จาก “สนามม้านางเลิ้ง” สู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ พระราชประสงค์ในหลวงร.10 ลดปัญหาผลกระทบจากการพนัน

จาก “สนามม้านางเลิ้ง” สู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ พระราชประสงค์ในหลวงร.10 ลดปัญหาผลกระทบจากการพนัน

ทำความรู้จัก “อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9” สวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางกรุง ที่ปรับปรุงมาจาก “สนามม้านางเลิ้ง” ตามพระราชประสงค์ของในหลวง เพื่อแก้ปัญหาการเล่นพนัน

13 ต.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เวลา 17.00 น. โดยเปิดให้ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จได้

สำหรับอุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นสวนสาธารณะขนาด 297 ไร่ พร้อมเป็น แหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงผ่านองค์ความรู้เรื่องป่า และน้ำ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวน

สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

 

พันเอกวันชนะ สวัสดี หรือ “ผู้พันเบิร์ด” จิตอาสา 904 เปิดเผยถึงความเป็นมาในการใช้ที่ดินสนามม้านางเลิ้งและแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่และเป็นพื้นที่จอดรถของโรงพยาบาลรามาธิบดี

โดยผู้พันเบิร์ดเล่าเท้าความถึง “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สนามม้านางเลิ้ง” นั้นถูกสร้างขึ้นมาตั้งสมัย ร.6 ให้บริการแข่งม้าสำหรับคนไทยและนำรายได้มาใช้บำรุงพันธุ์ม้าจากประเทศออสเตรเลียและอังกฤษ พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนประวัติม้า เจ้าของและผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีการให้บริการอื่น ๆ เช่น สนามเทนนิส, สระว่ายน้ำ, ห้องอาหาร จัดเลี้ยงต่าง ๆ เมื่อวันเวลาผ่านไป บริบทสังคมเปลี่ยนวัตถุประสงค์เหล่านี้ก็เปลี่ยนและลดลง มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง มีผู้มีอิทธิพลในการแข่งขัน สามารถกำหนดผลแพ้ชนะได้

เมื่อหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อปี พ.ศ. 2561 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าการพนันมีผลเสียเกิดขึ้นมากในวงกว้าง และตามมาซึ่งปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด สุดท้ายก็กระทบกับครอบครัว ครอบครัวแตกแยก จึงเป็นที่มาและเหตุผลที่ปรับปรุงครั้งนี้

“นับเป็นพระมหากรุณาที่คุณเป็นล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทยที่สถาบันไม่เคยละทิ้งหรือแบ่งแยกประชาชนเลย พระองค์ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กน้อยที่ส่งผลกว้างใหญ่ เช่น สิ่งแวดล้อม การกระจายอำนาจจากส่วนกลาง สถาบันครอบครัว การศึกษา การสาธารณสุข วันนี้เราได้เห็นหลายสิ่งพัฒนาขึ้นจากการเติมเต็มของสถาบัน ต่อไปภายภาคหน้าแน่นอนว่าเราจะยังได้เห็นอีกหลายสิ่งที่พัฒนาสถาพรต่อไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ว่า พื้นที่แห่งนี้ยังมีประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่จะช่วยบรรเทามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ดูดซับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยต้นไม้ใหญ่ราว 4,500 ต้น จัดวางคล้ายครึ่งป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ เช่น การปลูกพืชกรองฝุ่น การปลูกไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายากและพืชบำบัดน้ำ สร้างระบบนิเวศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 

พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย การเพิ่มพื้นที่การใช้งานด้านนันทนาการ และกีฬาประเภทต่าง ๆ

วรรณพร พรประภา หนึ่งในคณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้คณะอนุกรรมการอำนวยการก่อสร้างโครงการ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดเผยว่า 

“กีฬาและนันทนาการ เป็นหนึ่งในพระบรมราโชบายที่ให้สถานที่แห่งนี้ มอบความสุขแก่ประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยการพักผ่อนและออกกำลังกาย การออกแบบในส่วนนี้ จึงคำนึงถึงคนในอนาคตด้วย เพราะว่าสวนแห่งนี้ไม่ได้อยู่แค่ ณ วันนี้ ซึ่งพื้นที่สำหรับกีฬา มีกีฬาทั่วไปที่ประชาชนนิยมในขณะนี้ โดยออกแบบให้มีมาตรฐาน เช่น เส้นทางจักรยานที่ไม่มีจุดตัด 3.5 กม. เส้นทางวิ่ง 3.5 กม.”

นอกจากนี้ ประชาชนสามารถมาใช้งานในพื้นที่ได้ทุกเพศทุกวัย เช่น สเกตพาร์ค บาลานซ์ไบค์ บาสเก็ตบอล หรือกีฬาสำหรับคนมีอายุ เช่น ชี่กง โยคะ ซึ่งโปรแกรมยังพัฒนาส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถปรับได้ตามความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

ส่วนระบบความปลอดภัยภายในสวนแห่งนี้ จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเหลือประชาชน หากเกิดออกกำลังกายแล้วมีปัญหาด้านสุขภาพ ระบบจะแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับความรื่นรมย์ในการใช้งาน

ในส่วนของ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นั้นมีขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โอบล้อมด้วยป่าผสมผสาน มีช่องเปิดเพื่อเป็นร่องลมและเป็นแกนนำสายตา 9 แกน สามารถมองเห็นได้โดยรอบพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของสวนแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้ประชาชนระลึกถึงพระองค์

“พระบรมราโชบายพระราชทานข้อหนึ่ง คือเมื่อประชาชนเข้ามาในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น การเรียนรู้แนวพระราชดำริ บ่อน้ำเลข 9 สะพานเลข 9 สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบางกง ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปนราธิวาสในปี 2524 ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยเสมอมา” วรรณพรกล่าว

ขณะที่ผู้พันเบิร์ดระบุว่า “การบวงสรวง พระบรมราชานุสาวรีย์ ในหลวง ร.9 ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ของชาติไทย มีการลงจดหมายเหตุไว้ เช่นเดียวกับ ตอนสร้างพระบรมรูปทรงม้าตอนนี้ผมเกิดไม่ทัน แต่พระราชพิธีครั้งนี้ก็จะเหมือนกัน ดังนั้นพวกเราคนไทยในปัจจุบันแม้จะ เกิดไม่ทันในสมัยนั้นแต่ในสมัยนี้เราก็ได้เห็นพระราชพิธีเหมือนกัน”

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายและเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ในปี 2567