ฮือฮา "ปลาฉลามเสือดาว" อวดโฉมใต้ท้องทะเลเกาะบิดะนอก อุทยานฯกระบี่ (คลิป)

"ปลาฉลามเสือดาว" อวดโฉมใต้ท้องทะเลเกาะบิดะนอก ต.อ่าวนาง อ.เมือง แหล่งดำน้ำดูปะการังที่สำคัญของพื้นที่จังหวัดกระบี่

(25 ม.ค.2566) เผยคลิป "ปลาฉลามเสือดาว" จาก อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พื้นที่ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาระหว่างที่ทำกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลบริเวณเกาะบิดะนอก ต.อ่าวนาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการดำน้ำเพื่อเก็บขยะอยู่นั้น ได้พบกับ "ปลาฉลามเสือดาว" ความยาวประมาณ 2 เมตร ซึ่งเป็นฉลามที่มีความสวยงามเป็นอย่างมากกำลังนอนทอดตัวยาวอยู่ท้องทะเลอย่างสบายใจ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายภาพใกล้ๆตัวปลาฉลามเสือดาวไม่มีทีท่าที่จะว่ายน้ำหนีแต่อย่างใด ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิด

ปลาฉลามเสือดาว หรือ Leopard shark มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Triakis semifasciata เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาฉลามสุนัข

 

ฮือฮา \"ปลาฉลามเสือดาว\" อวดโฉมใต้ท้องทะเลเกาะบิดะนอก อุทยานฯกระบี่ (คลิป)

 

ลักษณะเด่น : มีหัวโต ตาเล็ก มีหนวดที่จมูก 1 คู่ ยาวถึงปาก ปากอยู่ด้านล่างของส่วนหัว เป็นแนวเส้นตรง มีร่องเชื่อมต่อระหว่างปากและจมูก ริมฝีปากล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม และมีร่องที่มุมปาก ปลายจะงอยปากทู่ โค้งมน โครงสร้างฟันที่ไม่ได้เป็นฟันเขี้ยวขนาดใหญ่แต่มีขนาดเล็กและเรียงชิดกันเหมาะสำหรับการกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีโครงสร้างเปลือกแข็งเป็นอาหาร

ปลาฉลามเสือดาว มีสันนูนตามยาวลำตัว 5 แถว ลำตัวเป็นหนังหนามีเกล็ดเป็นตุ่มแข็ง มีสีน้ำตาลหรือเหลืองอ่อน มีจุดสีดำ หรือ น้ำตาลเข้มกระจายตั้งแต่หลังตาไปถึงปลายหาง ลักษณะการกระจายตัวของจุดเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการระบุตัวตนได้ (Individual identification)

ด้านท้องมีสีขาว มีช่องเหงือกสั้น ครีบอกขนาดใหญ่ ครีบหลัง 2 อันอยู่ใกล้กัน ครีบหางใหญ่ยาวมาก เท่ากับหรือมากกว่า 50% ของความยาวตลอดตัว

ขนาด : ลูกปลาฉลามเสือดาวมีความยาว 20-36 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัย ตัวผู้มีความยาว 147 - 183 เซนติเมตร ตัวเมีย 169 - 171 เซนติเมตร เคยพบปลาฉลามเสือดาวความยาวสูงสุด 235 เซนติเมตร

 

ฮือฮา \"ปลาฉลามเสือดาว\" อวดโฉมใต้ท้องทะเลเกาะบิดะนอก อุทยานฯกระบี่ (คลิป)

 

ถิ่นอาศัย : ปลาฉลามเสือดาว พบแพร่กระจายอยู่ในทะเลเขตร้อน บริเวณพื้นทรายในแนวปะการัง มักพบอยู่รวมกัน 20-50 ตัว ในประเทศไทยสามารถพบ ปลาฉลามเสือดาว ได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

ข้อมูลทางชีววิทยา : ปลาฉลามเสือดาวเป็นปลาขนาดกลาง ออกลูกเป็นไข่ (Oviparous species) และมีบันทึกว่าสามารถวางไข่มากถึง 46 ฟอง ได้ภายในระยะเวลา 112 วัน ไข่ขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นกระเปาะทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ปลายมีเส้นใยสำหรับยึดเกาะวัตถุใต้น้ำ

ปลาฉลามเสือดาว มักอยู่โดดเดี่ยว โดยในช่วงระหว่างวัน มักพบเห็นปลาฉลามเสือดาวนอนอยู่บนพื้นทะเล โดยหันหัวและอ้าปากในทิศที่มีกระแสน้ำพัดเข้ามา เพื่อช่วยในการหายใจ และหากินในเวลากลางคืน โดยอาหารเป็นหอย ปู ปลาขนาดเล็ก และบางครั้งพบว่ากินงูทะเลด้วย

สถานภาพ

ปัจจุบัน ปลาฉลามเสือดาว อยู่ระหว่างการเสนอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อเข้าบรรจุตามกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (มาตรา7)

 

ฮือฮา \"ปลาฉลามเสือดาว\" อวดโฉมใต้ท้องทะเลเกาะบิดะนอก อุทยานฯกระบี่ (คลิป)

 

ข้อมูลประกอบจาก เว็บไซต์ระบบรับแจ้งรายงานการพบสัตว์ทะเลหายาก