"สทนช." เฝ้าติดตาม "น้ำท่วม" ภาคเหนือทั้ง 6 ลุ่มน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด

"สทนช." เฝ้าติดตาม "น้ำท่วม" ภาคเหนือทั้ง 6 ลุ่มน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด

สทนช. สั่งเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 6 ลุ่มน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด พิษณุโลก- พิจิตร-ลำปาง-อุตรดิตถ์ หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมประสานงานกับจังหวัดและส่วนราขการที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอย่างทันท่วงที

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตามที่ กอนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 21/2565 เรื่องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉบับพลันช่วงวันที่ 21 – 25 ก.ค.2565 ซึ่ง กอนช.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำล่าสุดได้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และลำปาง ซึ่ง สทนช.ได้มอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 (สทนช.) ติดตามสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการมวลน้ำ รวมถึงประสานการเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่เน้นย้ำในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนทันทีเมื่อเกิดภัยตามที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว 

โดยสถานการณณ์ล่าสุดกรณีน้ำท่วมในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ที่มีน้ำไหลหลากจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ลงคลองวังยาง และคลองวังโป่ง จนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม อ.เนินมะปราง ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตพื้นที่ชลประทานกว่า 10 หลังคาเรือน ปริมาณน้ำท่วมสูงประมาณ 0.30 - 0.50 เมตร ปัจจุบันพบว่า ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง โดยระดับน้ำคลองชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และคลองวังโป่ง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ลดต่ำกว่าตลิ่งและลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตร ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบข้างต้นและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.พิษณุโลก โดยระบายน้ำลงแม่น้ำวังทอง และแม่น้ำน่าน และดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ พร้อมด้วยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อำนวยความสะดวกในการสัญจรให้กับประชาชน โดยสนับสนุนเรือท้องแบนจำนวน 2 ลำ พร้อมเครื่องยนต์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย แจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยด้วยแล้ว รวมถึงเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน 

ขณะเดียวกัน มวลน้ำจาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ได้ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน จ.พิจิตร ประกอบกับมีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.พิจิตร ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมขังพื้นที่นาข้าว อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และหลากเข้าท่วมพื้นที่สวนผลไม้ ในพื้นที่ หมู่ 9 ต.หนองปลาไหล อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำ บริเวณ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) ต.หัวดง และ ต.ท่าหลวง ลงแม่น้ำน่าน คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนกรณีเกิดน้ำหลากเข้าเอ่อท่วมถนนทางหลวงหมายเลข 11 พิษณุโลก -อุตรดิตถ์ ทั้งขาขึ้นและขาล่อง สูงประมาณ 20-30 ซม. บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 314-315 อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เนื่องจากประชาชนมีการถมที่กีดขวางทางน้ำ และมีวัชพืชกีดขวาง ทางจังหวัดได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือ 
โดยการเปิดเส้นทางน้ำ ปัจจุบันสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ตามปกติแล้ว ขณะที่ลุ่มน้ำวัง เนื่องจากฝนตกหนักเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่หลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.วังทรายคำ  อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ตั้งแต่คืนวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมาโดยน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ถนนและไหล่ทางถูกน้ำกัดเซาะ รวมทั้งตลิ่งลำเหมืองขาด 1 แห่ง ซึ่ง สทนช.ภาค 1 ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินสำรวจความเสียหายและเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแล้วเช่นกัน

“ในภาพรวมแล้วหากไม่มีฝนตกเพิ่มเติมอีก คาดว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติภายในไม่เกิน 4-5 วัน โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้มีความห่วงใยประชาชน ได้สั่งการให้เร่งประสานงานกับจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอย่างทันท่วงที และเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าวในที่สุด