กกต.เชียงใหม่ ชวน ปชช.แสดงความคิดเห็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง

กกต.เชียงใหม่ย้ำการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 3 รูปแบบ ยึดความคุ้นเคยและความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนเป็นหลัก พยายามให้ใกล้เคียงกับปี62มากที่สุด บนพื้นฐานกฎเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวอัญญา ณ ลำพูน รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยถึง รูปแบบการแบ่งเขตเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเชียงใหม่ว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งของจังหวัดที่เปลี่ยนจาก 9 เขตเป็น 11 เขต ทาง กกต.เชียงใหม่มองถึงสิ่งสำคัญที่สุดคือ “ประชาชน” พยายามที่จะแบ่งเขตให้มีใกล้เคียงกับการแบ่งเขตเลือกเมื่อปี 2562 ให้มากที่สุด โดยยึดความสะดวกในการเดินทางไปเลือกตั้งของประชาชนเป็นหลัก และพยายามแบ่งให้แต่ละเขตมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกันให้มากที่สุด

การที่จังหวัดเชียงใหม่เปลี่ยนเขตเลือกตั้งจาก 9 เขตเป็น 11 เขต ต้องทำการปรับและพิจารณากันใหม่ตั้งแต่ต้น การที่เพิ่มมาอีก 2 เขตนั้น ทำให้ในบางพื้นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงได้พยายามทำตามหลักเกณฑ์ ทำตามแนวทางที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของจำนวนประชากร พื้นที่ติดต่อ การคมนาคม ความคุ้นชินของประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่จะเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

สำหรับที่มีการให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้เสนอข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะได้นำเอาความคิดเห็นของประชาชนเข้ามาใช้ในการพิจารณาปรับรูปแบบของเขตเลือกตั้ง อยากจะเชิญชวนให้ประชาชน พรรคการเมือง เสนอความเห็น ข้อดีข้อเสียของแต่ละรูปแบบ มาให้ กกต.จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฏรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศออกมาจำนวน 3 รูปแบบ เพื่อ รับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน

ในรูปแบบที่ 1 แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 11 เขต ประกอบไปด้วย เขตที่1 อำเภอเมืองเชียงใหม่ในตำบล (ช้างเผือก,สันผีเสื้อ,ป่าตัน,ป่าแดด,สุเทพ,ช้างคลาน,ช้างม่อย,หายยา,พระสิงห์,ศรีภูมิ,แม่เหียะ) เขตที่2 อำเภอสารภี อำเภอเมืองเชียงใหม่ในตำบล (ฟ้าฮ่าม,หนองหอย,ท่าศาลา,หนองป่าครั่ง,วัดเกต) อำเภอสันกำแพงในตำบล (บวกค้าง,สันกลาง) เขตที่3 อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่ออน อำเภอสันกำแพงในตำบล (สันกำแพง,ร้องวัวแดง,แช่ช้าง,ออนใต้,แม่ปูคา,ห้วยทราย,ทรายมูล,ต้นเปา) เขตที่4 อำเภอสันทราย อำเภอแม่ริมในตำบล (ดอนแก้ว,เหมืองแก้ว,แม่สา) เขตที่5อำเภอแม่แตง อำเภอสะเมิง อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอแม่ริมในตำบล (ริมเหนือ,สันโป่ง,ขี้เหล็ก,สะลวง,ห้วยทราย,แม่แรม,โป่งแยง,ริมใต้)

เขตที่ 6 อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง เขตที่7 อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝางในตำบล (แม่ข่า,แม่งอน,แม่คะ,สันทราย) เขตที่8 อำเภอแม่อาย อำเภอฝางในตำบล (เวียง,แม่สูน,ม่อนปิ่น,โป่งน้ำร้อน) เขตที่9 อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง เขตที่10 อำเภอแม่วาง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่มในตำบล (ช่างเคิ่ง,ท่าผา,แม่นาจร,แม่ศึก) เขตที่11 อำเภออมก๋อย อำเภอดอยเต่า อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่มในตำบล (บ้านทับ,ปางหินฝน,กองแขก)


 

ซึ่งในการแบ่งเขตเลือกตั้งในรูปแบบที่1นี้ มีข้อดีคือมีความใกล้เคียงกับรูปแบบเดิมที่ใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทำให้ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมีความคุ้นเคย มีพื้นที่ที่ติดต่อกัน การคมนาคมในเขตเลือกตั้งสะดวก มีจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน รวมถึงมีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่5 ซึ่งมีข้อจำกัดด้วยสภาพภูมิประเทศ

ในรูปแบบที่ 2 แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 11 เขต ประกอบไปด้วย เขตที่1 อำเภอแม่เชียงใหม่ในตำบล(ช้างเผือก,สันผีเสื้อ,ป่าตัน,ป่าแดด,สุเทพ,ช้างคลาน,ช้างม่อย,หายยา,พระสิงห์,ศรีภูมิ,แม่เหียะ) เขตที่2 อำเภอสารภี อำเภอเมืองเชียงใหม่ในตำบล (ฟ้าฮ่าม,หนองหอย,ท่าศาลา,หนองป่าครั่ง,วัดเกต) อำเภอสันกำแพงในตำบล(บวกค้าง) เขตที่3 อำเภอแม่ออน อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพงในตำบล(สันกำแพง,ร้องวัวแดง,แช่ช้าง,ออนใต้,แม่ปูคา,ห้วยทราย,สันกลาง,ทรายมูล,ต้นเปา) เขตที่4 อำเภอสันทราย อำเภอแม่ริมในตำบล(ดอนแก้ว,เหมืองแก้ว) เขตที่5 อำเภอสะเมิง อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอแม่ริมในตำบล(ริมเหนือ,สันโป่ง,ขี้เหล็ก,สะลวง,ห้วยทราย,แม่แรม,โป่งแยง,ริมใต้,แม่สา) อำเภอแม่แตงในตำบล(แม่แตง,สันมหาพน,ขี้เหล็ก,สบเปิง,สันป่ายาง,ป่าแป๋,เมืองก๋าย,บ้านช้าง,กึ้ดช้าง) เขตที่6 อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอแม่แตงในตำบล (ช่อแล,อินทขิล)เขตที่7 อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝางในตำบล(แม่ข่า,แม่งอน,แม่คะ) อำเภอแม่แตงในตำบล (บ้านเป้า,แม่หอพระ)

เขตที่8 อำเภอแม่อาย อำเภอฝางในตำบล (เวียง,แม่สูน,ม่อนปิ่น,โป่งน้ำร้อน,สันทราย) เขตที่9 อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง เขตที่10 อำเภอแม่วาง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่มในตำบล(ช่างเคิ่ง,แม่นาจร,แม่ศึก) เขต11 อำเภออมก๋อย อำเภอดอยเต่า อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่มในตำบล(บ้านทับ,ปางหินผน,กองแขก,ท่าผา)

ซึ่งในการแบ่งเขตเลือกตั้งในรูปแบบที่2นี้ มีข้อดีคือ มีพื้นที่ที่ติดต่อกัน จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แต่มีข้อเสียคือ มีความแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่ใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อาจจะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่มีความคุ้นเคยในเขตเลือกตั้งที่ 7 รวมถึงในเขตเลือกตั้งที่7มีข้อจำกัดด้วยสภาพภูมิประเทศ การคมนาคมไม่สะดวก และมีความแตกต่างกันของชาติพันธุ์ รวมชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

ในรูปแบบที่ 3 แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 11 เขต ประกอบไปด้วย เขตที่1อำเภอเมืองเชียงใหม่ในตำบล (ช้างเผือก,สันผีเสื้อ,ป่าตัน,ป่าแดด,สุเทพ,ช้างคลาน,ช้างม่อย,หายยา,พระสิงห์,ศรีภูมิ,แม่เหียะ) เขตที่2 อำเภอสารภี อำเภอเมืองเชียงใหม่ในตำบล(ฟ้าฮ่าม,หนองหอย,ท่าศาลา,หนองป่าครั่ง,วัดเกต) อำเภอสันกำแพงในตำบล(บวกค้าง) เขตที่3 อำเภอแม่ออน อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพงในตำบล (สันกำแพง,ร้องวัวแดง,แช่ช้าง,ออนใต้,แม่ปูคา,ห้วยทราย,สันกลาง,ทรายมูล,ต้นเปา)

เขตที่ 4 อำเภอสันทราย อำเภอแม่ริมในตำบล(ดอนแก้ว,เหมืองแก้ว) เขตที่5 อำเภอสะเทิง อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอแม่ริมในตำบล (ริมเหนือ,สันโป่ง,ขี้เหล็ก,สะลวง,ห้วยทราย,แม่แรม,โป่งแยง,ริมใต้,แม่สา) อำเภอแม่แตงในตำบล(แม่แตง,สันมหาพน,ขี้เหล็ก,สบเปิง,สันป่ายาง,ป่าแป๋,เมืองก๋าย,บ้านช้าง,กึ้ดช้าง) เขตที่6 อำเภอเขียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอแม่แตงในตำบล(ช่อแล,อินทขิล) เขตที่7 อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝางในตำบล(แม่ข่า,แม่งอน,แม่คะ) อำเภอแม่แตงในตำบล(บ้านเป้า,แม่หอพระ) เขตที่8 อำเภอแม่อาย อำเภอฝางในตำบล(เวียง,แม่สูน,ม่อนปิ่น,โป่งน้ำร้อน,สันทราย) เขตที่9 อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง เขตที่10 อำเภอแม่วาง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่มในตำบล (ช่างเคิ่ง,ท่าผา,แม่นาจร,แม่ศึก) เขตที่11 อำเภออมก๋อย อำเภอดอยเต่า อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่มในตำบล(บ้านทับ,ปางหินฝน,กองแขก)

โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งในรูปแบบที่3 นี้ มีข้อดีคือ ในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกัน และมีพื้นที่ติดต่อกัน แต่ข้อเสียคือ ในเขตที่เลือกตั้งที่7 มีความแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่ใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อาจจะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่คุ้นเคย รวมถึงการคมนาคมในเขตเลือกตั้งไม่สะดวก มีข้อจำกัดด้วยสภาพภูมิประเทศ และมีความแตกต่างของชาติพันธุ์และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

สำหรับประชาชน หรือพรรคการเมืองใด ที่มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดเชียงใหม่ สามารถจัดส่งความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเป็นหนังสือไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ หรือส่งอีเมลไปยัง [email protected] ภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566