กทม.คาด "โควิด" ระลอกใหม่ สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในอีก 1 เดือน

กทม.คาด "โควิด" ระลอกใหม่ สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในอีก 1 เดือน

กทม.คาด "โควิด" ระลอกใหม่ สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในอีก 1 เดือน เตือนปชช.กลุ่มเสี่ยง 608 สวมใส่หน้ากากอนามัย-รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

วันที่ 5 ก.ค. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กทม. ครั้งที่ 24/2565 ณ ห้องนพรัตน์ กทม. ว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กทม.จึงได้จัดทำมาตรการเชิงรุกที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งเมื่อติดแล้วมีอาการไม่มาก แต่อาจนำเชื้อไปติดผู้ที่ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์) ได้ 

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หลังมีประกาศผ่อนปรนเรื่องหน้ากากอนามัย พบว่าเด็กนักเรียนมีการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กโต รวมถึงพบว่ากลุ่ม 608 ที่ติดเชื้อจะมีการครองเตียงผู้ป่วยวิกฤติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากข้อกังวลดังกล่าว สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย จึงได้เตรียมพร้อมระบบส่งต่อ ศูนย์เอราวัณ อัตราการครองเตียง และจัดทำแผนสำรอง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยคาดการณ์จากสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงขึ้นในอีก 1 เดือน และเดินหน้าตามแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ผู้ที่รับวัคซีนเข็มล่าสุดมานานแล้ว โดยให้บริการเชิงรุกในชุมชน ควบคุมไปกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก Active Case Finding เพื่อให้ กทม.มีฐานข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

กทม.คาด \"โควิด\" ระลอกใหม่ สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในอีก 1 เดือน

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มเด็กนักเรียนสังกัดกทม. ระหว่างวันที่ 17 พ.ค.-4 ก.ค.65 นักเรียนทั้งหมด 253,515 คน พบติดเชื้อ 0.74 % แบ่งเป็น นักเรียนระดับอนุบาล จำนวน 36,854 คน ติดเชื้อ 148 คน คิดเป็น 0.40 % ระดับประถมศึกษา จำนวน 176,496 คน ติดเชื้อ 1,375 คน คิดเป็น 0.78% ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 35,706 คน ติดเชื้อ 304 คน คิดเป็น 0.85% และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 4,459 คน ติดเชื้อ58 คน คิดเป็น 1.30 % 

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ขณะเดียวกัน กทม.ได้ดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัย ป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา กทม. ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม 7 มาตรการเข้ม ดังนี้ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ 1.เว้นระยะห่าง1-2 เมตร (Distancing) 2.สวมหน้ากาก(Mask wearing) 3.ล้างมือ(Hand washing) 4.ตรวจคัดกรอง(Testing) 5.ลดแออัด(Reducing) 6.ทำความสะอาด (Cleaning) 

กทม.คาด \"โควิด\" ระลอกใหม่ สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นในอีก 1 เดือน

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า นอกจากนี้ รวมถึง 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ได้แก่ 1.ดูแลตนเอง (Self-care) 2.ใช้ช้อนส้อมส่วนตัว (My Spoon) 3.ทานอาหารปรุงสุกใหม่ (Eating) 4.ลงทะเบียนเข้า-ออก (Tracking) 5.สำรวจตรวจสอบ อาการตนเอง(Self check) 6.กักกันตนเองหากติดเชื้อ (Isolation) และ 7 มาตรการเข้ม ได้แก่ 1.ประเมิน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานผลผ่าน MOECOVID 2.ทำกิจกรรมกลุ่มย่อย (Small Bubble) หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน3.จัดระบบการให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์มาตรฐาน (การระบายอากาศ การจัดการขยะ) 5.แผนเผชิญเหตุ มีการซักซ้อม รวมถึงการเตรียมพร้อม School Isolation 6.ควบคุมดูแลการเดินทางเข้า-ออกสถานศึกษา และ7.School Pass สำหรับนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา (ข้อมูล TST ผลการตรวจคัดกรองเชื้อ ประวัติการรับวัคซีน) 

“สถานบริการพักฟื้นผู้สูงอายุก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่กทม.เฝ้าระวัง  หากพบการระบาดจะใช้วิธีBubble Seal หากทำได้ หรือใช้วิธีการส่งต่อ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่อาศัยร่วมกับกลุ่ม 608 หรือเป็นกลุ่ม 608 สวมหน้ากากอนามัยให้มากที่สุด หากมีข้อสงสัยว่ามีอาการให้รีบกักตัวเอง และไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ณ หน่วยบริการใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่”ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว