สำรวจกำแพงเมืองเก่า "ประตูช้างเผือก" อายุกว่า 700 ปีถล่ม หลังฝนตกหนักในพื้นที่

ฝนที่ตกหนักหลายวันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ส่งผลให้กำแพงเมืองเก่า "ประตูช้างเผือก" 1 ใน 4 ประตูเมืองเชียงใหม่ พังถล่มลงมาในช่วงเช้าวันนี้

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 65 เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบบริเวณประตูช้างเผือก ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น1 ใน 4 ประตูเมืองเชียงใหม่ ที่มีอายุกว่า 700 ปี พังถล่ม เป็นแนวยาว กว่า 30 เมตร หลังฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้กำแพงอุ้มน้ำ โดยกำแพงที่ถล่มนั้นเป็นแนวกำแพงชั้นนอกที่สร้างขึ้นเพื่อคลอบกำแพงเดิมชั้นใน ในช่วงประมาณปี 2500 

นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถานสำนักศิลปกรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ประตูช้างเผือกนั้นได้ก่อสร้างประมาณปี 2500 ต้นซึ่งเป็นการก่อสร้างบูรณะใหม่เพื่อเป็นการคลุมกำแพงชั้นในเดิม ลักษณะของการเสียหายนั้นมีฝนตกหนักในปริมาณมากมีส่วนทำให้น้ำซึมเข้าไปในแกนในของกำแพง  ในส่วนของกำแพงด้านในไม่ได้รับความเสียหายซึ่งเป็นการก่ออิฐมาครอบไว้เฉยๆไม่มีการเกาะยึดพอเกิดการอิ่มตัวของภายในทำให้เกิดการดันด้านข้างทำให้พังถล่มซึ่งกำแพงนี้ก่อสร้างมาประมาณ 60 ปีแล้ว  การซ่อมบำรุงยังไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ ดังนั้นภัยธรรมชาติทำให้กำแพงพังลงมา อันดับต่อไปเราจะมีการตรวจสอบโครงสร้างทุกประตูโดยจะมีการดำเนินการร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ 

ด้านนายอัศนีย์ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า  ในส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่จะได้ทำการปิดกั้นบริเวณพื้นที่ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยกับประชาชนและนักท่องเที่ยวก่อนจะมีการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบและดูแลกันอย่างไรเพื่อทำให้กำแพงเมืองทุกส่วนเพื่อเกิดความปลอดภัยและแข็งแรงมากขึ้น

สำหรับประตูช้างเผือก หรือ ประตูหัวเวียงของเชียงใหม่ในอดีต ถือได้ว่ามีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตของการสร้างเมือง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองถือว่าเป็นประตูมงคล ในพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีล้านนา กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้ามาที่ประตูนี้ มาตั้งแต่ครั้งที่พญาเม็งราย ทรงสร้างเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เจียงใหม่ขึ้น  ประตูหัวเวียงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ประตูช้างเผือกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 เมื่อพญาแสนเมืองมาได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก 2 เชือกเป็นอนุสรณ์แก่มหาดเล็ก 2 คนที่ช่วยพระองค์ให้รอดพ้นจากภัยสงคราม แต่เดิมรูปปั้นช้างเผือกทั้ง 2 เชือกอยู่ริมถนนโชตนาด้านละเชือก สำหรับรูปปั้นช้างเผือกที่ตั้งในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ