สตง.ส่งหนังสือค้านให้คลื่น 900 MHz กับ 'ADVANC'

สตง.ส่งหนังสือค้านให้คลื่น 900 MHz กับ 'ADVANC'

"ฐากร" เผย "สตง." ส่งหนังสือด่วนค้านการให้คลื่น 900 MHz กับ ADVANC ชี้ผิดพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ - ไม่เกิดการแข่งขันเสรี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำเอกสารที่ระบุว่าเป็นหนังสือด่วนของทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ส่งมาถึง กสทช.ลงวันที่ 7 เม.ย.59 มาโพสต์ลงในทวิตเตอร์ โดย สตง.ระบุหัวเรื่อง "การขอให้พิจารณาทบทวนข้อเสนอของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ขอรับช่วงคลื่นต่อจากบริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ ที่ประมูลได้ในราคา 75,654 ล้านบาทอย่างรอบคอบ"

ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า หาก กสทช. กทค. พิจารณาให้บริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ได้คลื่นความถี่ 900 MHz โดยไม่มีการประมูล ถือเป็นการอนุญาตที่ผิดพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45

นอกจากนี้ อาจมองได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างแท้จริงและเป็นธรรม อันเป็นการเอื้อประโยชน์โดยการให้สิทธิแก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 และอาจเข้าข่ายเจ้าพนักงานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

สตง.มองว่า การกล่าวอ้างว่าหากนำคลื่นออกมาประมูลใหม่โดยใช้ราคาที่แจสโมบายฯ ประมูลได้เพราะคาดว่าจะไม่มีผู้สนใจนั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ เพราะอย่างน้อย เอไอเอส ย่อมสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้ บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค ในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งก่อนด้วยก็อาจสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน

"หากมีการตัดสินใจให้เอไอเอสได้คลื่นความถี่โดยไม่มีการประมูลจะเป็นการไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้ว อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หากผู้ประกอบการรายอื่นยกเป็นเหตุในการฟ้องร้องดำเนินคดี" สตง.ระบุในหนังสือด่วน

สำหรับกรณีที่เอไอเอสขอให้ กสทช.คุ้มครองลูกค้า 2G จำนวน 4 แสนรายและมีที่ใช้บริการโรมมิ่งอีกราว 7.8 ล้านเลขหมายสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องก่อนสิ้นสุดระยะเวลาซิมดับภายใต้การคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองในวันที่ 14 เม.ย.นั้น สตง.เห็นว่า หาก กสทช.ให้ความคุ้มครองหรือกำหนดมาตรการใดๆ เพื่อให้ทางเอไอเอสไม่ต้องโรมมิ่งกับทางดีแทค อาจถือว่า กสทช.ดำเนินการขัดกับประกาศคุ้มครองฯ และอาจเป็นมูลเหตุให้ผู้เสียประโยชน์ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องร้องได้ในที่สุด

นอกจากนี้การที่เอไอเอส ยังมีลูกค้าคงค้างจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ายังมีลูกค้าในระบบ 2G ซึ่งไม่โอนไปใช้บริการโทรศัพท์ 3G ของ AWN ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต 2100 MHz อีกทั้งลูกค้าที่โอนย้ายไปแล้วจำนวน 7.8 ล้านเลขหมายดังกล่าวอาจเป็นลูกค้าที่เอไอเอสโอนย้ายไปอย่างผิดกฎหมายตามที่ สตง. ได้เคยส่งหนังสือให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบข้อเท็จจริง และปรากฎผลว่าเอไอเอสมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมายจริง

ส่วนลูกค้า 2G ที่คงค้างตามที่เอไอเอสแจ้งว่ามีเพียง 400,000 เลขหมาย ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าสิทธิในลูกค้าควรเป็นของใคร และจำนวนลูกค้าคงค้างที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใด ดังนั้น หากทาง กสทช. และ กทค.ยอมรับข้อเสนอของเอไอเอสจึงเท่ากับเป็นการแสดงเจตนาส่งเสริมให้การโอนย้ายลูกค้าไปอย่างผิดกฎหมาย ให้เป็นการโอนย้ายลูกค้าโดยชอบด้วยกฎหมายทันที รวมถึงสร้างความชอบธรรมในสิทธิของลูกค้า โดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงจำนวนลูกค้าที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน