แม่ฮ่องสอน พร้อมรับมือกับน้ำป่าไหลหลาก-ดินโคลนถล่ม

แม่ฮ่องสอน เตรียมความพร้อมชุดปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อพร้อมรับมือกับ สถานการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในห้วงฤดูฝนนี้

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65 ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 บ้านม่อนตะแลง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบหมายให้ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดกิจกรรมการตรวจความพร้อมชุดปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 ได้ร่วมบูรณาการกับส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) มูลนิธิฯองค์กรการกุศล ประชาชนจิตอาสา และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมดังกล่าวฯ เพื่อรับเตรียมความพร้อมในสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม เป็นการเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ การเพิ่มขีดความสามารถ ความชำนาญของกำลังพล ในการใช้ยุทโธปกรณ์ เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างปลอดภัย และทันท่วงที รวมทั้งมีการวิเคราะห์สถานการณ์ของพื้นที่ประสบภัย บูรณาการวางแผน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยทาง ฉก.ร.7 ได้มีการจัดกำลังพลสนับสนุนจำนวน 10 ชุดปฏิบัติการ

ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แจ้งว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2565 ว่าฤดูฝนของประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 65 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้นั้น ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูงสลับซับซ้อน จึงอาจก่อให้เกิดเหตุอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มได้ง่าย ดังนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งการเฝ้าระวังการป้องกัน การเผชิญเหตุ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากเหตุสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น