ผู้จัดการมรดกสำคัญอย่างไร | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

ผู้จัดการมรดกสำคัญอย่างไร | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

ในปัจจุบันนี้เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 วรรค 1 ที่บัญญัติว่าเมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

หรือตามมาตรา 1602 วรรค 1 ที่บัญญัติว่าเมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท แล้วแต่กรณีว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามความเป็นจริงหรือถึงความตายโดยผลของกฎหมายโดยการตกเป็นคนสาบสูญ

ตามมาตรา 1600 ได้กำหนดให้กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ 

ดังนั้น มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ตายด้วย เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร หุ้น กองทุน ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินที่มีผู้อื่นยืมไป หนี้ ภาระติดพันต่างๆ ทั้งการจำนองหรือค้ำประกัน

ผู้จัดการมรดกสำคัญอย่างไร | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

ในบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ของเจ้ามรดกบางอย่างนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการจดทะเบียนการได้มา มิฉะนั้น สิทธิของผู้ได้มาจะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้

ตัวอย่างเช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทะเบียนอาวุธปืน ทะเบียนรถยนต์ ทรัพย์บางอย่างเจ้าพนักงานจะไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ หากไม่มีการยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน

การยื่นคำร้องขอจัดการมรดก ต้องยื่นที่ศาลที่เจ้ามรดกหรือผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลในขณะถึงแก่ความตาย แต่หากเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตอำนาจศาล 

ศาลที่มีอำนาจในการออกคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและต้องเป็นศาลจังหวัดเท่านั้น โดยมีค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท (ไม่รวมค่าส่งสำเนาคำร้อง ค่าส่งหมายไปให้ทายาทที่เกี่ยวข้อง) โดยผู้ร้องขอจัดการมรดกกับผู้จัดการมรดกไม่จำต้องเป็นคนเดียวกัน

ในส่วนของระยะเวลาคำร้องขอจัดการมรดกจะใช้ประมาณ 2-4 เดือนกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของคดีภายในศาลแต่ละช่วงด้วย หลังจากศาลมีคำสั่งแล้วยังไม่สามารถเข้าจัดการมรดกทันทีต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดก่อน

ผู้จัดการมรดกสำคัญอย่างไร | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก (ต้นฉบับและสำเนาเอกสารอย่างละ 4 ชุด ได้แก่

  • ทะเบียนบ้านของผู้ตายและทะเบียนบ้านของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกกรณีผู้ร้องขออยู่คนละบ้านกับผู้ตาย
  • ใบมรณบัตรของผู้ตาย
  • ใบมรณบัตรของบิดามารดา กรณีบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนแล้ว
  • ทะเบียนสมรสของสามีหรือภริยาของผู้ตาย
  • ทะเบียนสมรสพร้อมด้วยทะเบียนการหย่าของสามีภริยาของผู้ตาย
  • ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ของทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
  • ใบสูติบัตรของบุตรผู้ตาย กรณีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้
  • บัตรประจำตัวข้าราชการ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องขอ
  • พินัยกรรมของผู้ตาย
  • หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดกและบัญชีเครือญาติ
  • เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือใบหุ้นต่างๆ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน
  • บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ให้ความยินยอมทุกคน
  • คำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่เคยยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกมาแล้ว แต่ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย

ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก มีหน้าที่รวบรวม จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกและทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน หากไม่เสร็จสามารถขอต่อศาลขออนุญาตขยายเวลาอีกได้ตามมาตรา 1728 ประกอบมาตรา 1729 

รวมทั้งแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในอัตราส่วนตามกฎหมายให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาลหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว เว้นแต่ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 1732

ผู้จัดการมรดกจะเป็นผู้ที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดก หรือผู้ที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ แม้ว่าอายุเกิน 60 ปีแล้วก็สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ หากไม่เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย 

กล่าวคือ ผู้จัดการมรดกไม่สามารถเป็นผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลล้มละลายตามมาตรา 1718

หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังมรดกเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนผู้จัดการมรดก

เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้ ตามมาตรา 1731

กล่าวโดยสรุป การร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกยังคงมีความสำคัญในปัจจุบันนี้ เพราะทรัพย์สินบางประเภทที่จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ก็ต่อเมื่อมีการตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น