจอโทษปรับ-จำคุก

ภาพ “ไส้กรอกสิงโต” หน้าตาคุ้นๆ ที่เห็นกันบ่อยในร้านหมาล่าชื่อดัง และกลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชียล หลังชุดปฏิบัติการทีมสุนัขดมกลิ่น (DLD-Quarantine and Inspection Canine unit) ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมปศุสัตว์ ทำการตรวจยึดไส้กรอกหมูที่นำเข้ามาจากประเทศจีนโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมโพสต์เตือนประชาชนผ่านเฟซบุ๊กว่าหากพบเห็นไส้กรอกลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที พร้อมรูปภาพและข้อความว่า 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 21.00 น. สัมภาระเที่ยวบิน HU 7939 สายการบิน ไห่หนานแอร์ไลน์ จากต้นทาง ท่าอากาศยานนานาชาติเหม่ยหลาน เมืองไหโข่ว ประเทศ จีน  พบไส้กรอกหมู จำนวน 100 แท่ง น้ำหนัก 8.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 2,000 บาท

พบเห็นสินค้า❌หน้าตาแบบนี้❌ที่ใดภายในประเทศไทย โปรดแจ้งเบาะแส🙏🙏 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคระบาดสัตว์ เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (ASF) ซึ่งยังไม่ได้ผ่านการตรวจรับรองด้านสุขอนามัยสัตว์ จากกรมปศุสัตว์ และยังไม่ได้อนุญาตให้นำเข้าประเทศไทยตาม พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

จนหลายคนตกอกตกใจ ว่า สินค้าดังกล่าว มีพิษหรือไม่ถูกต้องตามหลักอนามัยอย่างไร จึงเป็นสินค้าต้องห้ามดังกล่าว “กรุงเทพธุรกิจ” จึงจะพาไปทำความเข้าใจเรื่อง  “ของต้องจำกัด” ว่า คืออะไร แล้วมีส่วนไหนบ้างที่เราต้องรู้ โดยเฉพาะใครที่เดินทางไปต่างประเทศ ก่อนจะซื้อ และ หิ้วขึ้นเครื่อง ต้องอ่านกันให้ดีๆ 

ปม ‘ไส้กรอกสิงโต’ โดนแบน ชวนเช็กอาหาร ‘ห้ามนำเข้าไทย’ เสี่ยงโทษปรับ-จำคุก!

  • ไส้กรอกและผลิตภัณฑ์จากหมูเป็น “ของต้องจำกัด”

จากข้อมูลในเว็บไซต์กรมศุลกากร ระบุว่า “ของต้องจำกัด” หมายถึง ของบางชนิด ที่กฎหมายควบคุมการนำเข้ามาและการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรการนำเข้าและการส่งออกของต้องจำกัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องนำมาแสดงในเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากรด้วย ซึ่งระบุไว้ 8 ประเภท คือ

  • พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ต้องได้รับอนุญาตจาก กรมศิลปากร 
  • อาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด และสิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องได้รับอนุญาตจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 
  • พืชและส่วนต่างๆของพืช ต้องได้รับอนุญาตจาก กรมวิชาการเกษตร 
  • สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ ต้องได้รับอนุญาตจาก กรมปศุสัตว์
  • อาหาร ยา เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ต้องได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  • ชิ้นส่วนยานพาหนะ ต้องได้รับอนุญาตจาก กระทรวงอุตสาหกรรม
  • บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องได้รับอนุญาตจาก กรมสรรพสามิต 
  • เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม ต้องได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

 

ดังนั้น ไส้กรอก เบคอน แฮม และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ จากเนื้อหมู จึงเข้าข่ายเป็นของต้องจำกัด สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ จำเป็นต้องได้รับหนังสืออนุญาตนำเข้าจากกรมปศุสัตว์เสียก่อน อันที่จริงมาตรการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 ช่วงที่เกิดการระบาดของ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่แพร่ระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน เวียดนาม 

กรมปศุสัตว์และกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรของไทยให้ความสำคัญและวางมาตรการป้องกัน ด้วยการออกมาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เชื้อโรค ASF แพร่เข้าสู่ประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือสกัดกั้นไม่ให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูและเนื้อหมูจากประเทศเหล่านี้เข้ามาในประเทศ และต้องทำลายสินค้าเหล่านั้น เพราะถือเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไส้กรอกหมูยี่ห้อชวงฮุย (Shuanghui) หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตราสิงโต” ที่ถูกยึดได้ในครั้งนี้ ผลิตจากโรงงานที่มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งชาวเน็ตหลายคนตาดี เห็นว่ามีวางจำหน่ายอยู่ในร้านหมาล่าสายพานหลายแห่งในประเทศไทย รวมถึงในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง หากใครพบเจอสินค้าดังกล่าว ไม่ควรรับประทานและติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบ

ปม ‘ไส้กรอกสิงโต’ โดนแบน ชวนเช็กอาหาร ‘ห้ามนำเข้าไทย’ เสี่ยงโทษปรับ-จำคุก!

 

  • ผักและผลไม้มากกว่า 50 ชนิดห้ามนำเข้าไทย

ในทำนองเดียวกันมีผักและผลไม้สดมากกว่า 50 ชนิดห้ามนำเข้าไทย ได้แก่ กล้วย กาแฟ กีวี แก้วมังกร โกโก้ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เงาะ ชา เชอร์รี เชื้อแบคทีเรีย Pantoea ananatis เชื้อเห็ดกระดุม ดินอุตสาหกรรม พืชสกุลแตง ท้อ ทับทิม เนคทารีน ปาล์มน้ำมัน ฝรั่ง พริก พลับ พลัม พิทูเนีย มะเขือ มะเขือเทศ มะพร้าว มะม่วง มะละกอ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง มูลค้างคาว ยางพารา ยาสูบ ราสป์เบอร์รี ลำไย ลิ้นจี่ สตรอว์เบอร์รี สบู่ดำ สมอฝ้ายแห้ง พืชสกุลส้ม สับปะรด สาลี่ เสาวรส ไหม องุ่น อ้อย อะโวกาโด แอปเปิล แอปริคอท เพื่อป้องกันไม่ให้แมลง ศัตรูพืช และโรคระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งอาจทำลายพืชท้องถิ่นในไทยได้ 

จากเนื้อหาของ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 (แก้ไขเพิ่มเติม) ระบุว่า “มาตรา 8 (2)” บุคคลใดนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ การนำเข้าหรือนำผ่านเพื่อการค้า หรือเพื่อกิจการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมาด้วย และต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

“มาตรา 10” ระบุว่า การนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งจำกัดนั้น จะต้องนำเข้าหรือนำผ่านทางด่านตรวจพืชเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นหากใครเดินทางไปต่างประเทศแล้วเกิดติดใจรสชาติผลไม้ หรือ ไส้กรอก จนอยากซื้อกลับมาฝากเพื่อน ๆ หรือคนไทยในแล้ว ควรต้องดำเนินการขอใบอนุญาตให้เรียบร้อยก่อน โดยเฉพาะจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จุดหมายปลายทางยอดฮิตของคนไทยที่มักจะมีการสุ่มตรวจสัมภาระอยู่บ่อย ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องโดนยึดสิ่งของและเสียเงินฟรี