กอนช. ลงพื้นที่ซ้อมแผนรับมือฝนปี 65 เร่งหารือป้องกันน้ำหลากพื้นที่ภาคกลาง

กอนช. ลงพื้นที่ซ้อมแผนรับมือฝนปี 65 เร่งหารือป้องกันน้ำหลากพื้นที่ภาคกลาง

กอนช. ลงพื้นที่ จ.ชัยนาท เดินหน้าซ้อมแผนเผชิญเหตุในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมรับมือฤดูฝน ปี 65 บูรณาการหน่วยงานเร่งหารือปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องสถานการณ์ ป้องกันพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ลดผลกระทบให้กับประชาชน

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และมาตรการที่ 11 ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ ห้องประชุมพระครูวิมลคุณากร อาคารศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการท่องเที่ยว สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท โดยมี นายคำรณ อิ่มเนย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ชัยนาท กล่าวต้อนรับ นายเอกภพ จันทร์เพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 16 ชัยนาท กล่าวมอบนโยบายด้านการฝึกซ้อม พร้อมด้วย ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยทหาร เข้าร่วม 
 

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ภาคกกลาง เนื่องจาก จ.ชัยนาท อยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนบน ซึ่งต้องรับมวลน้ำมาจากพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้ง จังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีน ที่ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ และมีเขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนหลักในการบริหารจัดการน้ำที่กั้นลำน้ำเจ้าพระยา โดยในช่วงฤดูฝนมักประสบปัญหาน้ำเหนือไหลบ่า ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณที่ลุ่มแอ่งกระทะในหลายอำเภอ อีกทั้ง จากการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ฝนปีนี้ กอนช. ได้ประเมินแล้วว่า ในพื้นที่ภาคกลาง จะมีปริมาณฝนตกหนักในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.  โดยมีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 566 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ย และคาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย รวม 446 ตำบล 80 อำเภอ 15 จังหวัด ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่ภาคกลาง มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 654 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น การลงพื้นที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุในครั้งนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อบูรณาการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ได้มีความพร้อมรับมือก่อนเกิดภัย สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ลดและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในห้วงที่ผ่านมา กอนช. ได้เดินหน้าลงพื้นที่ฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.อุบลราชธานี และ จ.พิษณุโลก ซึ่งได้จำลองและประเมินสถานการณ์ตามบริบทของพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากหน่วยงานภายใต้ กอนช. สำหรับลงพื้นที่ซ้อมแผนฯ ในพื้นที่ภาคกลางครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จากสำนักงานชลประทานที่ 12 ในการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดชัยนาท มีขั้นตอนการฝึกซ้อม ประกอบด้วย การจำลอง การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และศูนย์ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้

“การดำเนินการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย เป็นความตั้งใจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ที่มีความห่วงใยประชาชนในช่วงฤดูฝนปีนี้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในมาตรการที่ 10 การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และมาตรการที่ 11 การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ซึ่งหน่วยงานภายใต้ กอนช. ในส่วนกลาง ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อฝึกการเตรียมความพร้อม ด้านบุคลากร ทรัพยากร สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้ ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว