‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้

“สเปซคราฟท์” (Spacecraft) หรือ “ยานอวกาศ” คือชื่อของแบรนด์คราฟท์เบียร์ไทย คนก่อตั้งคงคิดว่าตัวเองเป็นนักบินอวกาศที่ออกไปสำรวจนอกโลก แล้วนำสิ่งใหม่ ๆ มาให้ชาวโลกได้ชื่นชม แต่จริง ๆ หนทางสู่คราฟท์เบียร์นั้นไม่สวยหรู หากเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับ “ยานอวกาศ” 2 ข่าว ข่าวแรกทีมงานภาพยนตร์รัสเซียเรื่อง The Challenge เดินทางกลับสู่โลกหลังใช้เวลา 12 วัน ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศเป็นเรื่องแรกของโลก

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้     ถ่ายหนังในอวกาศเรื่องแรก

อีกข่าวคือ จีนได้ส่งนักบินอวกาศ 3 คน รวมถึงนักบินอวกาศหญิง 1 คน ด้วยยาน เสิ่นโจว – 13 (Shenzhou – 13) แปลว่า “เรือศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นไปยังสถานีอวกาศเทียนเหอ ซึ่งเป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศจีน จากนี้ไปพวกเขาจะทำภารกิจบนสถานีอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน

จีนซึ่งถูกห้ามโดยกฎหมายของสหรัฐอเมริกา จากการทำงานร่วมกับนาซา (NASA) และการขยายสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้ใช้เวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสถานีอวกาศของตนเอง เนื่องจากสถานีอวกาศนานาชาติของนาซ่ากำลังจะปลดระวางในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถานีอวกาศของจีนจะกลายเป็นสถานีเดียวในวงโคจรของโลก จีนยังมีภารกิจในเรื่องของอวกาศอีกมากมาย รอติดตามกันต่อไป 

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้        เทียนเหอ โมดูลหลักสถานีอวกาศของจีน

ดูข่าวนี้แล้วทำให้ผมนึกถึง คราฟท์เบียร์ (Craft Beer) แบรนด์ สเปซคราฟท์ (Spacecraft) ฝีมือคนไทย ที่ก่อตั้งมาราวปี 2014-2015 เป็นในช่วงที่คราฟท์เบียร์ไทยกำลังผลิดอกออกผล แต่ก็มาโดนคุมกำเนิดโดยกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทำคราฟท์เบียร์ เป็นวิบากกรรมที่สุดแสนจะเจ็บปวดตราบจนทุกวันนี้ และเชื่อว่ายากที่หลุดพ้น ตราบใดที่กฎหมายไม่เปลี่ยนแปลง

ในช่วง 2-3 ปี ก่อนที่เชื้อโควิด-19 จะระบาดนั้นเมืองไทยมี คราฟท์เบียร์ อยู่กว่า 70-80 แบรนด์ ทั้งที่เป็นแบบขวดและแบบถังสด (Draft) ซึ่งแต่ละแบรนด์ต้องต่อสู้กับหลาย ๆ อย่าง เช่น ต้นทุน ช่องทางในการขาย ราคาขาย และเรื่องของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างหลังนี้ถือว่าหนักสุด ทำให้หลายแบรนด์ต้องไปผลิตในต่างประเทศ แล้วส่งกลับมาขายในประเทศไทย ทำให้เสียเปรียบคราฟท์เบียร์ของต่างประเทศโดยตรง

 

สาเหตุที่ต้องไปจดทะเบียนในต่างประเทศ เพราะ กฎกระทรวง ปี 2560 ระบุว่าการอนุญาตผลิตสุรา จะต้อง

1    การขออนุญาตจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

  ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด

3    ต้องสามารถผลิตได้อย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี และมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้    นักบินและยานอวกาศของจีน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยที่ต้นทุนไม่สูง แต่มีความตั้งใจสูง ต้องไปผลิตในต่างประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศ เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม เกาหลีใต้ ฯลฯ ทำให้ที่ผ่านมาหลายคนสงสัยว่ารสชาติจะต่างกันหรือไม่ ? อย่างไร ? เรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจ้าของเบียร์ที่จะกำหนดคอนเซปต์ คาแรคเตอร์ รสชาติ ฯลฯ ของเบียร์ โรงงานมีหน้าที่ผลิตให้ได้ตามสั่ง

ดังนั้นเราจะเห็นคราฟท์เบียร์ไทยหลายแบรนด์นอกจากจะมีชื่อที่แปลก ๆ แล้ว ยังมีอะไรหลายอย่างที่ผิดแผกแตกต่างไปจากที่เคยดื่มจากเบียร์ของโรงงานอุตสาหกรรม เพราะ คราฟท์เบียร์ เป็น ศิลปะ อย่างหนึ่ง และน่าจะเป็นศิลปะแขนงเดียวที่ถูกกฎหมายกีดกันในเมืองไทย !

ที่สำคัญก็คือ มีคราฟท์เบียร์ไทยหลายแบรนด์ สามารถคว้ารางวัลใหญ่ ๆ ในระดับโลก แต่ในนามของประเทศที่ผลิต ไม่ใช่ประเทศไทย 

สำหรับ Spacecraft นั้นผลิตในประเทศเวียดนาม ภายใต้การควบคุมทุกหยาดหยดของเจ้าของ ปัจจุบันผลิตออกมาหลายรุ่น และเท่าที่ดูจากคอนเซปต์ของเขาแล้ว ถ้าโควิด-19 ไม่ระบาดเสียก่อน เชื่อว่าน่าจะมีอะไรที่ชวนให้ค้นหามากกว่านี้ โดยรุ่นที่ผมได้ชิมมีดังนี้

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้    ฉลากสเปซคราฟท์ ดิสคัฟเวอรี

สเปซคราฟท์ ดิสคัฟเวอรี (Spacecraft  Discovery) ฉลากสีชมพูน่ารักมีรูปยานอวกาศ Discovery กำลังพุ่งทะยานสู่อวกาศ เป็นวีทเบียร์ (Wheat Beer) ที่ทำจากข้าวสาลี (Wheat) เป็นวัตถุดิบหลัก ปกติวีทเบียร์เป็นเบียร์สายยุโรป พวกเบลเยี่ยม เยอรมนี ประมาณนั้น แต่ตัวนี้เป็นสไตล์อเมริกันคือเพิ่มฮอปส์เข้าไป แต่ไม่ถึงกับขมมาก กลับมีเสน่ห์ไปอีกอารมณ์หนึ่ง หอมฮอปส์กรุ่น ๆ พร้อมด้วยฟรุตตี้ เช่น ซีทรัส เลมอน เสาวรส  ดอกไม้ แอลกอฮอล์ 5.2%

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้    Event Hosizon

สเปซคราฟท์ อีเวนท์ ฮอไรซัน (Spacecraft  Event Horizon) ฉลากออกแบบเป็นรูประบบจักรวาลที่เคร่งขรึมซับซ้อน ชวนให้ค้นหา เป็น สเตาท์เบียร์ (Stout) ผสมผสานจากมอลต์ 6 ชนิด และฮอปส์ 1 สายพันธุ์ หอมกลิ่นกาแฟคั่ว ช็อกโกแล็ต ผงโกโก้ คาราเมล ทอฟฟี่กาแฟ ฮอปส์กรุ่น ๆ ควันไฟ กรุ่น ๆ มีแอสิดดื่มแล้วสดชื่น เป็นสเตาท์ที่ดื่มง่าย ๆ สบาย ๆ บางคนที่คิดว่าสเตาท์ต้องหนักและขมนั้น ต้องมาลองตัวนี้ สาว ๆ ก็ดื่มได้  แอลกอฮอล์ 5.5% ตัวนี้ไม่ธรรมดา ไปได้เหรียญทองแดงจาก Australian International Beer Awards มาแล้ว

  ‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้     Galaxy Express

สเปซคราฟท์ กาแล็กซี เอ็กซ์เพรส (Spacecraft Galaxy Express) หลายคนที่เป็นแฟนแอนิเมะชื่อดังของญี่ปุ่น Galaxy Express 999 หรือ รถด่วนอวกาศ 999 คงจะคุ้น ๆ นั่นแหละใช่เลย เป็นแรงบันดาลใจของรุ่นนี้ ซึ่งเป็นไอพีเอ (IPA = India Pale Ale) ใช้ฮอปส์ 3 สายพันธุ์และมอลต์ 3 ชนิด แม้จะใช้ฮอปส์ถึง 3 สายพันธุ์แต่สามารถทำให้รสชาติกลมกล่อมลงตัวทั้งกลิ่น บอดี้ และรสชาติ หอมกลิ่นซีทรัส เลมอน ส้มจีน เสาวรส ฝรั่งสุก เฮิร์บสด ๆ กลีบกุหลาบแห้ง คาราเมล ยีสต์หอมกรุ่น แอลกอฮอล์ 5.5 % เป็น IPA ที่สามารถดื่มได้ทุกวัน

ทำความรู้จักกับคราฟท์เบียร์ :ในประเทศ “โลกเก่า” (Old World) มีการทำคราฟท์เบียร์มาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์คำว่า Craft Beer จุดกำเนิดอยู่ในยุโรป เช่น เบลเยียม เยอรมนี อังกฤษ สาธารณรัฐเชก ฯลฯ แต่ละประเทศมีโรงทำเบียร์รายย่อยเป็นพัน ๆ โรง มีทั้งทำเองในบ้าน (Home Brew) ในผับ(Brewpub) รวมทั้งในวัดโดยนักบวช เบียร์หลายยี่ห้อมีชื่อของพระเป็นยี่ห้อ

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้      ข้าวมอลต์ วัตถุดิบหลักในการผลิตเบียร์

กลุ่ม “โลกเก่า” มีเบลเยียมเป็นแกนนำและได้รับการยกย่องว่ามีนวัตกรรมที่หลากหลายและหวือหวาที่สุด ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องใช้วัตถุดิบแค่ 4 ชนิดคือ น้ำ มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์ เหมือนประเทศอื่น ๆ ผู้ผลิตจึงสามารถใส่วัตถุดิบที่หลากหลาย จึงไม่แปลกใจที่มีเบียร์ใส่ช็อกโกแลต กาแฟ ผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ ขณะที่สหรัฐอเมริกาถือเป็นหัวหอกของคราฟท์เบียร์

ส่วนกลุ่ม “โลกใหม่” หลังจากปี 1978 รัฐบาลผ่านกฎหมายรับรองการผลิตเบียร์เพื่อบริโภคในชุมชนเล็ก ๆ การผลิตเบียร์ท้องถิ่นทั่วประเทศจึงเบ่งบานหลังจากทำกินเฉพาะในครัวเรือน ในปี 1978 นั้นมีโรงผลิตเบียร์แค่ 42 แห่ง และสหรัฐนี่เองคือผู้กำหนดนิยมของคำว่า “คราฟท์เบียร์” โดย Brewers Association จากการที่สหรัฐมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีความหลากหลายทางธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ ทำให้ ปัจจุบันในสหรัฐมีผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ ทั้งโรงเบียร์และส่วนตัว มีผู้อยู่แวดวงทำคราฟท์เบียร์กว่า 100,000 ราย

Brewers Association ของสหรัฐให้คำจำกัดความของ Craft Beer ไว้ 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1.ต้องเป็นโรงเบียร์ที่เป็นอิสระจากผู้ผลิตรายใหญ่  2.ผลผลิตไม่เกิน 6 ล้านบาร์เรลต่อปีและ 3.ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด เช่น มอลต์ บาร์เลย์ ห้ามใส่วัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน แต่ถ้าจะใส่ต้องใส่เพื่อให้รสชาติดีขึ้นเท่านั้น

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้    ฮอปส์ หนึ่งในวัตถุดิบหลักในการผลิตเบียร์

ในประเทศไทยคราฟท์เบียร์ เริ่มรู้จักกันเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว จากคราฟท์เบียร์เป็นขวดที่ถูกสั่งเข้ามาขาย หลังจากนั้นจึงมีการต้มเบียร์ดื่มและแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มคนรักเบียร์ ที่ถือว่าจุดประกายคือ Chit Beer ที่เกาะเกร็ด ซึ่งเปิดตัว ในปี 2512 หลังจากนั้น 2 – 3 ปีที่ผ่านมาคราฟท์เบียร์ไทยจึงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แม้ความหมายของคราฟท์เบียร์ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักก็ตาม

ในเพจ Beercyclopedia สารานุกรมของคนชอบเบียร์ ระบุชัดเจนว่า หากจะเรียกตัวเองเป็นคราฟท์เบียร์ ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ

1   ผลิตในจำนวนน้อย และมีโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งผู้ผลิตสามารถควบคุมและใส่ใจใน ขั้นตอนการผลิตได้ทั้งระบบ

2    เป็นอิสระ (Independent) ผู้ก่อตั้งจะต้องถือหุ้น เกินกว่า 75% เพื่อให้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจ

3.  การไม่ลืมวัฒนธรรมและวิธีการดั้งเดิม (Traditional) ของความเป็นเบียร์ที่ต้องใช้ส่วนผสมจริงคือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ ไม่ใช่ใส่ส่วนผสมอื่นแทนส่วนผสมหลักเพื่อลดต้นทุน

‘สเปซคราฟท์’ คราฟท์เบียร์ไทย เส้นทางที่ต้องสู้    Spacecraft รุ่นต่าง ๆ

ปี 2559 มีการประเมินว่ามูลค่าทางการตลาดของคราฟท์เบียร์ไทย อยู่ที่ประมาณ 35 ล้านบาท จากทั้งหมดประมาณ 60 ยี่ห้อ ทั้งชนิดที่ถูกและผิดกฎหมาย ในจำนวนนี้ 8 ยี่ห้อผู้ผลิตได้หันไปผลิตในต่างประเทศแล้ว ก่อนที่จะนำเข้ามาโดยเสียภาษี ซึ่งในปี 2560 มีมูลค่ารวมสูงถึง 200 ล้านบาท

ปี 2562 เป็นต้นมาหลังจากโควิด-19 ระบาด มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยประสบปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบถังถือว่าเป็นศูนย์ ขณะที่แบบขวดแม้จะมีช่องทางระบายแต่ก็สาหัส ที่อยู่ได้คงเป็นหัวใจที่สู้ และหวังอย่างยิ่งว่าฟ้าใหม่ที่สดใสจะกลับมาในอีกไม่นานนี้ นอกจากกำลังใจแล้ว ควรสนับสนุนพวกเขา

ท่านที่สนใจ  Spacecraft  สอบถามที่บริษัท กราวด์ คอนโทรล จำกัด โทร.09 7992 4944