รู้หรือไม่ “พายุหมุนเขตร้อน” แต่ละซีกโลก ทำไมเรียกไม่เหมือนกัน?

รู้หรือไม่ “พายุหมุนเขตร้อน” แต่ละซีกโลก ทำไมเรียกไม่เหมือนกัน?

ขณะที่เฮอร์ริเคน “ฟิโอนา” กำลังมุ่งหน้าสู่เบอร์มิวดา หลังถล่มเครือรัฐเปอร์โตริโกอย่างหนัก อีกซีกโลกหนึ่งอย่างญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับซูเปอร์ไต้ฝุ่น “นันมาดอล” แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วทั้งคู่เป็น “พายุหมุนเขตร้อน” เหมือนกัน เพียงแต่เรียกชื่อไม่เหมือนกัน

จากข้อมูลของ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า “พายุหมุนเขตร้อน” เป็นคำใช้สำหรับเรียกพายุหมุนอย่างรวดเร็ว เกิดเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน ซึ่งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ละติจูดที่ 23 1⁄2 องศาเหนือ (Tropic of Cancer) จนถึงละติจูดที่ 23 1⁄2 องศาใต้ (Tropic of Capricorn) มีลักษณะสำคัญ ได้แก่ ศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ การไหลเวียนของบรรยากาศระดับต่ำแบบปิด ลมกระโชกแรง และการจัดเรียงของพายุฟ้าคะนองแบบก้นหอย ทำให้เกิดฝนตกหนัก

เมื่อพายุดังกล่าวอยู่ในสภาพที่เติบโตเต็มที่จะเป็นในหนึ่งพายุที่มีความรุนแรงที่สุด แม้จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่นักประมาณ 100 กิโลเมตรขึ้นไป แต่เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก โดยลมพัดเวียนหมุนเข้าหาศูนย์กลางขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เกิดพายุ หากพายุเกิดขึ้นในซีกโลกเหนือลมจะพัดทวนเข็มนาฬิกา ขณะที่ซีกโลกใต้ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางตามกับเข็มนาฬิกา 

ยิ่งเข้าใกล้ศูนย์กลางพายุเท่าไร ลมก็จะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงมากขึ้นเท่านั้น ในบางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 175 นอต และมีความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางต่ำกว่า 900 เฮกโตปาสคาล (hPa) ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฟ้าคะนอง ฝนตกหนักทั่วพื้นที่ เกิดคลื่นทะเลขนาดใหญ่และน้ำทะเลหนุนสูง ขึ้นอยู่ระดับความรุนแรงของพายุแต่ละลูก

 

โครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อน

เมื่อมองจากภาพถ่ายดาวเทียม จะเห็นได้ว่าตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับดวงตา จึงเรียกว่า “ตาพายุ” (Eye Storm) มีขนาดประมาณ 15-60 กิโลเมตร ภายในตาพายุนี้จะมีอากาศแจ่มใส มองเห็นดวงอาทิตย์ชัดเจน แต่มีเมฆน้อยลมสงบนิ่งและอากาศร้อนอบอ้าว เนื่องจากภายในตาพายุที่มีกำลังแรงมากพอนั้น จะอากาศให้จมลง ทำให้ความกดอากาศในกลางพายุนั้นต่ำมาก และไม่สามารถเกิดเมฆได้

ถัดมาคือ บริเวณกำแพงตาพายุ (Eyewall) เป็นพื้นที่บริเวณรัศมีรอบตาพายุประมาณ10-25 กิโลเมตร ถือว่าเป็นบริเวณที่มีความรุนแรงที่สุดของพายุหมุนเขตร้อน เนื่องจากบริเวณนี้เต็มไปด้วยเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) มีลักษณะหนาสูงทึบในแนวตั้ง หนาประมาณ 25 กิโลเมตร ที่ยกเอาอากาศร้อน และอากาศชื้นขึ้นไปสู่เบื้องบนของชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็วกลายเป็นเมฆฝนฟ้า คะนอง และกระแสอากาศนี้ก็จะถูกพัดขยายขึ้นสู่ชั้นบนของบรรยากาศจนเกิดเมฆเซอร์รัส (Cirrus) ทำให้เป็นจุดที่มีพายุลมแรงจัดและฝนตกหนักสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของพายุ

ชั้นนอกสุดของพายุเรียกว่า แถบเมฆฝนด้านนอก (Outer rainband) ประกอบไปด้วยเมฆคิวมูโลนิมบัสเช่นเดียวกับบริเวณกำแพงพายุ แม้บริเวณนี้จะมีลมพายุพัดแรงจัด แต่จะเกิดฝนตกหนักในลักษณะฝนตก ๆ หยุด ๆ ขณะที่กระแสลมจะมีลักษณะกระโชกแรงสลับกับลมอ่อน ๆ เป็นช่วง ๆ 

ทั้งนี้ แถบเมฆฝนด้านนอกจะเคลื่อนตัวเข้าอย่างช้า ๆ ซึ่งเชื่อว่าแย่งความชื้นและโมเมนตัมเชิงมุมจากกำแพงตาหลัก เมื่อกำแพงตาหลักอ่อนกำลังลง พายุหมุนเขตร้อนจะอ่อนกำลังชั่วคราว สุดท้ายกำแพงตารอบนอกจะเข้ามาแทนที่กำแพงตาหลักท้ายวัฏจักร ในเวลานั้นพายุอาจกลับมามีความรุนแรงดังเดิม

ระดับความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อน

ปัจจุบัน มีการจำแนกพายุหมุนเขตร้อนออกเป็น 3 กลุ่มหลักตามความรุนแรง ได้แก่ พายุดีเปรสชันเขตร้อน พายุโซนร้อน และกลุ่มพายุที่รุนแรงกว่า ซึ่งแต่ละประเภทมีรายละเอียดดังนี้

1. พายุดีเปรสชันเขตร้อน (Depression) หรือ บริเวณความกดอากาศต่ำเขตร้อน เป็นความผันผวนเขตร้อนซึ่งมีการไหลเวียนพื้นผิวที่นิยามอย่างชัดเจนด้วยความเร็วลมพัดต่อเนื่องสูงสุดน้อยกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 34 นอต 

2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) พายุฟ้าคะนองกำลังแรงที่เป็นระเบียบ โดยมีการไหลเวียนพื้นผิวและความเร็วลมพัดต่อเนื่องสูงสุดใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 63-118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 34-64 นอต โดยจะเริ่มปรากฏรูปทรงแบบพายุหมุนเฉพาะ แม้จะยังไม่มีตาพายุก็ตาม และมีการตั้งชื่อพายุที่ความรุนแรงระดับนี้ อีกทั้งแรงเฉือน (windshear) ของลมพายุโซนร้อนสามารถพัดให้สิ่งต่าง ๆ ปลิวได้ รวมทั้งก่อให้เกิดอุทกภัยได้อีกด้วย

3. กลุ่มพายุที่รุนแรงกว่า เป็นระบบที่มีความเร็วลมพัดต่อเนื่องตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 64 นอต ซึ่งพายุในกลุ่มนี้จะมีองค์ประกอบของพายุอย่างครบถ้วน โดยจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามบริเวณที่พายุก่อตัวขึ้น

 

ชื่อเรียกพายุในแต่ละพื้นที่

ในแต่ละพื้นที่ของโลกนั้น มีชื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงสูงแตกต่างกันออกไป ได้แก่

พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นพายุหมุนเขตร้อนความเร็วลมสูงสุด ซึ่งก่อตัวขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่าง 180° กับ 100° ตะวันออก ซึ่งภูมิภาคนี้ถูกตั้งชื่อว่า "แอ่งแปซิฟิกตะวันตก" หรือ พายุที่มีความเร็วมากกว่าพายุโซนร้อนที่ก่อตัวในทะเลทางฝั่งตะวันออกของประเทศไทย 

ส่วนคำว่า ไต้ฝุ่น ในภาษาไทยนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุว่า เป็นคำยืมจากภาษาจีน คำว่า ไทเฟิง (台风) แต่ยังมีอีกคล้ายคำจากภาษาอื่น ๆ ที่มีออกเสียงคล้ายกันและมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ไทฟอน (Typhon) ชื่ออสุรกายจากเทพปกรณัมกรีกที่เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายจะกลายเป็นพายุขนาดใหญ่

ขณะที่ พายุไซโคลน (Cyclone) เป็น พายุที่เกิดในทะเลทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย หรือแอ่งมหาสมุทรอินเดียเหนือ และ แอ่งอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ 

ส่วนพายุที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียเรียกว่า “วิลลี-วิลลี” (Willy-Willy)

พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นพายุที่เกิดในแอ่งแอตแลนติกเหนือรวมถึงมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก สันนิษฐานกันว่ามาจากชื่อเทพเจ้าแห่งพายุของชนเผ่ามายาที่มีชื่อว่า อูรากัน (Huracán) 

อย่างไรก็ตาม หากความผันผวนในเขตร้อน (ที่ยังไม่พัฒนาเป็นดีเปรสชันเขตร้อน) สามารถทำให้เกิดภาวะพายุหมุนเขตร้อนหรือเฮอร์ริเคนในแผ่นดินภายใน 48 ชั่วโมง ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติ ศูนย์เฮอร์ริเคนแปซิฟิกกลาง และศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม จะจัดให้เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่อาจก่อตัว (Potential Tropical Cyclone)

นอกจากจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันแล้ว ในแต่ละภูมิภาคยังมีระยะเวลาการเกิดพายุหมุนเขตร้อนที่แตกต่างกันตลอดทั้งปีอีกด้วย โดยแต่ละพื้นที่มีระยะเวลาการเกิดพายุดังนี้

  • แอ่งแอตแลนติกเหนือ เกิดพายุในช่วงเดือน มิ.ย.-พ.ย.
  • แอ่งแปซิฟิกตะวันออก เกิดพายุในช่วง 15 พ.ค.-30 พ.ย.
  • แอ่งแปซิฟิกตะวันตก เกิดพายุได้ตลอดทั้งปี (ม.ค.-ธ.ค.) โดยมีฤดูกาลหลัก คือ ก.ค.-พ.ย.
  • แอ่งอินเดียเหนือ เกิดพายุในช่วงเดือน เม.ย.-ธ.ค.
  • แอ่งอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ เกิดพายุได้ตลอดทั้งปี 
  • แอ่งออสเตรเลีย เกิดพายุในช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย.
  • แอ่งแปซิฟิกใต้ เกิดพายุในช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย.

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียม โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลหลายแห่งของสเปน ร่วมกันตีพิมพ์รายงานลงในวารสาร Scientific Reports ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ด้วยภาวะโลกร้อนทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวัฏจักรของน้ำ (Water Cycle) ที่เป็นกระบวนการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ประสบภัยแล้งจะขาดแคลนน้ำยิ่งขึ้น แต่พื้นที่เขตมรสุมจะเผชิญพายุฝนรุนแรงกว่าเดิมและเกิดอุทกภัยหนักขึ้น 

ขณะที่แหล่งน้ำในส่วนต่าง ๆ ของโลกได้รับผลกระทบเช่นกัน แหล่งน้ำจืดจะมีแร่ธาตุเจือจางและมีรสจืดกว่าเดิม เพราะปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ส่วนน้ำทะเลจะมีความเข้มข้นของแร่ธาตุสูงขึ้นและเค็มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากน้ำระเหยกลายเป็นไอในอัตราที่สูงขึ้น แต่ไม่ตกกลับลงมาเป็นฝนในพื้นที่เดิม เพราะมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ข้อมูลจากดาวเทียมนี้สอดคล้องกับการทำนายด้วยแบบจำลองภูมิอากาศโลก ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในทุก 1 องศาเซลเซียสที่โลกร้อนขึ้น จะส่งผลให้วัฏจักรของน้ำหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นราว 7% นั่นยคือฝนจะตกในพื้นที่มรสุมหนักขึ้น 7% โดยเฉลี่ย ขณะที่พื้นที่แห้งแล้งจะยิ่งเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายกว่าเดิมโดยเฉลี่ย 7% 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เป็นส่วนสำคัญที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเร็วขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเราทุกคนสามารถช่วยโลกใบนี้ได้ ด้วยการลดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ถึงจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ก่อนที่จะสายเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ทัน

 

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยาBBCMET OfficeNational Hurricane Center