ภูเก็ต ซ้อมแผนอพยพ "สึนามิ" เตรียมความพร้อม สร้างความเชื่อมั่น ปชช. และ นทท.

ภูเก็ต ซ้อมแผนอพยพหนีภัย "สึนามิ" เตรียมความพร้อม สร้างความเชื่อมั่นประชาชนและนักท่องเที่ยว ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 65 กลุ่มนักเรียน นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต อาทิ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว, วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต, ชาวบ้านในชุมชนหาดแสนสุข เป็นต้น ซึ่งมีที่ตั้งติดชายทะเล ร่วมกันฝึกซ้อมอพยพหนีภัยกรณีเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ โดยเป็นหนึ่งใน 19 ท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติปี 2558 ให้พื้นที่ที่ติดชายทะเลและพื้นที่เสี่ยงภัยจากคลื่นสึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติกรณีเกิดคลื่นสึนามิ ประจำปี 2565 โดยภาคเช้าได้มีการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ หรือ Table Top Exercise หรือ TTX เพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการ ก่อนการฝึกภาคปฏิบัติในช่วงบ่าย ทั้งการแจ้งเตือนการอพยพ และการจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว

ทั้งนี้ ได้มีการสมมุติสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลที่มีโอกาสเกิดสึนามิ ขนาด 7.8 ริคเตอร์ มีการแจ้งสัญญาณเตือนภัย 5 ภาษา ประกอบด้วย ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น จีนและรัสเซีย ไปที่หอเตือนภัยทั้ง 19 หอ ทำการแจ้งเตือน 2 ครั้ง ครั้งแรกแจ้งเฝ้าระวัง ครั้งที่ 2 แจ้งอพยพ โดยเทศบาลนครภูเก็ตได้อพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 7 จุด ได้แก่ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.10 (สะพานหิน) ชุมชนแสนสุข ชุมชนซอยกอไผ่ ชุมชนซอยต้นโพธิ์ ชุมชน 40 ห้อง วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต และ โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จำนวน 150 คน มายังสถานที่รองรับผู้อพยพบริเวณสนามชัยและโรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี

นายอุดมพร กาญจน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงภาพรวมการฝึกซ้อมอพยพหนีภัย ว่า เป็นการฝึกซ้อมระดับอำเภอกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการความร่วมมือ ทั้งระดับจังหวัดและส่วนกลางอย่างผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กงสุลออสเตรเลีย และเครือข่ายอาสาสมัครต่างๆ ร่วมสังเกตการณ์ทุกกระบวนการ ทั้งการบัญชาการเหตุการณ์ กระบวนการขั้นตอนอพยพ โดยอำเภอเมืองภูเก็ต จัดในพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต และตำบลกะรน ส่วนอำเภอถลาง จัดในพื้นที่ตำบลสาคู ได้จัดการซ้อมย่อยเฉพาะพื้นที่ปลายแหลมสะพานหิน ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลในเมือง ที่มีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนจำนวนมากในแต่ละวัน ถือเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในการฝึกซ้อมครั้งนี้ไม่ได้เปิดสัญญาณแจ้งเตือนผ่านหอเตือนภัย ทั้ง 19 หอ เนื่องจากเกรงผลกระทบกับผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ จึงได้ใช้รูปแบบหอกระจายข่าวแต่มีการเปิดเสียงสัญญาณเหมือนหอเตือนภัย ผ่านรถโมบายที่ลาดตระเวนครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยหอเตือนภัยทั้ง 19 หอได้มีการเปิดเสียงสัญญาณเตือนทุกวันในช่วง 8 โมงเช้า ซึ่งทั้ง 19 หอ ใช้งานได้ตามปกติ และจากการฝึกซ้อมในครั้งนี้ทุกท้องถิ่น สามารถดึงความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ พร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวและเป็นเจ้าบ้านที่ดี ตอบโจทย์การเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจากเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวขนาด 4-5 ริคเตอร์ ที่ไม่มีปัจจัยจะก่อให้เกิดสึนามิได้ แต่มีการแจ้งเตือนเฝ้าระวังเป็นการตื่นตัวที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์จริงที่อาจจะเกิดขึ้นได้