กทม. เตรียมให้แต่ละเขตเปิดศูนย์พักคอย และแผนสำรองยารับผู้ป่วยโควิด 19 จริงหรือ?

กทม. เตรียมให้แต่ละเขตเปิดศูนย์พักคอย และแผนสำรองยารับผู้ป่วยโควิด 19 จริงหรือ?

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ตรวจสอบกรณีที่มีการระบุว่า กทม. เตรียมให้แต่ละเขตเปิดศูนย์พักคอย และแผนสำรองยาเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 เป็นข้อมูลจริง

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 65 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า ตามที่มีข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องกทม. เตรียมให้แต่ละเขตเปิดศูนย์พักคอย และแผนสำรองยาเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

กทม. ได้เตรียมพร้อมศักยภาพสถานพยาบาลในสังกัดเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาจจะเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งใน 2 – 3 วันข้างหน้า โดยเตรียมพร้อมทั้งระบบรับ – ส่งผู้ป่วยผ่านสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 การสำรองยา การเตรียมเตียง โดยในพื้นที่ส่วนกลางขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นทำให้รพ. กลาง และรพ. ตากสินมีอัตราครองเตียงของผู้ป่วยหนาแน่น ดังนั้นผู้ป่วยที่อาศัยในพื้นที่ส่วนกลางของกทม. จะถูกส่งตัวไปรักษายังรพ. กทม. รอบนอก ซึ่งพร้อมในการดูแลต่อไป กรณีที่ประชาชนตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อให้ไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่หรือคลินิกอบอุ่นใกล้บ้าน เพื่อรับยาตามอาการ และกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน แต่หากเกรงว่าจะนำไปติดที่บ้านก็ต้องเตรียมพร้อม CI ทุกเขตที่ Stand by ไว้ ก็ต้องพร้อมเปิดใช้งาน และเมื่ออาการหนัก ก็ให้โทรประสานสายด่วน 1669 เพื่อประเมินและนำส่งรพ. ให้
 

ในขณะนี้น่าเป็นห่วง กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนท้อง และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งเมื่อติดแล้วอาการจะมีมากกว่าคนปกติ รวมถึงสถานการณ์ขณะนี้หากเด็กหรือคนทำงานติดเชื้อมักจะเอาเชื้อไปให้ผู้สูงอายุที่บ้าน ทำให้อัตราการครองเตียงมากขึ้น จึงได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ ดังนี้

1. พิจารณาการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน (Community Isolation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแออัด ซึ่งได้มอบรองผู้ว่าฯทวิดา เตรียมพร้อมในแต่ละเขตแล้ว โดยก่อนหน้านี้ใช้พื้นที่โรงเรียนแต่ขณะนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้วคงต้องหาพื้นที่ใหม่ต่อไป

2. การเตรียมพร้อมเรื่องยา ซึ่งได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย. ดังนั้นกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถจัดซื้อได้ ต้องประสานผ่านทางสธ. เท่านั้น หากขึ้นทะเบียนแล้วกทม. จะจัดซื้อเอง

3. อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งได้ประสานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือศบค. ใหญ่ อย่างใกล้ชิด การเตรียมพร้อมศูนย์เอราวัณซึ่งขณะนี้กทม.บริหารจัดการ 100 % เนื่องจากส่วนกลางได้ถอนตัวออกแล้ว

4. เตือนประชาชนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด โดยประชาชนกลุ่ม 608 ในพื้นที่กทม. ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้วกว่า 50 % ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของประเทศ วัคซีนไม่ช่วยเรื่องการติดเชื้อแต่จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงการใส่หน้ากากทั้งใน – นอกอาคาร ก็จะช่วยเรื่องการติดเชื้อได้เช่นกัน


ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ หรือโทร 0-2590-6000

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข