งานวิจัยชี้ "กัญชา" มีผลต่อ "ไอคิว - อีคิว" เด็กต่ำกว่า 20 แย่ลง

งานวิจัยชี้ "กัญชา" มีผลต่อ "ไอคิว - อีคิว" เด็กต่ำกว่า 20 แย่ลง

สสส. หนุนงานวิชาการ ชี้ ประโยชน์-โทษกัญชา ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ด้าน ผอ.ศศก. ขอความร่วมมือครู-ผู้ปกครองทำความเข้าใจเด็กและเยาวชน ป้องกัน "กัญชา" กระทบสมอง IQ - EQ ลดลง

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 หลังจาก "ปลดล็อกกัญชา" นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับหลายภาคีเครือข่าย และนักวิชาการ เพื่อศึกษาองค์ความรู้ทางวิชาการทั้งประโยชน์ และการป้องกันการใช้ "กัญชา" ในทางที่ไม่เหมาะสม

 

 

การสร้างการรับรู้และความตระหนักแก่สังคมในการใช้กัญชาอย่างถูกวิธีให้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยไม่ใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม มุ่งสู่การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่ประชาชน ตลอดจนการสนับสนุนให้มีกลไกภาคประชาสังคมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม ผ่านเครือข่ายเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 5 ภูมิภาค ครอบคลุม 44 จังหวัด 1,527 ชุมชน

 

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา ได้แก่ ใบ ช่อดอก เปลือก ราก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ทุกรูปแบบ ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติด

 

 

ยกเว้นสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่เกิน 0.2% ยังเป็นสารเสพติด เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากไม่ควบคุมทำให้คนอยากใช้มากขึ้น ซึ่งในทางการแพทย์หากไม่ได้รับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้กัญชาถือว่ามีความเสี่ยงต่อชีวิต สุขภาพ งาน และการขับขี่ยานพาหนะ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมให้รัดกุมในอนาคต โดยเฉพาะควบคุม "การสูบ" เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกคนในสังคม

 

รศ.พญ.รัศมน กล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี คือกลุ่มเสี่ยงหลังปลดล็อกกัญชา เพราะเป็นวัยอยากรู้ อยากลอง แนะนำให้ครูในโรงเรียนและผู้ปกครอง ทำความเข้าใจผลกระทบของกัญชา เช่น รับฟัง เปิดใจ ไม่ใช้อารมณ์ คุยกันอย่างซื่อสัตย์ จริงใจโดยไม่ใช้อารมณ์หรือทำให้หวาดกลัว เพราะจะทำให้เด็กและเยาวชนยิ่งอยากทดลองใช้ และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากกัญชา เช่น อาหาร ขนม เครื่องดื่ม รวมถึงการใช้ด้วยวิธีการสูบ เพราะกัญชาส่งผลกระทบต่อสมอง 

 

โดยงานวิจัยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ากัญชาทำให้ความสามารถทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของเด็กและเยาวชนต่ำลง ซึ่งจะนำมาซึ่งผลกระทบ ดังนี้

 

1. ผลกระทบระยะสั้น มึนเมา หากมีภาวะเป็นพิษเฉียบพลันจะเกิดอาการ หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตต่ำหรือสูงเกินไป ปาก-คอแห้ง ตาแดง หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์แปรปรวน และเห็นภาพหลอน

 

2. ผลกระทบระยะยาว หากใช้กัญชา 2-3 ปีขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคจิตเภท สมาธิสั้น ความคิด ความจำแย่ลง อ่อนล้า และเพลีย ทำให้ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ เพราะจากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่าสาร THC ส่งผลกระทบต่อสมอง หากไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์