อนาคตของเมืองภูเก็ต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

อนาคตของเมืองภูเก็ต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยได้ไปเยี่ยมเยือน รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศ จากการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก

ในช่วงเดียวกัน ผู้เขียนมีโอกาสได้ตั้งวงสนทนาผ่านกระบวนการมองภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) กับชาวเมืองภูเก็ต เพื่อวาดภาพอนาคตของเมืองไปในอนาคตในระยะที่ยาวขึ้นกว่าการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน และพบว่ามีความน่าสนใจหลายประการที่น่าแบ่งปัน

ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของประเทศไทย เมื่อมองจากมุมกว้าง ภูเก็ตได้เปลี่ยนผ่านจากเมืองเหมืองแร่ มาสู่เมืองเกษตรกรรม และปรับตัวสู่เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลก

ภูเก็ตเผชิญกับวิกฤติครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือเหตุการณ์สึนามิ ปี 2547 แต่สามารถฟื้นการท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1 ปี และครั้งที่สองคือวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษถึง 2-3 ปี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักเพียงอย่างเดียว

ภูเก็ตขึ้นชื่อในด้านชายหาดที่น่าหลงใหลและสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่มีชีวิตชีวา เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความทันสมัยและประเพณีท้องถิ่น เป็นเมืองสร้างสรรค์ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกว่าเป็น Gastronomy City แห่งหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ตาม ภูเก็ตกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การขยายตัวของเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อม

ภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย พฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการโรงแรมภูเก็ตสะท้อนว่า หมดยุคแล้วกับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในการรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากนักเดินทางในปัจจุบันแสวงหามากกว่าบริการแบบปกติ แต่กำลังค้นหาจุดหมายปลายทางที่นำเสนอประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ

เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ให้รุ่มรวยและหลากหลาย ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นของเมืองและโรงแรม ที่ต้องเปลี่ยนจากพื้นที่แบบมาตรฐานไปสู่การออกแบบประสบการณ์ใหม่ๆ

อีกทั้งมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกับกลุ่มนักเดินทางปัจเจกและแบบ Digital Nomad ที่หันมาใช้วิถีชีวิตที่ผสมผสานการทำงานกับการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้น ภูเก็ตก็จำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับกลุ่มประชากรใหม่นี้ เช่น การปรับเรื่องวีซ่า สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ

อนาคตของเมืองภูเก็ต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

การเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเป็นทั้งโอกาสเพื่อยกระดับภูเก็ตสู่เมืองดิจิทัลและเอไออย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็มีความท้าทายอย่างยิ่งต่อโรงแรมหรือสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจไม่มีเงินทุนจำนวนมากพอเพื่อนำเทคโนโลยียุคใหม่เหล่านี้มาใช้ 

อีกทั้งความท้าทายของตลาดแรงงานก็กำลังเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน ทั้งในด้านการขาดแคลนแรงงานบริการและคุณค่าที่เปลี่ยนไปของรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นแบบใหม่ล้วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบริการในภูเก็ต

ภูเก็ตกำลังเผชิญกับการขยายตัวของเมืองอย่างเด่นชัด แต่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ก้าวทัน ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ชาวเมืองและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวมีความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสภาพแวดล้อมได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการขยายตัวของเมือง 

ปัญหาต่างๆ เช่น ความงามของท้องทะเลที่ลดลง ขยะที่เพิ่มขึ้นและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหากขาดเสน่ห์ด้านธรรมชาติทางทะเลแล้ว ภูเก็ตก็อาจจะหมดความสำคัญต่อชาวโลกได้

ในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากภูเก็ตมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักเพียงขาเดียว รัฐบาลจึงต้องสำรวจเส้นทางเศรษฐกิจทางเลือกใหม่สำหรับภูเก็ตด้วย การพึ่งพาการท่องเที่ยวมวลชนในปัจจุบันและการดึงต่างชาติมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่อาจสามารถฟื้นฟูอุตสาหกรรมโรงแรมและท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้

ในฉากทัศน์อนาคต ภูเก็ตสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงโมเดลเศรษฐกิจ แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว หากสามารถปรับเปลี่ยนเป็น “ศูนย์กลางบริการสุขภาพ” และ "ศูนย์กลางการศึกษา” ระดับโลกได้

อนาคตของเมืองภูเก็ต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

แต่หากปราศจากนโยบายที่เหมาะสมและเตรียมการล่วงหน้า ก็ไม่แน่ว่าอาจเกิดฉากทัศน์ที่ภูเก็ตถดถอยลง และเสี่ยงที่จะอาจกลายเป็นเมืองร้างคล้ายกับสถานการณ์ของเมืองสีหนุวิลล์ในปัจจุบัน

รัฐบาลจำเป็นต้องคิดอย่างจริงจังถึงการเปลี่ยนแปลงภูเก็ตให้เป็น “เขตพื้นที่บริหารพิเศษ” ที่มีโมเดลที่เหมาะสมเพื่อให้มีความคล่องตัวและตอบสนองความพิเศษของเมืองมากขึ้น ทั้งการแบ่งเขตโซนนิ่งพื้นที่อย่างเหมาะสม การเชื่อมต่อระหว่างทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ การพัฒนาบริการรับส่งระหว่างหาด ทางหลวง และโดรนเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างจุดภายในเมือง

ด้วยศักยภาพของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น สนามบิน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและเมือง และควรสามารถเลือกคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากขึ้นในอนาคต

อนาคตของเมืองภูเก็ตอยู่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หลังจากบอบซ้ำจากวิกฤติโควิด-19 ในระยะสั้น องคาพยพของรัฐบาลใหม่ควรตั้งทีมเข้าไปเพื่อฟื้นฟูเมืองภูเก็ตเป็นพิเศษ

ทั้งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นอย่างเรื่องวีซ่า การให้สินเชื่อใหม่นำโดยสถาบันการเงินภาครัฐ การจัดการสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ไปจนการวางแผนระยะยาวร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อยกระดับภูเก็ตสู่เมืองอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป.