9 ต.ค. “วันวิ่งควาย” ทำไมถึงมีแค่หนึ่งเดียวในโลก? 

9 ต.ค. “วันวิ่งควาย” ทำไมถึงมีแค่หนึ่งเดียวในโลก? 

เด็กรุ่นนี้รู้จักไหม? “วันวิ่งควาย” ประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรีที่จัดมายาวนานถึง 151 ปี จนกลายเป็นของดีที่อยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด

ประเพณีวิ่งควาย” เป็นประเพณีของจังหวัดชลบุรี ที่จัดขึ้นในทุกๆ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งป็นช่วงที่ทำนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวนาจะนำผ้าแพร ลูกปัด และสีมาตกแต่งควายของตน เพื่อเป็นการทำขวัญและเป็นการแสดงความขอบคุณ “น้องควาย” ที่ทำงานหนักให้แก่ชาวนา และถือเป็นการให้ควายได้พักผ่อนหลังจากลุยไถนามาตลอดทั้งปี 

อีกทั้งยังเป็นความเชื่อแต่โบราณของชาวท้องที่ว่า การวิ่งควายคือการแก้เคล็ด เพราะถ้าไม่จัดงานปีนั้นวัวควายจะเป็นโรคระบาดตายมากผิดปกติ นอกจากนี้ยังเป็นการแก้บนของเจ้าของควายที่บนบานให้ควายของตนหายป่วยอีกด้วย

นอกจากนี้ การกำหนดให้มีวันวิ่งควายในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ดังกล่าว ก็เนื่องจากเป็น “วันโกน” ก่อนวันออกพรรษา หลังจากตกแต่งควายเสร็จแล้ว จะนำมาเทียมเกวียนบรรทุกกล้วย มะพร้าว ใบตอง และผลิตผลอื่น ๆ มาขายคนเมือง ขากลับก็แวะซื้อข้าวของไปทำบุญเลี้ยงพระในวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ และวันออกพรรษา แรม 1  ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็นทำบุญใหญ่ของชาวพุทธด้วย

ขณะเดียวกันมีอีกความเชื่อหนึ่งที่ระบุถึงที่มาของประเพณีวิ่งควายว่า ชาวบ้านตกแต่งควายเนื่องจากขนกัณฑ์เทศน์มาไว้ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เพื่อรอฟังเทศน์มหาชาติ ที่วัดใหญ่อินทาราม วัดสำคัญของจังหวัดชลบุรีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งสมัยก่อนที่วัดใหญ่ฯ จะมีบ่อน้ำ เมื่อชาวบ้านต่างพาควายของตนลงอาบน้ำ ก็เกิดการท้าทายกันว่าควายของใครมีความสมบูรณ์มากกว่ากัน จึงเกิดเป็นการประชันแข่งขันควายขึ้นมานั่นเอง

จากหลักฐานที่ปรากฏในพระราชกิจรายวัน กรมราชเลขาธิการได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี โดยพระยาวิเศษฤาไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้จัดงานวิ่งควายถวายทอดพระเนตร ณ หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2455 นี่จึงเป็นหลักฐานว่าประเพณีวิ่งควายมีมาอย่างยาวนาน และถือว่าเป็นของดีเมืองชลบุรีอันเป็นเอกลักษณ์ จนถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดชลบุรี ดังที่ว่า

“ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย”

ปัจจุบันเทศบาลเมืองชลบุรียังคงสืบสานประเพณีนี้ไว้ โดยมีการจัดงานวันวิ่งควายอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้เป็นครั้งที่ 151 ซึ่งไม่ได้เพียงแต่มีการวิ่งควายเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นงานมหกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยในปีนี้เริ่มจัดงานตั้งแต่วันที่ 1-9 ต.ค. เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ของชาวจังหวัดชลบุรี แทบไม่แตกต่างจากงานประจำปีที่จัดช่วงวันสงกรานต์ มีทั้งการออกร้านของดีประจำจังหวัด เครื่องเล่นต่าง ๆ การละเล่นพื้นบ้าน ตลอดจนเวทีการแสดงจากศิลปินที่มีชื่อเสียง 

 

ไฮไลต์ของงานในครั้งนี้อยู่ที่วันที่ 9 ต.ค. ซึ่งเป็นวันวิ่งควาย ชาวนาจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงามด้วยผ้าแพร ไหมพรม กระดาษ ดอกไม้สีต่าง ๆ ที่มีสีสันสดใส ทั้งสีแดง สีเหลือง สีเขียว โดยมักจะตกแต่งที่เขา หน้าผาก คอ ข้อเท้า และเชือกสนตะพาย แม้กระทั่งเจ้าของควายเองก็แต่งกายดูแปลกตา เป็นที่สะดุดตาของผู้พบเห็นเช่นกัน

ในช่วงเช้าจะมีพิธีแห่ขบวนควายที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดชลบุรีเข้าร่วมเดินขบวนแห่อีกด้วย โดยขบวนแห่จะเคลื่อนขบวนไปโดยรอบเขตเมืองเก่า ก่อนที่จะมาจบที่บริเวณลานหน้าศาลากลางประจำจังหวัดชลบุรี จุดแข่งขันการวิ่งควาย

การแข่งขันวิ่งควายจะเริ่มจัดขึ้นในช่วงบ่าย มีการกำหนดจุดเริ่มต้นและเส้นชัยที่ชัดเจน โดยควายที่เข้าร่วมแข่งขันนั้นจะต้องมีเจ้าของขึ้นขี่เป็นผู้ควบคุมอยู่บนหลังควายด้วย กติกาก็ง่าย ๆ ควายตัวใดถึงเส้นชัยก่อนก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ โดยแบ่งออกเป็น 5 รุ่น ตามลักษณะฟันน้ำนมและฟันแท้ของควายคือ คือ 1. รุ่นซูเปอร์จิ๋ว 2. รุ่นจิ๋วพิเศษ 3. รุ่นจิ๋วเล็ก 4. รุ่นจิ๋วใหญ่ และ 5. รุ่นใหญ่

ความสนุกของการวิ่งควายคือ ควายไม่ใช่สัตว์ที่ถูกฝึกมาเพื่อวิ่งแข่งขัน ดังนั้นผู้ชมต่างต้องส่งแรงใจช่วยให้ควายเข้าเส้นชัย ซึ่งมีหลายครั้งหลายคราที่เจ้าของทรงตัวไม่อยู่จนตกหลังควาย สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชม

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดควายสุขภาพดี ตลอดจนประกวดการตกแต่งควาย ซึ่งมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ ประเภทสวยงาม และประเภทขบขัน ส่วนในเวลากลางคืนนั้นจะมีการประกวดสาวงามในชื่อ “น้องนางบ้านนา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สาวงามจากทั่วประเทศจะเข้าร่วมประกวด โดยเกณฑ์คัดเลือกผู้ชนะนั้น คณะกรรมการจะพิจารณาจากการเดิน บุคลิกภาพดี รูปร่างสวย หุ่นดี กิริยามารยาทเรียบร้อย และมีไหวพริบในการตอบคำถาม 

วันวิ่งควาย” จึงเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่สะท้อนถึงภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และความเชื่อของชาวชลบุรีได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวก็เป็นกุศโลบายให้ควายได้ออกกำลังกาย เพื่อที่จะได้มีสุขภาพดีพร้อมสำหรับการทำนาในฤดูกาลต่อไป อีกทั้งการจัดงานต่อเนื่องเช่นนี้ ยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดอีกด้วย


ที่มา: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี