ส.ว.สถิตย์ แนะพันธกิจแหล่งทุนธ.เอสเอ็มอี ต้องแตกต่างจากแบงค์พาณิชย์

ส.ว.สถิตย์ แนะพันธกิจแหล่งทุนธ.เอสเอ็มอี ต้องแตกต่างจากแบงค์พาณิชย์

ส.ว.สถิตย์ แนะ พันธกิจการเป็นแหล่งทุนธนาคารเอสเอ็มอี ต้องแตกต่างจากแบงค์พาณิชย์

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเอสเอ็มอี) ภายหลังจากที่วุฒิสภาได้พิจารณารายงานกิจการประจำปีงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนของธนาคารฯ ประจำปี 2564 ไปแล้วว่า ในบริบทปัจจุบัน ธนาคารเอสเอ็มอีถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

เพราะกิจการเอสเอ็มอีถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโตและยกระดับการพัฒนา ธนาคารเอสเอ็มอีจึงควรตระหนักถึงพันธกิจอันพิเศษของตน ซึ่งแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป 

“ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยถือว่าเป็นธนาคารที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าในประเทศไทยมีผู้ประกอบกิจการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการประกอบกิจการเอสเอ็มอี คือ เรื่องแหล่งเงินทุน

ที่ผ่านมาธนาคารฯ ได้ดำเนินการดูแลเอสเอ็มอีเป็นอย่างดีตลอดมา โดยไม่เพียงแต่เป็นแหล่งเงินทุนที่ดีให้กับเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งให้ความรู้ที่สำคัญกับเอสเอ็มอีด้วย ตามที่ทางธนาคารฯ ได้มีแนวทางในเรื่องความรู้คู่กับการเป็นแหล่งเงินทุน เพราะว่าการเป็นแหล่งเงินทุนแล้วไม่ได้ให้ความรู้ไปด้วย ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เอสเอ็มอีนั้นชำระหนี้คืนได้ เพราะเป้าหมายของการเป็นธนาคาร คือ เมื่อให้สินเชื่อกับลูกค้าไปแล้ว ลูกค้าต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ การที่ธนาคารฯ ได้มีแนวทางในการให้คำปรึกษาในการประกอบธุรกิจก็เท่ากับว่าสร้างความสามารถในการชำระหนี้ให้กับลูกค้าเหล่านั้น

ที่สำคัญทำให้เอสเอ็มอีสามารถเจริญเติบโตเป็นเสาหลักที่สำคัญอีกเสาหลักหนึ่งของประเทศได้

นายสถิตย์ ได้กล่าวต่อไปว่า ตนได้มีโอกาสพบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายราย ซึ่งได้ชื่นชมว่าธนาคารเอสเอ็มอีได้ให้การดูแลเป็นอย่างดีทั้งในแง่ของแหล่งเงินทุนและการให้คำปรึกษา ทั้งในเรื่องที่ธนาคารเอสเอ็มอีดำเนินการเอง และการเป็นตัวแทนของกองทุนเอสเอ็มอีในการดำเนินการบริหารจัดการให้กับกองทุนซึ่งได้ผลดีมาตลอด และควรจะได้ดำเนินการในเรื่องที่ดีเหล่านี้ต่อไป
 

นอกจากนี้ นายสถิตย์ยังได้เสนอแนะว่า “ธนาคารเอสเอ็มอี ซึ่งเรียกตัวเองว่าธนาคารเพื่อการพัฒนานั้นถูกต้องแล้ว เพราะว่าสถาบันการการเงินเฉพาะกิจทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะธนาคารเอสเอ็มอี แต่รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคาสงเคราะห์ เป็นต้น

ล้วนแล้วแต่เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาทั้งสิ้น เพราะธนาคารเหล่านี้เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นโดยมีกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เพราะฉะนั้นก็จะแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ เมื่อเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาเช่นนี้ ก็จะไปยึดมาตรฐานเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ปรัชญาของการดำรงอยู่ซึ่งธนาคารกำลังพัฒนาก็จะหมดสิ้นไป” 

พร้อมย้ำว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนานั้นต้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้ เพราะว่าหากเข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้ การดำรงอยู่ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยก็จะไม่มีนัยยะที่สำคัญ