สมาคมเลี้ยงไก่ฯ เบรกปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำเพิ่ม OT เพื่อเสริมรายได้

สมาคมเลี้ยงไก่ฯ เบรกปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำเพิ่ม OT เพื่อเสริมรายได้

นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ เบรกปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ย้ำช่วงนี้ยังไม่สามารถทำได้ สาเหตุเพราะวิกฤตโควิด-19 และการสู้รบระหว่าง รัสเซียกับยูเครน ทำผู้ประกอบการประสบปัญหา แนะทางออกดีสุดคือ เพิ่มโอที. เพื่อเพิ่มรายได้ให้ภาคแรงงาน

จากกรณีที่เครือข่ายแรงงาน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล ประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ เท่ากันทั้งประเทศในอัตรา 492 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น

ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ 1 ใน 5 ของประเทศ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยระบุว่า แม้ผู้ประกอบการจะเห็นใจลูกจ้าง จากผลกระทบราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นถ้วนหน้า แต่หากดูในแง่ของเวลาแล้ว เชื่อว่ายังไม่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระที่หนักมากเช่นกัน ทั้งเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งได้มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนราคาน้ำมัน ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในภาคการขนส่ง เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่นๆ ที่ปรับขึ้นถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ อย่างรุนแรง ขณะที่ภาคส่งออก ยังต้องเจอปัญหาตู้สินค้า และเรือขนส่งสินค้าที่ดีเลย์อยู่ตลอดเวลา แต่หากถามว่า จำเป็นต้องขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าจำเป็นมาก เพราะตอนนี้ราคาของกินของใช้ ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปหมดแล้วเช่นกัน เพียงแต่ผู้ประกอบการขอเวลาปรับตัวก่อนสักระยะ เพื่อให้ภาคธุรกิจและแรงงาน สามารถประคับประคองไปด้วยกัน แต่หากให้ปรับขึ้นค่าแรงในช่วงนี้ เกรงว่าภาคธุรกิจก็จะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ สุดท้ายแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง

ดร.ฉวีวรรณ ยังได้เสนอทางออก ในการปรับขึ้นค่าแรงด้วยว่า ทั้งลูกจ้าง และแรงงาน ต้องเข้าใจตรงกันว่า การขึ้นค่าแรงเป็น 492 บาท ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่นายจ้างสามารถหาทางออกได้ ด้วยการเพิ่มเวลา หรือทำโอที. เพื่อให้ลูกจ้างได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และนายจ้างเองแม้ต้องจ่ายมากขึ้น แต่ก็จะได้สินค้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ปัจจุบันก็ต้องหันมาใช้วิธีจ้างเหมา เพื่อให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างมากขึ้น และผู้ประกอบการ ก็จะได้สินค้ามากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้ลูกจ้างสามารถได้ค่าจ้างถึงหลักพันบาทต่อวันได้