ความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ

ความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ

 เมื่อพฤศจิกายน 2563 ผู้เขียนนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ : Lemon Law” ที่กำหนดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจต่อผู้บริโภคในกรณีสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง

ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองและวิธีการเยียวยา มากกว่าสิทธิที่รับรองในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมุ่งหวังว่า Lemon Law (Lemon คำแสลงหมายถึงสินค้าใหม่ที่มีความชำรุดบกพร่อง) ของไทยที่มีการเสนอร่างมาตั้งแต่ปี 2557 จะเป็นกฎหมายที่คุ้มค่ากับการรอคอยของประชาชน 

    ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เยอรมัน มีการบังคับใช้กฎหมาย Lemon Law มาหลายปี ส่วนสหภาพยุโรปล่าสุด Directive 2019/771 of 20 May 2019

กำหนดให้ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปต้องมีหลักประกันขั้นต่ำตามกฎหมายในการซื้อสินค้า (Legal guarantee) ซึ่งรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตาม Directive เพื่อให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย ปลายปี 2565 ปรากฏความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมาย Lemon Law อีกครั้งโดยมีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างออกไป ทั้งยังมีความชัดเจนมากขึ้น ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายโดยสังเขป ดังนี้

 ความชำรุดบกพร่องของสินค้า เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้สินค้าที่ซื้อมาได้เต็มที่ ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า

ซึ่งซื้อขายกันทั่วไปเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่เป็นไปตามหลัก “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นพิสูจน์” ซึ่งมีความเหมาะสมกับสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน 

    แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการกระบวนการผลิตสินค้าหลายชนิด ซึ่งทำให้สินค้ามีลักษณะหรือกลไกที่ซับซ้อน ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาดังกล่าว

ดังนี้ จึงได้มีการเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ....” (ร่าง พ.ร.บ.) โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

มีสาระสำคัญว่าด้วยการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจ ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา โดยจำกัดเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมิได้ใช้กับสินค้าทุกประเภทดังเช่นร่างฉบับปี 2563 

ความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ

 ร่าง พ.ร.บ. กำหนดนิยามคำว่า “ผู้บริโภค” หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้เช่าซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจ และกำหนดเงื่อนเวลาความรับผิด

โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม 

    นอกจากนี้ยังกำหนดบทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง กล่าวคือ กรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 1  ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า

เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น หรือเป็นกรณีสินค้าเสื่อมสภาพอันเกิดจากการใช้งานตามปกติ ข้อสันนิษฐานนี้ขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นจาก 6 เดือน ซึ่งเป็นคุณแก่ผู้บริโภคมากกว่าร่างฉบับเดิม 

    นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดตั้งหรือประกอบสินค้านั้น หรือในกรณีที่ผู้บริโภคประกอบสินค้าหรือติดตั้งตามคู่มือที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้ แต่คู่มือนั้นกำหนดวิธีติดตั้งหรือประกอบสินค้าโดยไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน ซึ่งส่วนนี้เป็นการขยายขอบเขตความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจให้ชัดเจนมากขึ้น

    สำหรับข้อกำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจ ที่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง ได้แก่ ผู้บริโภคสามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า เปลี่ยนสินค้า ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญา

ความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ

การใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ และกรณีที่มีการทำข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าซึ่งแตกต่างจากที่ ร่าง พ.ร.บ. นี้กำหนดและเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคให้ถือว่าเป็นโมฆะ และผู้บริโภคยังสามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องของสินค้าโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายอื่นได้อีกด้วย

    อย่างไรก็ดี กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นของผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้ คือ ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง

ผู้บริโภคได้ดัดแปลงสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจจนเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นและสมควรเพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน

    ทั้งนี้ จะมีสัญญาบางประเภทที่ไม่อยู่ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ สัญญาการขายหรือเช่าซื้อสินค้าใช้แล้ว การขายหรือเช่าซื้อสินค้าตามสภาพและการขายทอดตลาด

เนื่องจากปกติสินค้าเหล่านี้จะมีสภาพไม่สมบูรณ์และถ้าเป็นสินค้าที่ซื้อจากการขายทอดตลาด ผู้ซื้อย่อมสามารถตรวจสอบสภาพสินค้าได้ก่อนตัดสินใจเข้าทอดตลาด กฎหมายจึงไม่คุ้มครอง

     “ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ....” ช่วยอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค โดยการกำหนดกลไก มาตรการที่สร้างความเชื่อมั่น กำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจให้ชัดเจนและเป็นระบบ

ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาให้การเยียวยาต่อผู้บริโภคอย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรต่อการประกอบธุรกิจ

จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในท้ายที่สุดกฎหมายฉบับนี้จะมีหน้าตาอย่างไร และจากวันแรกจนถึงวันประกาศใช้ผู้บริโภคจะต้องรอคอย Lemon Law นานนับสิบปีหรือไม่ โปรดติดตาม!