ต้นทุน "ถ่านอัดแท่ง" ขยับขึ้น ก.ก.ละ 1 บาท หลัง ปชช. หันมาใช้แทน "แก๊สหุงต้ม"

ต้นทุน "ถ่านอัดแท่ง" ขยับขึ้น ก.ก.ละ 1 บาท  หลัง ปชช. หันมาใช้แทน "แก๊สหุงต้ม"

"ถ่าน" ขายดี ประชาชนกลับมาใช้แทนก๊าซ หลัง "แก๊สหุงต้ม" ราคาพุ่ง ทำต้นทุนของถ่านอัดแท่งจากแหล่งผลิตขยับขึ้นกก.ละ 1 บาท

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 65 บรรยากาศในตัวเมืองโคราช หลังราคาก๊าซหุงต้มขึ้นราคากิโลกรัมละ 1 บาททุกเดือน ประชาชนได้หันมาใช้สิ่งทดแทนก๊าซหุงต้มคือ “ถ่าน” เป็นเชื้อเพลิงหลักในการประกอบอาหาร นางประภา  ป้ายจัตุรัส อายุ 60 ปี  เจ้าของร้านขายของโชว์ห่วย บริเวณหน้าทางเข้าตลาดย่าโม เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้จำหน่ายถ่านย่างยูคาปลีกถุงละ 50-60 บาท ตรึงราคานี้นานกว่า 2-3 ปี ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ประสบปัญหาน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบทำให้ราคาต้นทุนปรับขึ้น 5 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่บรรดาผู้ประกอบการค้าในตลาด แต่ขณะนี้เริ่มพบลูกค้าหน้าใหม่มาซื้อไปใช้เพิ่มขึ้น

นางณัชชา  แสนกลาง อายุ 42 ปี พนักงานร้าน เปิดเผยว่า ได้เตรียมรับถ่านมาเพิ่มขึ้นอีก ต้องยอมรับสังคมในเมืองส่วนใหญ่ใช้ก๊าซซึ่งสะดวกสบาย หากสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลไม่ตรึงราคาก๊าซหุงต้มจะส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอนและมีบางรายต้องใช้ถ่าน เพื่อลดต้นทุน

นางสาวกาญจนา วิ่งพิมาย เจ้าของร้าน น.ชัย ค้าข้าว จำหน่ายปลีกและส่งข้าวสาร ถ่านอัดแท่ง เปิดเผยว่า ทางร้านจำหน่ายถ่านอัดแท่ง 2 ชนิด คือ ไม้เบญจพรรณ จำหน่ายราคา กก.ละ 11 บาท เน้นใช้ประกอบอาหารประเภทอุ่นตุ๋น ได้ความร้อนที่คงที่และนานกว่าถ่านธรรมดา  และถ่านจากกะลา จำหน่ายราคา กก.ละ 16 บาท  คุณสมบัติมีความร้อนเทียบเท่าถ่านไม้แบบปกติ ได้รับความนิยมมากว่า ผ่านมาถ่านอัดแท่งยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก แต่เมื่อราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นทุกเดือน ขณะนี้มีลูกค้าเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ตามครัวเรือน เริ่มสนใจมาสอบถามเลือกซื้อกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้นทุนของถ่านอัดแท่งจากแหล่งผลิต เพิ่มขึ้น กก.ละ 1 บาท เนื่องจากผู้จำหน่ายจากแหล่งผลิตต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการของส่งสินค้า