สนค. เปิดผลการศึกษา CLMVT Forum หวังเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่ของโลกแห่งใหม่

สนค. เปิดผลการศึกษา CLMVT Forum หวังเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่ของโลกแห่งใหม่

 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย การศึกษาผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) บ่งชี้ชัด รัฐลงทุนจัดงาน CLMVT Forum เกิดผลผลิตสร้างคุณค่าคืนสู่สังคมสูง 4.49 เท่า และ CLMVT มีโอกาสเป็นฐานการผลิตสินค้า และศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานโลกแห่งใหม่

 สนค. กระทรวงพาณิชย์ และศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาออนไลน์เผยแพร่ผลการศึกษาโครงการ CLMVT Forum  ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน และการเสวนา “โอกาสใน CLMV สำหรับผู้ประกอบการไทย” เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจากนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และมี ผศ.ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์และหัวหน้าโครงการศึกษาฯ ดำเนินการสัมมนา ส่วนวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน มีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนารวมกว่า 250 คน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ เปิดเผยว่า สนค.ริเริ่มจัดงาน CLMVT Forum  มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นเวทีหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านนโยบายและข้อเสนอแนะระหว่างผู้แทนระดับสูงภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการในภูมิภาค ภายใต้หัวข้อหลักที่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญและได้รับความสนใจในวงกว้างในขณะนั้น “ที่ผ่านมา CLMVT Forum ได้สร้างผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นประโยชน์หลายประการที่เป็นข้อเสนอ เช่น การใช้ประโยชน์ทุนมนุษย์เพื่อให้มีขีดความสามารถใช้ประโยชน์ทางการค้าในยุคดิจิทัล การบ่มเพาะและสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเพื่อให้เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานของโลกแห่งใหม่ โดยเฉพาะเมื่อวิกฤติโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบของโลก” 

สนค. เปิดผลการศึกษา CLMVT Forum หวังเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่ของโลกแห่งใหม่


  
“ในปีงบประมาณ 2565 สนค.จึงร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาโครงการ CLMVT Forum  และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนเพื่อประเมินผลสำเร็จของโครงการและผลการดำเนินงานต่อเนื่องตั้งปี 2559 ถึง 2564 ว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากน้อยเพียงใด มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการใช้เงินงบประมาณหรือไม่ โดยข้อมูลจากการศึกษาและข้อเสนอแนะจากโครงการจะช่วยให้ สนค. สามารถปรับปรุงพัฒนาแนวทางการจัด CLMVT Forum  ครั้งต่อๆ ไปในอนาคต” นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
 
ผศ.ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) เป็นวิธีการประเมินผลลัพธ์และคุณค่าทางสังคม ที่พัฒนามาจากหลักการประเมินประโยชน์เทียบกับต้นทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่นิยมใช้ประเมินการลงทุนสาธารณะของรัฐบาล และ  “ผลการศึกษากรณีงาน CLMVT Forum ระบุว่า ผู้ที่เคยเข้าร่วมงาน สามารถนำผลลัพธ์ไปสร้างรายได้ การค้า การลงทุน ประเมินเป็นมูลค่าได้ถึง 308 ล้านบาท และการลงทุนใน CLMVT Forum รวมทั้งโครงการต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนต่อสังคมสูงถึง 4.49 เท่าของมูลค่าการลงทุน” 

ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMVT ยังได้ประโยชน์ร่วมกันอีกอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ (1) เกิดความร่วมมือทางธุรกิจเป็นรูปธรรม (2) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาข้อมูลและคู่ค้า (3) ได้รับข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้สถานการณ์เศรษฐกิจและเปิดมุมมองใหม่ และ (4) เสริมสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ทั้งนี้ ผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่า CLMVT Forum  ควรอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือดำเนินการในรูปแบบเดียวกับ World Economic Forum แต่อยู่ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยให้สมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และควรมีกิจกรรมหรือโครงการติดตามผลต่อเนื่องมากกว่าปีละ 1 ครั้ง ตลอดจนจัดให้มีการแสดงสินค้า การนำเสนอนวัตกรรมใหม่  นำเสนอแผนธุรกิจใหม่ การจับคู่ทางธุรกิจโดยอาจใช้ภาษาท้องถิ่นได้ในบางกิจกรรม
      
ด้าน รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่กล่าวถึง “โอกาส CLMV สำหรับผู้ประกอบการไทย” ว่า “สถานการณ์ในประเทศของเมียนมาทำให้การค้าขายกับไทยลดลง  เนื่องจากสินค้าไทยไปถึงมือผู้บริโภคยากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ สปป.ลาว เป็นประเทศเล็ก ประชากรมีไม่มาก มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว เมื่อเกิดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าทุกอย่างแพงขึ้น สินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ไม่เป็นที่สนใจของตลาด ซึ่งสถานการณ์ในลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในกัมพูชา แต่เวียดนามกลับมีสัญญาณบวก และเป็นประเทศที่น่าจับตามอง”
       
ส่วน นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียนมองว่า “จำนวนประชากรสำคัญต่อการขยายตัวการค้า เพราะใน CLMV มีประชากรรวมถึง 180 ล้านคน และโอกาสของสินค้าไทยยังมีมาก แต่ทุกประเทศมีอุปสรรคจากปัจจัยภายในแตกต่างกันไป เช่น เวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจของสินค้าเด็ก แต่ต้องเข้าใจช่องทางและเงื่อนไขการขายและจัดจำหน่าย” 

 “CLMVT Forum เป็นผลผลิตจากเงินงบประมาณของรัฐที่สามารถสร้างผลประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สนค. จึงหวังว่า การดำเนินงานในเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ภายในประเทศ จนมั่นคงและขยายผลต่อยอดไปสู่ภูมิภาค CLMVT อาเซียน และระบบเศรษฐกิจของโลกได้”นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในตอนท้าย