เตือนผู้ค้า 'ลอตเตอรี่' เลี่ยงซื้อ 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ไปขายต่อ - เช็กวิธีตรวจสอบ

เตือนผู้ค้า 'ลอตเตอรี่' เลี่ยงซื้อ 'สลากกินแบ่งรัฐบาล' ไปขายต่อ - เช็กวิธีตรวจสอบ

สำนักงานสลากฯ เตือนผู้ค้า "ลอตเตอรี่" หลีกเลี่ยงซื้อ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" ไปขายต่อ ห่วงถูกหลอก พร้อมย้ำ สลากกินแบ่งมีมาตรฐาน ปลอมแปลงไม่ได้แน่นอน - เช็กวิธีตรวจสอบ

สืบเนื่องจากข่าวที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน กรณีแม่ค้าขาย  "ลอตเตอรี่" ไปซื้อ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" งวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 4 เล่ม รวม 400 ใบ ราคาใบละ 90 บาท จากตลาดที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อนำไปจำหน่าย ต่อมาพบว่าเนื้อกระดาษไม่เหมือนกับสลากที่จำหน่ายอยู่ จึงนำมาตรวจสอบที่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และพบว่าเป็นสลากปลอมทั้งหมดนั้น  

พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินการตรวจสอบ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" ทั้ง 400 ใบที่ผู้เสียหายนำมา และพบว่าเป็นสลากปลอม จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่พาผู้เสียหายไปแจ้งความที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ดังนั้น จึงขอเตือนตัวแทนจำหน่ายสลาก และผู้ซื้อจองล่วงหน้าฯ ให้ใช้ความระมัดระวังในการไปซื้อสลากจากบุคคลอื่นเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ

ทั้งนี้ หากได้รับการจัดสรรสลากแล้ว หรือเป็นผู้ซื้อจองล่วงหน้าฯ ที่ทำรายการได้แล้ว ควรจำหน่ายเฉพาะสลากที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานสลากฯ เท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก

 

เตือนผู้ค้า \'ลอตเตอรี่\' เลี่ยงซื้อ \'สลากกินแบ่งรัฐบาล\' ไปขายต่อ - เช็กวิธีตรวจสอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วิธีสังเกต ตรวจสอบ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" - "ลอตเตอรี่"

- ตรวจดูคุณลักษณะทั่วไปของสลาก คือ

  • ความหนาบางของกระดาษ
  • รูปภาพสลาก
  • ขนาดของตัวเลข
  • ขนาดของตัวอักษร

- ตรวจสอบคุณลักษณะพิเศษของสลาก

ให้สังเกตว่ากระดาษที่ใช้พิมพ์สลากจะมีลายน้ำในเนื้อกระดาษเมื่อส่องกับแสงไฟสีขาว หรือแสงสว่างจะมองเห็นลายน้ำรูปนกวายุภักษ์ในเนื้อกระดาษ และเมื่อส่องกับแสงไฟสีม่วง (แสงยูวี) จะมองเห็นเส้นไหม และเส้นที่พาดผ่านตัวเลข

สำหรับประชาชนผู้ซื้อ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" ขอให้มั่นใจว่า สลากทุกใบของสำนักงานพิมพ์ด้วยระบบที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามหลักมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 ทำให้ไม่สามารถปลอมแปลงได้

นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อสลากดิจิทัล ผ่านแอพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 17 ล้านใบ เป็นสลากของแท้จากสำนักงานสลากฯ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนอีกด้วย

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อรางวัล ขอให้ใช้ความระมัดระวัง ในการตรวจสอบสลากที่มีผู้มาขึ้นเงินรางวัล โดยในเบื้องต้นให้ใช้วิธีการเปรียบเทียบกับสลากของจริงของสำนักงานสลากฯ ในงวดนั้นๆ เพื่อหาความแตกต่างกับสลากที่ต้องการตรวจพิสูจน์ เช่น มีลักษณะเรืองแสง หรืออาจใช้น้ำสะอาดมาถูบนสลาก ซึ่งหมึกที่ใช้พิมพ์ตัวเลขสลากของจริงเมื่อถูกน้ำจะไม่ละลาย

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีตรวจหาร่องรอยการแก้ไขหรือการตัดแปะตัวเลขบนสลากได้โดยใช้กล้อง หรือแว่นขยายส่องบริเวณจุดที่สงสัยว่าจะมีการแก้ไข เช่น บริเวณหมายเลขสลาก หรืองวดวันที่ โดยนำตัวเลขจากฉบับอื่นมาปะทับบนตัวเลขที่ไม่ต้องการ หรือตัวเลขที่ไม่ถูกรางวัลเพื่อให้ได้หมายเลขตรงกับสลากที่ถูกรางวัล รวมทั้งการแก้ไขด้วยวิธีขูด ลบ ลอก ตัวเลขเดิมที่ไม่ต้องการออก แล้วนำตัวเลขจากสลากฉบับอื่นมาปะแทนเพื่อให้ได้หมายเลขตรงกับสลากที่ถูกรางวัล เป็นต้น
 
ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวในตอนท้ายว่า  ขอเตือนมิจฉาชีพที่ทำสลากปลอมการกระทำดังกล่าว มีความผิดตามกฎหมายอาญา ตามมาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ มีเจ้าหน้าที่ในส่วนงานที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์สลากโดยเฉพาะเพื่อให้บริการประชาชน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามมาที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โทร. 0-2528-9999