ยืนยัน! พบ "หลุมอุกกาบาตแฝด" หลุมใหม่บน "ดวงจันทร์" จากการชนของวัตถุปริศนา

ยืนยัน! พบ "หลุมอุกกาบาตแฝด" หลุมใหม่บน "ดวงจันทร์" จากการชนของวัตถุปริศนา

เผยภาพยืนยัน! พบ "หลุมอุกกาบาตแฝด" บนพื้นผิว "ดวงจันทร์" ที่เพิ่งเกิดใหม่ในปี 2565 นี้ จากการชนของวัตถุปริศนา

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา The Lunar Reconnaissance Orbiter Camera (LROC) เป็นกล้องที่ติดกับยานสำรวจอวกาศ Lunar Reconnaissance Orbiter (LRO) โคจรอยู่รอบ "ดวงจันทร์" ได้เปิดเผยภาพ "หลุมอุกกาบาตแฝด" หลุมใหม่ ที่บันทึกได้ในวันที่ 21 พฤษภาคม เมื่อเทียบกับภาพถ่ายจากบริเวณเดียวกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ก่อนหน้านั้นยังไม่มีปรากฏมาก่อน จึงยืนยันได้ว่าเป็นหลุมอุกกาบาตที่เพิ่งเกิดใหม่ในปีนี้

 

 

ซึ่งช่วงระยะเวลา บวกกับตำแหน่งของหลุมที่ประจวบเหมาะกับตำแหน่งการชนที่ทำนายเอาไว้ของวัตถุปริศนา จึงอาจยืนยันได้ว่าหลุมอุกกาบาตแฝดนี้ น่าจะเป็นที่พำนักสุดท้ายของวัตถุปริศนาที่ชนดวงจันทร์ไปในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาอย่างถาวร

 

สิ่งที่น่าแปลกประหลาดที่สุดสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับการค้นพบนี้คือ สภาพของหลุมอุกกาบาตที่เป็นลักษณะหลุมแฝด มีเส้นผ่านศูนย์กลางของหลุมในทางทิศตะวันออกที่ 18 เมตร ในขณะที่หลุมทางทิศตะวันตกมีขนาด 16 เมตร สองหลุมนี้ซ้อนกันอยู่มีความยาวรวม 28 เมตร ซึ่งหลุมอุกกาบาตแฝดที่เกิดจากการชนของชิ้นส่วนยานอวกาศนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยค้นพบมาก่อน

 

 

ปัจจุบัน LRO เป็นเพียงหนึ่งในยานสำรวจอวกาศไม่กี่ลำ ที่สามารถถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ที่ละเอียดที่สุด และสามารถสังเกตเห็นหลุมอุกกาบาตที่เกิดจากการชนกันของชิ้นส่วน S-IVB โครงการอพอลโลนั้นมีขนาดหลุมใกล้เคียงกัน แม้ว่าหลุมที่เกิดจาก S-IVB จะมีรูปร่างไม่สมมาตรเท่าใดนัก แต่ก็ไม่เคยมีหลุมใดที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับหลุมแฝดที่เกิดขึ้นจากวัตถุปริศนานี้เลย เป็นไปได้ว่าวัตถุที่ชนนี้อาจจะมีมวลส่วนมากกระจายตัวอยู่ในส่วนปลายทั้งสอง

 

แม้ว่าทุกวันนี้ตัวตนของวัตถุปริศนาที่พุ่งชนดวงจันทร์นั้นจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่รูปร่างอันแปลกประหลาดของหลุมนี้อาจจะช่วยระบุขอบเขตที่เป็นไปได้ของวัตถุปริศนานี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

 

ยืนยัน! พบ "หลุมอุกกาบาตแฝด" หลุมใหม่บน "ดวงจันทร์" จากการชนของวัตถุปริศนา


ภาพ : ภาพของหลุมอุกกาบาตแฝดที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่จากการชนของวัตถุปริศนาในวันที่ 4 มีนาคม 2565 กับพื้นผิวของดวงจันทร์ด้านไกลในบริเวณใกล้กับหลุมอุกกาบาตเฮิรตซ์สปรุง โดย Lunar Reconaissance Orbiter Camera (LROC) ภาพโดย NASA/GSFC/Arizona State University

 

เรียบเรียง : ดร.มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. 

ที่มา FB : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม

(1) http://lroc.sese.asu.edu/posts/1261
(2) https://www.facebook.com/photo/?fbid=306834184820464
(3) https://www.facebook.com/photo/?fbid=313118754192007