“บิ๊กป้อม” ย้ำบริหารจัดการน้ำ 13 มาตรการรับมือฤดูฝน 

“บิ๊กป้อม” ย้ำบริหารจัดการน้ำ 13 มาตรการรับมือฤดูฝน 

"พล.อ.ประวิตร" ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะ เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และเน้นยำให้บริหารจัดการน้ำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำบ้านแม่ปูคา พร้อมระบบส่งน้ำ บ้านปูคาเหนือ ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดเชียงใหม่จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในโอกาสนี่ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สังกัดสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 พื้นที่ใน 4 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยป่าสันทราย ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย , ป่าแม่แจ่ม ในตำบลกองแขก และตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม, ป่าเชียงดาว ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว และป่าแม่ขานและป่าแม่วาง ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง, ตำบลดอนเปา ตำบลบ้านกาด ตำบลทุ่งปี๊ ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง โดยมีนายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนรับมอบเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นที่ทำกิน สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวต่อไป

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญและสนับสนุน การขับเคลื่อน เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ เท่าเที่ยม อย่างเรื่องที่ดินทำกิน ที่ประชาชน จะต้องมีที่ดินทำกินเพื่อเป็นแนวทางสร้างรายได้ และได้เน้นย้ำเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้กลไกของ คณอนุกรรมการ ทรัพยากรน้ำระดับจังหวัด เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชน ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณา ให้การสนับสนุนโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการ ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแล้วอย่างเคร่งครัด

 

รองนายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำให้จังหวัดเชียงใหม่ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการจัดทำแผนหลักการพัฒนา และแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า พร้อมเร่งดำเนินการ ให้แล้วเสร็จตามแผน และขอชื่นชม จังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในปีนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนจุดความร้อน และจำนวนวันที่มีฝุ่นละออง เกินค่ามาตรฐาน มีจำนวนลดลง จึงควรที่จะมีการถอดบทเรียน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในปีต่อ ๆ ไป รวมถึง การนำแนวคิด “เชียงใหม่โมเดล”

มาขยายผล เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ มีประสิทธิภาพมากขึ้น