เช็คข้อกำหนดระบบป้องกันไฟไหม้ "สถานบริการ-สถานบันเทิง" ใน กทม.

เช็คข้อกำหนดระบบป้องกันไฟไหม้ "สถานบริการ-สถานบันเทิง" ใน กทม.

เปิด 15 ข้อกำหนดระบบป้องกัน-แจ้งเตือนไฟไหม้ "สถานบริการ-สถานบันเทิง" ในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง เช็ครายละเอียดทั้งหมดที่นี่!

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ "เมาท์เทน บีผับ" (MOUNTAIN B) ริมถนนสายสุขุมวิท หมู่ 7 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 41 ราย และเสียชีวิต 13 ราย บริเวณทางเข้าร้าน และภายในห้องน้ำ โดยมีการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับ เขตวัฒนา เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2552 ซึ่งเหตุการครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 61 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 225 คน

ที่ผ่านมาหน่วยงานกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้กำหนดมาตรการป้องกันรวมถึงข้อกำหนดจากสำนักงานเขตต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือเจ้าของผู้ครอบครองอาคาร ผู้ใช้ประโยชน์ในอาคารให้ดูแลและระมัดระวังการใช้สอยอาคารให้เกิดความปลอดภัย และดำเนินการตามข้อแนะนำ 

โดยเฉพาะเมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นกับอาคารประเภทสถานบริการ และสถานบันเทิง เพื่อให้มีการป้องกันการเกิดอัคคีภัย ลดการเสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สินและตัวอาคารกรณีเกิดอัคคีภัยขึ้น โดยมีข้อกำหนด 15 ข้อ ประกอบด้วย

เช็คข้อกำหนดระบบป้องกันไฟไหม้ \"สถานบริการ-สถานบันเทิง\" ใน กทม.

1.จัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบมือถืออย่างน้อย 1 เครื่อง ต่อพื้นที่ตั้งแต่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป และจัดให้มีอีกอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกระยะห่างไม่เกิน 20 เมตร ในทุกชั้นที่จัดงาน โดยติดตั้งให้สูงจากระดับพื้นที่อาคาร ไม่เกิน 1.5 เมตร สามารถมองเห็นและใช้สอยได้อย่างสะดวก 

2.ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถเตือนแจ้งได้ครอบคลุมพื้นที่บริการ

3.ติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคาร แสดงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ทางหนีไฟ ทางออก และประตูทางออก ไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน 

4.จัดให้มีทางออกและทางหนีไฟให้เพียงพอ อย่างน้อย 2 ทาง สามารถเปิดออกได้โดยสะดวก ไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีป้ายบอกทางหนีไฟมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา 

5.จัดให้มีระบบไฟฟ้าสำรอง สำหรับระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ไฟฉุกเฉิน ป้ายบอกทางหนีไฟ 

6.ควบคุมความจุคนของผู้ใช้บริการ หรือผู้ที่เข้าร่วมงานที่มีความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัย ในการใช้อาคาร 

7.จัดให้มีผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยตลอดเวลาที่เปิดบริการ 

8.ก่อนเปิดบริการหรือจัดงาน ควรจัดให้มีการตรวจสอบเครื่องดับเพลิง หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการดับเพลิงให้มีความพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาที่มีการเปิดบริการ 

9.หลีกเลี่ยงการตกแต่งอาคารสถานที่จัดงานรื่นเริงด้วยวัสดุตกแต่งที่ติดไฟง่ายหรือลามไฟเร็ว

10.ห้ามหรืองดการจัดให้มีการละเล่น การแสดงที่มีการใช้อุปกรณ์ ของเล่น ที่ทำให้เกิดประกายไฟในสถานที่จัดงานหรือสถานบริการโดยเด็ดขาด

เช็คข้อกำหนดระบบป้องกันไฟไหม้ \"สถานบริการ-สถานบันเทิง\" ใน กทม.

11.ระหว่างการจัดงานหรือเปิดบริการ ควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ทางเข้าออกและทางหนีไฟ รวมทั้งข้อควรปฏิบัติกรณีเหตุฉุกเฉินให้ผู้ใช้บริการและผู้เข้าร่วมงานทราบตามเวลาที่เหมาะสม

12.อาคารที่มีสถานบริการหรือสถานที่จัดงานรื่นเริงอยู่ภายในอาคาร ให้ตรวจสอบการใช้งานของระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร และบริเวณโดยรอบสถานบริการ

13.กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ใช้บริการหรือผู้ที่เข้าร่วมจัดงานรื่นเริงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบกิจการหรือผู้จัดงานอย่างเคร่งครัดตามที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบ

14.หลังจากปิดบริการหรือหลังจากเลิกจัดงาน ควรจัดให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัย

15.สถานบริการต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดชอบ ต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาข้อมูลจาก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้เปิดเผยถึง สถิติไฟไหม้ กทม.ย้อนหลังตั้งแต่ 2560-2565 มีดังนี้ 

ปี 2560 มีนบุรี 15 ครั้ง บางแค 13 ครั้ง วัฒนา 12 ครั้ง

ปี 2561 จตุจักร 16 ครั้ง คลองเตย 14 ครั้ง มีนบุรี 12 ครั้ง

ปี 2562 คลองสามวา บางกะปิ ลาดกระบัง เขตละ 14 ครั้ง

ปี 2563 บางแค ป้อมปราบศัตรูพ่าย ภาษีเจริญ เขตละ 11 ครั้ง

ปี 2564 บางกะปิ 5 ครั้ง จอมทอง/บางเขน/บางพลัด/ประเวศ เขตละ 4 ครั้ง

ปี 2565 วันที่ 21 มิ.ย. ไฟไหม้บ่อนไก่ เขตคลองเตย 1 ครั้ง และวันที่ 26 มิ.ย ไฟไหม้สำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ 1 ครั้ง

ที่มา : สำนักงานเขตบางพลัด