ไข "ความลับควาย" กินแต่หญ้า แล้วทำไมกล้ามถึงโต แข็งแรง

ไข "ความลับควาย" กินแต่หญ้า แล้วทำไมกล้ามถึงโต แข็งแรง

เมื่อพูดถึงนักกล้ามตัวโตก็จะนึกถึงอกไก่ เวย์โปรตีน รวมไปถึงตารางการฝึกซ้อมสุดโหด แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมควายถึงมีกล้ามเนื้อบึกบึนและทรงพลังได้เช่นกัน ทั้งที่มันเองก็กินแต่หญ้าและไม่ได้เข้ายิม มาเปิดเผยความลับของควายไปพร้อมๆกัน

สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่มีหลากหลายทั้งในด้านกายภาพ และพันธุกรรม ด้วยความหลากหลายทางพันธุกรรมนี้เองจึงไม่อาจสรุปได้ว่าเราจะสามารถบริโภคอาหารเหมือนกันแล้วผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาแบบเดียวกัน การกินโปรตีนมากๆ อาจสร้างความแข็งแรงและมัดกล้ามให้กับคนประเภทหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีเดียวกันนี้จะใช้ได้กับสิ่งมีชีวิตอื่น

 

หลักการนี้อธิบายได้กับสัตว์อย่าง “ควาย” ซึ่งจัดเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะอาหารรวม (Ruminant) ทั้งหมด 4 กระเพาะ หรือเรียกว่า สัตว์ 4 กระเพาะ ซึ่งมีความแตกต่างกับมนุษย์ที่เป็นสัตว์กระเพาะเดียว โดยทั้ง 4 กระเพาะของควายนั้น มีหน้าที่และลักษณะการทำงานเป็นของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ทำให้มีความแตกต่างกับมนุษย์ 

 

  • กินหญ้าแต่มีกล้าม

เหตุผลที่ทำให้ควายมีกล้าม แข็งแรง แม้ว่าจะกินแค่หญ้าก็ตาม นั่นก็เพราะ 1 ใน 4 กระเพาะของควาย ทีเรียกว่า "ส่วนรูเมน" หรือ "กระเพาะผ้าขี้ริ้ว" มีจุลินทรีย์ (ที่มนุษย์ไม่มี) ซึ่งสามารถย่อยเซลลูโลสให้เป็นกลูโคส (Glucose) ได้ อีกทั้งยังสามารถย่อยโปรตีนจากพืชให้กลายเป็นกรดอะมิโน (Amino Acid) และก็เป็นจุลินทรีย์พวกนี้นี่เองที่ทำให้ควายได้รับสารอาหารทั้งพลังงานและโปรตีนอยู่ในตัว 

อย่าลืมว่า “ผัก”และ “หญ้า” เองก็มีสารอาหารในตัว ประกอบด้วยแร่ธาตุ วิตามิน ใยอาหาร ที่จะช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และการบริโภคอาหารประเภทนี้ย่อมส่งผลถึงคุณภาพของร่างกายได้เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อวัวหรือควายเปลี่ยนหญ้าเป็นน้ำตาลได้ ย่อยโปรตีนจากพืชให้เป็นกรดอะมิโนได้ การบริโภคเพียงเท่านี้ สำหรับมันแล้วถือว่ามีสารอาหารเพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่ และยังทำให้ร่างกายแข็งแรง

ถึงเช่นนั้นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ควายสามารถกินหญ้าได้เพียงอย่างเดียว นั่นก็คือจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของควาย ซึ่งจุลินทรีย์และแบคทีเรียเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการย่อยหญ้าที่ควายกินเข้าไป โดยตรงจุลินทรีย์เหล่านี้เป็นตัวทำหน้าที่ในการย่อย โดยผ่านกระบวนการทางเคมีมากมายจนสามารถได้พลังงานออกมาในรูปของกรดไขมัน VFAs(Volatile Fatty Acids) ซึ่งเป็นพลังงานหลักดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และตัวของจุลินทรีย์เองได้รับสารอาหารจากการย่อยหญ้าที่ควายกินเข้าไปเช่นกัน

  • ความบึกบึนของควายไม่เท่ากัน

ถึงตรงนี้ แม้ว่าควายจะมีความสามารถกินจุกิน กินง่ายก็จริง แต่ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า การจะมีกล้ามเป็นมัดๆ ทำได้ง่ายๆ หรือควายจะต้องตัวใหญ่กำยำทุกตัว เนื่องด้วยลักษณะพันธุกรรมของควายแต่ละสายพันธ์ุก็ล้วนมีความแตกต่างและมีข้อจำกัดต่างกัน 

หากลักษณะทางพันธุกรรมของควายตัวใด มีโครงสร้างขนาดใหญ่ กินจุ มีกระบวนการย่อยเกิดขึ้นตลอดเวลา นั่นหมายควมถึงโอกาสที่ทำให้มันจะได้รับรับสารอาหารสูงกว่าสัตว์ทั่วไป ซึ่งนั่นจะทำให้ควายตัวนั้นเป็นควายมีขนาดตัวใหญ่ และมีกล้ามเนื้อเยอะ 

ทั้งนี้ด้วยความเป็นกำยำล่ำสันนี้ ควายจึงถูกนำมาใช้แรงงานเป็นหลักตั้งแต่สมัยอดีตจนเกิดเป็นภาพคุ้นตากันเป็นอย่างดี

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป บทบาท และ การให้ความสำคัญได้เปลี่ยนไปมนุษย์เริ่มให้คุณค่ากับความสมบูรณ์แบบสวยงาม และ หายาก หากควายตัวไหนมีลักษณะตรงตามอัตลักษณ์ของควายงามก็จะได้รับความนิยม โดยเฉพาะในธุรกิจพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควาย 

ปัจจุบันนี้ นิยามลักษณะที่ดีของควายว่าต้องประกอบด้วยการมีอ้องคอหรือบ้องคอรูปตัววี  ตาแต้ม แก้มจ้ำ แข้งขาดำ ถุงเท้าสีขาว พื้นผิวนวลสะอาด เขากว้างใหญ่ ตัวสูงยาว กล้ามเนื้อลวดลายสวยแน่นชัดเจน มูลค่าการซื้อขายอาจสูงถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว 

ทั้งยังมันใจได้ว่ามันมีโอกาสที่จะตัวโต กล้ามใหญ่ และร่างกายสมสัดส่วนที่แสดงถึงคววามแข็งแรงทุกประการ