อีกครั้ง"คราฟท์เบียร์ไทย"เสียท่า ด้วยกติกาขัดขาตัวเอง

อีกครั้ง"คราฟท์เบียร์ไทย"เสียท่า ด้วยกติกาขัดขาตัวเอง

คราฟท์เบียร์เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น หลังผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยชนะการประกวดเบียร์ในระดับนานาชาติหลายรางวัล แต่สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องน่าเสียดายของคนไทยและประเทศไทย

รางวัลที่ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยได้รับ เช่น เบียร์ศิวิไลซ์ ที่ชนะรางวัลเหรียญเงิน ในเวที World Beer Awards 2020 และ เบียร์ SPACECRAFT ที่ชนะ 6 รางวัลในเวที Asia Beer Championship 2021 

ความเหมือนกันของการชนะรางวัลทั้งสองรายการ คือ การเป็นเบียร์ไทย แต่รับรางวัลในนามเบียร์ที่ผลิตในประเทศเวียดนาม สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่สามารถร่วมยินดีกับความสำเร็จดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ เพราะเบียร์ที่ชนะการประกวดผลิตในชื่อประเทศอื่น

สาเหตุที่ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ต้องไปผลิตเบียร์ในประเทศอื่น เพราะสภาพแวดล้อมภายในประเทศไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ผลิตเบียร์หน้าใหม่ก้าวเข้ามามีที่ยืนในอุตสาหกรรมนี้ได้ เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ดำเนินธุรกิจอย่างอิสระและใช้กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมตั้งแต่การคิดสูตร หมัก บรรจุขวด และจัดจำหน่าย

แต่ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่ควบคุมการผลิตสุราเดิมตั้งอยู่บนมาตรฐานการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ภายใต้โรงงานที่เป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายไทยได้

ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่กระแสเรียกร้องให้มีการยกร่างกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า (ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสุรารายย่อยสามารถมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้ได้

จนในท้ายที่สุดความพยายามดังกล่าวก็ไปถึงรัฐบาล และนำมาสู่การแก้ไขกฎกระทรวงผลิตสุราฉบับใหม่ ที่มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิตสุรามากขึ้น

กฎกระทรวงฉบับนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายด้านให้กับผู้ผลิตสุรา สำหรับ “คราฟท์เบียร์” กฎกระทรวงฉบับใหม่มีการผ่อนคลายเงื่อนไขเดิมหลายอย่าง อาทิ การไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสำหรับผู้ขอใบอนุญาตผลิต และการไม่กำหนดกำลังการผลิตต่อปี

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว กฎหมายใหม่ได้สร้างล็อคใหม่ที่อาจจะยับยั้งการเติบโตของคราฟท์เบียร์ไทยได้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตต้องมีมาตรฐานและได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมสรรพสามิต

ซึ่งเงื่อนไขการผลิตดังกล่าวยังไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ออกมารองรับ ความน่ากังวลที่อาจจะเกิดขึ้นคือมาตรฐานดังกล่าวอาจจะสูงเกินกว่าที่ผู้ผลิตรายย่อยจะรับได้

ดังนั้นในกระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์ กรมสรรพสามิตควรจะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ผลิตโดยเฉพาะรายย่อยเพื่อให้ได้รับข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป 

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังได้กำหนดให้ ผู้ผลิตผลิตเบียร์บรรจุขวด/กระป๋อง จะต้องติดตั้งระบบพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษี ซึ่งอาจสร้างต้นทุนเพิ่มมากขึ้นและอาจเกินศักยภาพของผู้ผลิตรายย่อย

โดยหนทางที่จะไม่ก่อภาระต้นทุนแก่ผู้ผลิตรายย่อยมากเกินไปคือ การทำให้กฎเกณฑ์นี้มีความชัดเจน เช่น ผู้ผลิตสามารถใช้วิธีการอื่นแทนการติดตั้งระบบพิมพ์ อาทิ การให้พนักงานติดเครื่องหมายการเสียภาษีได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังยอมให้ผู้ผลิต ผลิตเบียร์เพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือนได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ก้าวหน้า แต่เมื่อดูรายละเอียดของกฎหมาย กลับระบุว่าผู้ที่จะผลิตเบียร์เพื่อบริโภคเองต้องได้รับอนุญาตต่ออธิบดีและเสียค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย  และกฎหมายยังห้ามไม่ให้ผู้ได้รับอนุญาตผลิตเบียร์เพื่อบริโภคเองผลิตเกินปีละ 200 ลิตรและห้ามแจกจ่ายให้กับบุคคลอื่น 

การกำหนดเงื่อนไขนี้กระทบต่อธุรกิจคราฟท์เบียร์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะธุรกิจคราฟท์เบียร์นั้นเริ่มต้นขึ้นจากผู้ผลิตมีความพยายามรังสรรค์คราฟท์เบียร์ ที่ต้องผ่านการทดลองและปรับปรุงสูตรด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในระหว่างนี้ผู้ผลิตเบียร์อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายทั้งที่ยังไม่ได้ค้าขายทำกำไร หรือควรจะต้องขออนุญาต

ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์เพื่อบริโภคเองต้องขออนุญาต และถูกควบคุมเสมือนกับเป็นผู้ผลิตในเชิงค้าขาย ก็อาจจะกลายเป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์และผู้ที่สนใจศึกษาและพัฒนาเบียร์ 

ประเด็นนี้สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย แห่งเพจสุราไทย เพจวิชาการเกี่ยวกับการส่งเสริมการผลิตสุราที่มีคุณภาพ ได้ให้ความเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตเบียร์เพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือนนี้ สร้างความยุ่งยากเกินไปสำหรับการผลิตเบียร์บริโภคที่บ้าน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่น

การผลิตเบียร์ปีละไม่เกิน 200 ลิตร นั้นไม่เพียงพอต่อการทดลองทำและพัฒนาสูตรเบียร์

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ พบว่ากฎหมายของสิงคโปร์ไม่ได้กำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์เพื่อบริโภคภายในครัวเรือนจะต้องขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐแบบประเทศไทย

รวมถึงกฎหมายยังกำหนดให้คนที่ต้องการผลิตสามารถผลิตเบียร์ได้ถึง 30 ลิตรต่อเดือน/คน หรือ 360 ลิตรต่อปี/คน ซึ่งมากกว่าที่ประเทศไทยอนุญาตให้ผลิต และไม่ได้ห้ามแจกจ่ายเบียร์ที่ผลิตจากครัวเรือนแต่อย่างใด

ท้ายที่สุดเป้าหมายของการปลดล็อคกฎหมายเพื่อการผลิตคราฟท์เบียร์คือ การต้องการให้มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นและมีการพัฒนาคุณภาพของเบียร์ในประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่เงื่อนไขหลายอย่างในกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ผลิตสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตคราฟท์เบียร์ได้อย่างเต็มที่ 

หากกฎหมายยังคอยขัดแข้งขัดขาผู้ผลิตอย่างนี้ต่อไป คนไทยและประเทศย่อมสูญเสียโอกาส ที่จะพัฒนาธุรกิจเบียร์ไทยให้สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ เพราะคนไทยผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ จะหนีไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านตามเดิม และประเทศไทยจะเสียท่า ด้วยกติกาขัดแข่งขัดขาตัวเองอีกครั้ง.