5 คำแนะนำ เมื่ออนุญาตให้ใช้กัญชา ปลูก และผลิต ต้องจัดการอย่างไร

5 คำแนะนำ เมื่ออนุญาตให้ใช้กัญชา ปลูก และผลิต ต้องจัดการอย่างไร

หากประเทศไทยปลดล็อค"กัญชา" อนุญาตให้ใช้ ปลูก หรือผลิตกัญชา สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหามากมายตามมา

หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผล
บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

โดยคาดหวังประโยชน์ 3 เรื่อง คือ

1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

2. ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

3. เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพ

ซึ่งมีคนสนใจอยากทดลองปลูกและทดลองใช้จำนวนมาก ทางสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีข้อเสนอแนะต่อการอนุญาตให้มีการใช้ ปลูกและผลิตกัญชาในประเทศไทย ดังนี้

1. ต้องรู้ว่า กัญชาส่วนไหนควรใช้หรือไม่ควรใช้

กระทรวงสาธารณสุข ควรมีคำแนะนำที่ชัดเจนว่า แม้ว่าการปลดเสรีการปลูก โดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาส่วนต่างๆ ของต้นกัญชามาใช้ในการแพทย์สำหรับบางโรค และเพื่อการเกษตรในเชิงพาณิชย์ อาจเป็นประโยชน์

5 คำแนะนำ เมื่ออนุญาตให้ใช้กัญชา ปลูก และผลิต ต้องจัดการอย่างไร

แต่ต้องรู้ว่า ช่อและดอกของต้นกัญชานั้นมีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC ในระดับที่สูง ซึ่งสารนี้นอกจากมีฤทธิ์ที่ทำให้เสพติดได้ ยังสามารถก่อให้เกิดอาการทางจิต เช่น อาการหลอน ระแวง

แม้ว่าอาการเหล่านี้อาจจะเป็นอยู่ไม่นานในบางคน แต่ก็สามารถกระตุ้นให้บางคนมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องไม่หาย จนกลายเป็นโรคจิตและโรคจิตเภทได้ โดยเฉพาะในเด็ก เยาวชน และผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางจิต

2.ควรเริ่มจากใช้กัญชาทางการแพทย์

การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ควรเริ่มจากการใช้กัญชาในทางการแพทย์ โดยมีการวิจัยและพัฒนาไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการปลูกและการผลิตที่มีระบบควบคุมคุณภาพและควบคุมการเข้าถึง โดยมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับผลข้างเคียงการใช้ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา

3. ควรให้ความรู้ก่อนส่งเสริมการปลูกกัญชา

ก่อนที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างกว้างขวาง รัฐควรมีการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปอย่างรอบด้านทั่วถึง
ให้รู้ถึงประโยชน์ โทษ และข้อควรระวัง เพื่อให้การปลูกได้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการปลดล็อคกัญชา และลดโอกาสที่จะเกิดโทษหรือผลกระทบด้านลบต่อประชาชนและสังคมให้น้อยที่สุด

4.  ควรจำกัดการเข้าถึงกัญชา

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยมีความห่วงใย และอยากเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องจำกัดการเข้าถึงกัญชา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์

ในฐานะที่จิตแพทย์เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้พบ ตรวจ และรักษาผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้กัญชา ทั้งที่สามารถรักษาให้หายและไม่หายจากการใช้กัญชาเป็นประจำ ตั้งแต่กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษและได้เห็นผลในด้านลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากการใช้กัญชาต่อผู้ที่ใช้และครอบครัว

5. มาตรการที่รัดกุมในการใช้กัญชา

ก่อนการปลูกกัญชาอย่างเสรี รัฐบาลควรมีมาตรการที่นอกเหนือไปจากที่มีในขณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง เนื่องจาก

-เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่

-กัญชาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพ และหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้

-การเสพติดกัญชาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

-กัญชาเป็นเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคจิต และจิตเภทได้

โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยพร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลในด้านวิชาการเมื่อมีการร้องขอ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกการควบคุมดังกล่าว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน