มท.1 ประชุมด่วน เตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือพายุโนรู เน้นพื้นที่เสี่ยง

มท.1 ประชุมด่วน เตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือพายุโนรู เน้นพื้นที่เสี่ยง

มท.1 บินลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก ประชุมวิดีโอคอนเฟอเร้นไปยัง จ.อุบลราชธานี รับมือพายุโนรู กำชับเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์พักพิงเพิ่ม

28 ก.ย.2565 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ เดินทางมาถึง ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก  เพื่อประชุมวิดีโอคอนเฟอเร้นไปยัง  ศูนย์กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางส่วนหน้า จ.อุบลราชธานี รวมถึง จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัย โดยก่อนเริ่มมอบนโยบาย ได้ชี้แจงถึงการเปลี่ยนเส้นทางการบินที่ไม่สามารถไปลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มาเป็น จ.พิษณุโลกแทน เพราะ ไม่สามารถเดินทางได้จากสภาพอากาศฝนตกหนัก

โดย พลเอกอนุพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ฝนตกหนักในห้วงที่ผ่านมา  ได้รับอิทธิพลมาจากร่องความกดอากาศ เป็นหลัก และพายุโนรูที่กำลังจะพัดเข้ามาในอีกไม่กี่วันนี้   โดยในหลายลุ่มน้ำ หลายพื้นที่  เช่นมีสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก  รวมถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว โดยได้ระบายน้ำไปบางส่วนแล้ว  ส่วนปริมาณลำน้ำมูล  และ แม่น้ำชี 

ขณะนี้ มวลน้ำยังไหลไม่ถึง จ.อุบลราชธานี สถานการณ์จึงน่าเป็นห่วง หากมีฝนตกเพิ่ม ก็จะมีปริมาณน้ำที่มาก จึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้าเรียบร้อยแล้ว ได้ติดตามสถานการณ์ด้วย  ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือ จิสด้า และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เตรียมความพร้อมการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ และ พื้นที่รับน้ำ  แล้วประเมินสถานการณ์มายังจังหวัด รวมถึงการเตรียมพร้อมของ ทหาร ตำรวจ โรงพยาบาล  ศูนย์พักพิง   ทั้งนี้ยังได้กำชับว่ามีพื้นที่เสี่ยงที่ได้เตือนภัยไปแล้ว  ดังนั้นทุกจังหวัดต้องประเมินสถานการณ์จริง ทั้งการระบายน้ำ และปริมาณฝน แล้วนำแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัยไปใช้ 

ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล กล่าวว่า สถานการณ์น้ำมูล ที่เป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน 8อำเภอ  และมีน้ำชี ไหลมารวมกับแม่น้ำมูลที่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ  ทำให้ขณะนี้อัตราการไหลของน้ำเกินศักยภาพแล้ว ปริมาณมีถึง 3,400 ลูกบาศเมตร แต่ยังโชคดีที่แม่น้ำโขงที่รับน้ำจากแม่น้ำมูล ยังมีปริมาณต่ำ นับตั้งแต่แก่งสะพือ ที่จะลงไปแม่น้ำโขงมีระดับที่ต่าง 10 สามารถผลักดันลงแม่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว และสภาพแม่น้ำโขงลดระดับลงทุกวัน ดังนั้นต้องเร่งระบายน้ำลงแม่โขงโดยเร็วที่สุด และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำใต้สะพานวพิบูลมังสาหาร 170 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่แก่งสะพือ อีก 10 ตัว นอกจากนี้จัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมเครื่องมือ บรรเทาอุกทกภัย 1,600 รายการ  และขณะนี้มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 44 ชุมชน 4,100 คน ที่อพยพมาอยู่ศูนย์พักพิง ที่มีรองรับ 40 ศูนย์ ซึ่งจะต้องเพิ่มศูนย์พักพิง 

ส่วนในช่วงบ่าย พลเอกอนุพงษ์ และคณะ จะลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมประชาชน ที่บ้านบังบอน บ้านคลองจระเข้ และเยี่ยมญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุอุทกภัยที่บ้านวังพรม  อ.วังทอง ก่อนเดินทางกลับ กทม.