กอนช. สำรวจพนังกั้น "น้ำลุ่มเจ้าพระยา" เข้มแผนจัดการน้ำ รับฝนตกหนัก 2 เดือน

กอนช. สำรวจพนังกั้น "น้ำลุ่มเจ้าพระยา" เข้มแผนจัดการน้ำ รับฝนตกหนัก 2 เดือน

กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำ คาด ก.ย.- ต.ค. ฝนตกหนัก สั่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยง เร่งอุดซ่อมแซมจุดฟันหลอ คุมเข้มบริหารจัดการน้ำ ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาเร่งผลักดันน้ำเหนือผ่านเขื่อนเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เล็งตั้งศูนย์ส่วนหน้า จ.อุบลราชธานี และ จ.ชัยนาท

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่สำรวจและตรวจติดตามความพร้อมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย ปี 2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ณ จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. จังหวัดปทุมธานี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลตำบลบางขะแยง ว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ สสน. ได้ใช้รถระบบสำรวจภูมิประเทศ (Mobile Mapping System : MMS) และระบบแสดงผลข้อมูลแผนที่ 3 มิติแบบออนไลน์ เพื่อติดตาม สำรวจ ตรวจสอบความพร้อมของแนวพนังกั้นน้ำโดยรอบบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีข้อห่วงใยต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่คันกั้นน้ำ ที่อาจได้รับผลกระทบ หากเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งหรือน้ำทะเลหนุนสูง จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งสำรวจสภาพคันกั้นน้ำหรือคันดิน หากมีจุดใดชำรุดเสียหาย ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งการเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวบริเวณจุดเชื่อมต่อที่ชำรุด หรือจุดที่เป็นฟันหลอ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนด้วย

 

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. พบว่า ในช่วงตั้งแต่วันนี้ถึง 8 ก.ย.นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ อีกทั้งคาดการณ์ฝน One Map ช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่ง กอนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจเกิดน้ำท่วม และให้ดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญจะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำและแม่น้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า  สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำทุกขนาดให้มีสภาพแข็งแรง มั่นคง และมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยอ่างฯ ขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมที่ต้องเฝ้าระวังมีจำนวน 6 แห่ง ที่ ได้แก่ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก อ่างฯ น้ำพุง จ.สกลนคร อ่างฯ อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างฯ ขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และอ่างฯ นฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งให้เฝ้าระวังอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามที่มีการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย.นี้  สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ ในพื้นที่ตอนบนก่อนลงมายังเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากขณะนี้พบว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนสะสมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1,800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณ จ.อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบโดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนพื้นที่นอกคันกั้นน้ำและพื้นที่ฟันหลอ ซึ่ง กอนช.ได้มีการแจ้งเตือน เตรียมความพร้อมรับมือ และมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบเบื้องต้นแล้ว 

“ขณะนี้กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงเหลือ 300 ลบ.ม./วินาที เพื่อไม่ให้มวลน้ำไปรวมกับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามากเกินไป ขณะที่เขื่อนภูมิพล จะปรับลดการระบายแบบขั้นบันไดจาก 4 ล้าน ลบ.ม./วัน เหลือ 2 ล้าน ลบ.ม./วัน และจะลดให้เหลือ 5 แสน ลบ.ม./วัน นอกจากนี้ จะเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ เพื่อรองรับน้ำระลอกใหม่ในลุ่มน้ำยมจาก จ.สุโขทัย และ จ.แพร่ รวมกับใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงกลางดือน ก.ย.นี้ เพื่อเป็นพื้นที่สำรองเพิ่มเติมกรณีที่จำเป็นไว้รับมือน้ำหลากในช่วงกลางเดือนก.ย.- ต.ค.นี้ ซึ่งจะสามารถใช้หน่วงปริมาณน้ำหลากได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.นอกจากการเร่งระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อให้น้ำไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งจากผลการผลักดันน้ำจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้มวลน้ำสูงสุดกำลังไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนฯ 1,624  ลบ.ม./วินาที และหลังจากนี้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ และพร้อมรับน้ำหลาก เนื่องจากฝนตกในช่วงวันที่ 4 – 8 ก.ย.นี้” ดร.สุรสีห์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล กอนช.ได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนจัดจราจรน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี  รวมทั้งให้เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ใน 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ โดยในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.65) กอนช.จะมีการประชุมคณะประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์ฝนและแนวโน้มอิทธิพลพายุ ในการเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคอีสาน ณ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง จ.ชัยนาท เพื่อบูรณาการแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อย่างเป็นระบบต่อไป