ปธ.สหพันธ์ปลัดอำเภอ จี้นายกฯ ตรวจสอบ "ปลัดกระทรวงมหาดไทย" ปมฉาว

ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอฯ ส่งหนังสือถึง "นายกรัฐมนตรี" ให้ตรวจสอบการทำงาน "ปลัดกระทรวงมหาดไทย" สุทธิพงษ์ จุลเจริญ กรณีสั่งการให้จังหวัดภูเก็ตถอนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Specialised Expo ส่วนประเด็นดูถูกสถาบันการศึกษา ต้องถูกลงโทษหรือไม่

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ปลัดอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำการไปรษณีย์สันทราย ให้ตรวจสอบการทำงานของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย 

หลังมีการการเผยแพร่คลิปการประชุมผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ที่มีใจความว่า ให้ฝากไปบอกผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตด้วยว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชื่อ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ขอร้องให้ถอนตัวออกจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ของจังหวัดภูเก็ต ในปี 2571 โดยจะทำหนังสือแจ้งนานาชาติให้ ว่า ภูเก็ตไม่ควรเป็นเจ้าภาพ เพราะไม่ได้ดูแลสิ่งแวดล้อม และยังไม่ได้บริหารจัดการให้คนในจังหวัดได้ตื่นตระหนกตกใจกับภาวะโลกร้อน และมีวัฒนธรรมของการเป็นคนที่จะช่วย Change for Good เกิดขึ้น

นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ปลัดอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ส่งหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอแนะนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดงาน Specialised Expo จังหวัดภูเก็ต ตามที่ปรากฏ คลิปการประชุมผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย โดยการประชุมดังกล่าว ได้มีการแจ้งของข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการจัดงาน Specialised Expo 2028 จังหวัดภูเก็ต โดยได้ขอให้จังหวัดภูเก็ต ถอนตัวออกจากการเป็นเจ้าภาพ และทำหนังสือแจ้งนานาชาติให้ ซึ่งการประชุมดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของทางราชการ ดังนั้นการขอร้องให้จังหวัดภูเก็ต ถอนตัวออกจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน Specialised Expo 2028 ของประเทศไทย จึงมีประเด็นสำคัญ ซึ่งอาจส่งให้เกิดความเสียหายผลต่อการเสนอตัวของประเทศไทยเพื่อขอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028 จังหวัดภูเก็ต

เนื่องจาก การเสนอตัวของประเทศไทย เพื่อขอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028 จังหวัดภูเก็ต เป็นการเสนอโดยมติของการประชุมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ ขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกรอบวงเงิน 4,180,000,000 บาท ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรี ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ให้สำนักงบประมาณทราบแล้ว

 

และรัฐบาลได้แจ้งความก้าวหน้าของการเสนอตัวของประเทศไทย เพื่อขอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ในทุกมิติ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นในนามรัฐบาลไทย ต่อประเทศสมาชิก 170 ประเทศ รวมถึงรัฐบาล ยังได้ขอชวนประชาชนชาวภูเก็ตและคนไทยทั่วประเทศ ร่วมส่งแรงใจสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานดังกล่าว

หากจังหวัดภูเก็ตได้ขอถอนตัว ตามที่ได้แจ้งในการประชุม ก็จะมีผลความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นหลายด้านได้แก่ ภาพลักษณ์ของประเทศ ความเชื่อมั่นของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ต่อนานาชาติจำนวน 170 ประเทศ รวมถึงความเสียหาย ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงาน ซึ่งโฆษกรัฐบาลได้เคยแจ้งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว คาดเงินจะสะพัดเกือบ ห้าหมื่นล้านบาท สร้างงานกว่าแสนอัตรา ตลอดจน ความสูญเสียของงบประมาณของประเทศ ที่ได้ใช้เกี่ยวกับการเสนอขอให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพงาน Specialised Expo 2028

ดังนั้น จึงยื่นข้อเสนอ มายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบถึงการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวว่าการขอให้จังหวัดภูเก็ตถอนตัวออกจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน Specialised Expo 2028 โดยจะทำหนังสือแจ้งนานาชาติให้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ รัฐบาล คณะรัฐมนตรี ประชาชน รวมถึงงบประมาณของประเทศ จะถือเป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจหรือไม่ หรือจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (มติคณะรัฐมนตรี) หรือไม่ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด หรือไม่ ซึ่งหากประเทศไทย ต้องยกเลิกการเสนอตัวของเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028 ความเสียหายจากกรณีดังกล่าวต้องมีผู้ใดรับผิดชอบบ้าง จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการแก้ไข ยับยั้งความเสียหาย ดังกล่าวซึ่งอาจเกิดขึ้นจากกรณีต่อไป

นอกจากนี้ ในคลิป ยังมีการดูถูก สถานศึกษา ของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ ซึ่งทางนายบุญญฤทธิ์ มองว่า ถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน เพราะข้าราชการพลเรือนต้องสุภาพ ซึ่งกรณีนี้ก็จะต้องมีการลงโทษ เพราะถือว่า ข้าราชการระดับสูงต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงประชาชน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องพิจรณาว่าจะเดินการอย่างไรต่อไป