'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65

เทศกาล'คเณศจตุรถี' เทศกาลบูชาพระพิฆเนศประจำปีของชาวฮินดูและผู้นับถือศรัทธา มีวิธีบูชาอย่างไร และมีที่ไหนจัดงานบ้าง

เทศกาลคเณศจตุรถี เป็นเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อสักการะบูชาพระพิฆเนศ มีระยะเวลา 10-11 วัน โดยวันเริ่มงานวันแรกตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ

และสิ้นสุดใน วันอนันตะจตุรทศี ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนภัทรปท ตรงกับเดือนไทย ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ขึ้นกับปฏิทินจันทรคติ

 

ในปีนี้ พ.ศ.2565 วันแรกเริ่ม เทศกาลคเณศจตุรถี ตรงกับ วันพุธที่ 31 สิงหาคม และวันสิ้นสุดตรงกับ วันศุกร์ที่ 9 กันยายน

ผู้ศรัทธาจะปั้นองค์ พระคเณศ ขึ้นมาจากดิน แล้วทำการบูชา จากนั้นส่งเสด็จกลับสู่สวรรค์ ด้วยการนำเทวรูปที่บูชาไปลอยน้ำ เรียกพิธีนี้ว่า คเณศ วิสรฺชน

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65 Cr. พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

ชาว ฮินดู จะทำพิธีในบ้านหรือเทวลัย ส่วนในเมืองไทยมีพิธีบูชาที่เทวาลัย หรือวัดฮินดู หรือถ้าไม่สะดวกก็สามารถบูชาได้ที่บ้านได้

เริ่มจากทำความสะอาดเทวรูป บูชาด้วยผลไม้ นมสด ขนมต้ม ขนมลาดู โมทกะ ลูกหว้า มะขวิด ดอกไม้สีแดง ดอกชบาสีแดง หญ้าแพรก (ไม่ถวายของคาวหรือสุรา)

ก่อนบูชา อาบน้ำใส่เสื้อผ้าสะอาด สำรวมจิตใจ ขอพร ความสำเร็จ สมปรารถนา รอบรู้ สำเร็จการศึกษา ปราศจากอุปสรรค อันตราย เพราะพระพิฆเนศเป็นเทพแห่งความรู้ สติปัญญา ความสำเร็จ และขจัดอุปสรรคทั้งปวง

ใน เทศกาลคเณศจตุรถี จะบูชาทุกวันก็ได้ หรือ บูชาวันเดียวก็ได้ บูชาที่ไหนก็ได้  แต่ต้องทำให้ถูกต้อง

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65 Cr. พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

  • เฉลิมฉลองถึง 10 วัน

ในอินเดีย เมือง ‘มหาราษฏระ’ เป็นเมืองแรกเริ่มของเทศกาลนี้ จัดต่อเนื่องมาถึง 125 ปี และที่เมือง ‘มุมไบ’ จะมี ‘วัดสิทธิวินายัก’ สร้างขึ้นเพื่อสักการะพระพิฆเนศ

มีการแห่รูปปั้น 150,000 องค์ ช่างฝีมือใช้เวลาร่วมเดือนปั้นพระพิฆเนศจากดินเหนียวแต่งแต้มวิจิตรบรรจง มีพิธีอัญเชิญดวงจิตขององค์พระพิฆเนศให้มาสถิตย์อยู่ในรูปปั้นนั้น

ตั้งแต่วันเริ่มเทศกาล ผู้คนจะสักการะ พระพิฆเนศ ในบ้าน ด้วยการสวดมนต์และเซ่นไหว้ด้วย ข้าว ขนม น้ำตาลโตนด มะพร้าว ดอกไม้ เหรียญบูชาเทพเจ้า เจิมผงจันทน์หอมสีแดงบนหน้าผากของรูปปั้นพระคเณศ เป็นอันจบพิธีไหว้

เมื่อถึงวันสุดท้ายของเทศกาล ในเมืองคึกคักไปด้วยเสียงกลองและดนตรี ขบวนแห่เคลื่อนไปยังแม่น้ำสายหลัก เพื่อปล่อยรูปปั้นพระพิฆเนศที่ปั้นมาให้ลอยไปกับสายน้ำ

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65 Cr. พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

  • การเตรียมตัวบูชาในบ้านตนเอง

นำเทวรูป ที่เราบูชามาทำความสะอาด รวมถึงทำความสะอาดหิ้งพระและเทวรูปต่างๆ ด้วย

  • สิ่งของที่ควรจัดเตรียม (ควรเตรียมไว้ก่อน วันงานพิธี)

หาโต๊ะเล็ก ๆ หรือ อาสนะ อาจเป็นผ้าปู นิยมสีแดงสีส้ม สีที่พระคเณศทรงโปรด

จัดสถานที่บูชา หรือหน้าหิ้งบูชา ปูอาสนะบนโต๊ะ เสมือนที่ประทับรับรอง เวลาท่านเสด็จลงมา 

ข้าวสาร น้ำเปล่า ใส่ถ้วยพร้อมช้อนสะอาดสำหรับตักถวาย

น้ำปัญจมรัตน์ (นม นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต เนย น้ำผึ้ง น้ำตาลทรายหรือน้ำอ้อย) 

ผ้าสำหรับเช็ด น้ำสะอาดสำหรับล้างเทวรูป

ผ้าสำหรับแต่งเทวรูป ผ้านุ่ง ผ้าคลุม หรือด้ายฝ้ายสีแดง หรือย้อมสี ฉีกเป็นเส้น พอดีกับเทวรูป สำหรับคล้องแทน ผ้าต่างๆ

ผง สำหรับจุ่มเจิม ผงซินดู ผงกุมกุม ผงจันทร์  (ถ้าหาได้ทั้งหมดก็ดี หรือเท่าที่หาได้)

น้ำหอม สำหรับประพรมเทวรูป

เครื่องประดับ เช่น สร้อย กำไล ตกแต่งเทวรูป ถ้าไม่มี ถวายเหรียญเงินเหรียญทอง  หรือ ข้าวสาร (ใช้แทนของมีค่า)

ดอกไม้ มาลัย

ธูป หรือ กำยาน

ดวงประทีป หรือเทียน

ผลไม้ตามฤดูกาล ขนมหวาน ขนมลาดู โมทกะ

หมาก พลู หญ้าแพรก

เมื่อถึง วันคเณศจตุรถี วันที่ 31 สิงหาคม 2565 เริ่มทำบูชา ตั้งแต่ช่วงเช้า (หากไม่สะดวก เลือกช่วงที่สะดวก) เชิญเทวรูปที่เตรียมไว้ มาประดิษฐาน ยังอาสนะ ที่เตรียมไว้

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65 Cr. พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

  • เริ่ม ประกอบพิธี

1) พิธี อาวหนะ กล่าวอัญเชิญ กล่าวมนต์เชิญองค์พระคเณศ

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้

2) พิธี อาสนะ อัญเชิญเทวรูปขึ้นประทับยังแท่น หรืออาสนะที่เตรียมไว้

นำข้าวสาร  หรือดอกไม้ โปรยที่แท่น หรือ อาจเรียงเป็นรูปสวัสดิกะ แล้วนำเทวรูปวาง

3) พิธี ปัธยะ (ถวายน้ำล้างพระบาท)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระบาทต่อพระองค์

นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระบาทของเทวรูป  3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระบาท หรือเบื้องหน้าเทวรูป

4)พิธี อะระฆะยะ  (ถวายน้ำล้างพระหัตถ์)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระหัตถ์ต่อพระองค์

นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระหัตถ์ของเทวรูป  3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระหัตถ์ ข้างใดข้างหนึง หรือเบื้องหน้าเทวรูป

5) พิธี อาจะมันยะ  (ถวายน้ำชำระพระโอษฐ์)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำชำระพระโอษฐ์ต่อพระองค์

นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระโอษฐ์ของเทวรูป 3 ครั้ง เทลงที่พระโอษฐ์ หรือเบื้องหน้าเทวรูป

6) พิธี สะนานิยัม อภิเษกกัม  (ถวายน้ำสรงสนาน)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ”  ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสรงสนานต่อพระองค์

ถวายน้ำสะอาด หรือน้ำนม  หรือ ถวายน้ำปัญจะมรัตน์สรงเทวรูป หลังสรงแล้ว ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดองค์ทำความสะอาด เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี (หากไม่สรง ที่องค์ สามารถนำน้ำสะอาด วน รอบเทวรูป แล้วเทลงเบื้อหน้าได้เช่นกัน)

7) พิธี วัตระ  (ถวายผ้าทรง)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ”  ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม ต่อพระองค์

นำผ้า คลุม หรือผ้านุ่ง ที่เตรียมไว้  ถวายต่อเทวรูป อาจจะนุ่ง หรือคลุม หรือวางไว้เบื้องหน้า

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65 Cr. พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

8) พิธี กันธะ  (การถวายเครื่องหอม แป้งและผงเจิม)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องหอม และผงจุ่มเจิมต่อพระองค์

นำผงเจิม เช่น ผงจันทร์ ผงกุมกุม ผงซินดู  เจิมที่เทวรูป 

นำน้ำหอม ประพรม ที่เทวรูป

9) พิธี อาภะระนะ  (การถวายเครื่องประดับ)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องประดับต่างๆต่อพระองค์

นำเครื่องประดับที่จัดเตรียมไว้ อาทิเช่น สร้อย กำไล  สวมคล้องต่อเทวรูป หรือวางไว้เบื้องหน้า

10) พิธี ปุษปะมาลา  (การถวายดอกไม้ และมาลัย)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย มาลัยดอกไม้นี้แด่พระองค์

นำดอกไม้  มาลัยที่เตรียมไว้ คล้องถวายต่อเทวรูป

11) พิธี ธูปะ  (การถวายธูปหอม และกำยาน)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายธูปหอม และกำยานนี้ต่อพระองค์

นำธูป หรือกำยาน จุด วนถวาย ต่อเทวรุป

12) พิธี ดีปัม  (การถวายดวงประทีป)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายดวงประทีปต่อพระองค์

นำประทีป หรือเทียน จุดถวายต่อเทวรูป

13) พิธี ไนเวดยัม  (การถวายเครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน)

“โอม ศรี คเณศายะนะมะหะ”  ข้าพเจ้าจอน้อมถวาย ผลไม้ตามฤดูกาลนี้ พร้อมขนมหวานต่างๆ ต่อพระองค์

นำผลไม้ต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป ถ้ามีเยอะมากหลายถาด สามารถนำน้ำตักใส่ช้อนวน ที่ ผลไม้ ขนมหวานต่าง แล้วเทน้ำลงเบื้องหน้าเทวรูป ได้

14) พิธี ตัมปูรัม  (การถวาย หมาก พลู หญ้าแพรก)

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ”  ข้าพเจ้าขอถวาย หมากพลู และหญ้าแพรกต่อพระองค์

นำหมากพลู และหญ้าแพรก ที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป

15) พิธี สโตรตรัมปูชา (ถวายบทบูชาสรรเสริญ)

สวดบูชาสรรเสริญ ด้วยบทสวด หรือมนต์ต่างๆ หรือสวด มนต์ 108 จบเป็นต้น

16) พิธี อารตี 

สวดบูชาพร้อมวนไฟถวายต่อเทวรูป  หากสวดไม่ได้ อาจเปิด youtube

https://www.youtube.com/watch?v=gFr5p5AyuD0

สามารถปฏิบัติบูชาได้ตลอดช่วง เทศกาลคเณศจตุรถี หากไม่สะดวก ทำเท่าที่ทำได้ สิ่งของและขั้นตอนต่าง ๆ สามารถลดหรือเพิ่มได้ วันสุดท้ายทำบูชาเสร็จแล้ว อัญเชิญเทวรูปกลับขึ้นหิ้ง ถือเป็นการสิ้นสุดการบูชา

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65

  • สถานที่จัดงาน เทศกาลคเณศจตุรถี

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)

ขอเชิญร่วมพิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร เนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถี ในวันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พิธีบูชาเช้า เวลา 9:30 น. และพิธีบูชาเย็น เวลา 17:30 น.โทร. 097 315 9569

เทศกาลเชียงใหม่คเณศจตุรถี  จ.เชียงใหม่

ครั้งแรกของ จ.เชียงใหม่ที่มีการจัดงาน ‘คเณศจตุรถี’ วันที่ 31 สิงหาคม – 9 กันยายน 2565 ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ อัญเชิญองค์พระพิฆเนศมาให้ประชาชนร่วมบูชา วันที่ 9 กันยายน 2565 มีขบวนแห่ไปรอบคูเมืองเชียงใหม่สู่แม่น้ำปิง

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65 Cr. พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

  • 10 ศาลพระพิฆเนศ 

1) เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกรัชดา-ห้วยขวาง กรุงเทพฯ

เดิมแยกนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงตั้งศาลไว้เพื่อเตือนใจผู้ใช้รถใช้ถนน ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรได้รับโชคลาภมากมายจนโด่งดัง

ที่ตั้ง : สี่แยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เปิด : 12.00-24.00 น.

2) เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ

สถานที่ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย มีลำดับการสักการะเทพทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากพระพิฆเนศก่อนเสมอ ถือว่าท่านเป็นองค์ประธานของหมู่เทพ

ที่ตั้ง : 268 ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิด : 09.30-15.30 น. โทร : 0-2222-6951

3) ศาลพระพิฆเนศ อาเขต เชียงใหม่

ศูนย์กลางความศรัทธาใจกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระพิฆเนศ 3 ปางและมีองค์เทพอื่นๆ อีก เช่น พระตรีมูรติ พระพรหม พระราหู

ที่ตั้ง : 207 ซอย 5 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิด : 24 ชั่วโมง

4) เทวสถานองค์พระพิฆเนศ ด่านนอก จ.สงขลา

พระพิฆเนศองค์ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ มีความสูง 30 เมตร มีองค์ท้าวมหาพรหมให้สักการะบูชาด้วย

ที่ตั้ง : ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เปิด : 07.00-23.00 น. โทร : 09-2456-2429

5) เทวาลัยคเณศร์ พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นองค์ประธานแห่งพระราชวังสนามจันทร์ มองเห็นพระปฐมเจดีย์อยู่ด้านหลัง

ที่ตั้ง : ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เปิด : 08.00-20.00 น.

'คเณศจตุรถี' วิธีบูชา‘พระพิฆเนศ’ 31 สิงหา-9 กันยา 65 Cr. พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

6) วัดสมานรัตนาราม จ.ฉะเชิงเทรา

พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุขใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 16 เมตร ประทานความเป็นอยู่อย่างสุขสบายมีกินมีใช้เงินทองไม่ขาดมือไม่มีเรื่องทุกข์ใจ มีพระพิฆเนศอีก 32 ปาง

ที่ตั้ง : ริมแม่น้ำบางปะกง หมู่ที่ 11 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิด : 08.00-18.00 น.

7) เทวาลัยพระพิฆเนศ บางใหญ่ นนทบุรี

ตั้งอยู่ระหว่างบิ๊กซีกับเซ็นทรัลเวสเกต เปิดให้สักการะ 24 ชั่วโมง มีองค์พระพิฆเนศปางมหาเทพไอยรา เป็นองค์ประธาน และมีองค์เทพอื่นๆ อีกหลายองค์

ที่ตั้ง : 6/39 ถนนกาญจนาภิเษก ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เปิด : 24 ชั่วโมง โทร : 08-5444-1509

8) ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดช่องลม 2 สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

พระพิฆเนศปางประทานพรใหญ่ที่สุดในเขตเทือกเขาตะนาวศรี สีเขียวมรกต หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 12 เมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขา มีพระโพธิสัตว์กวนอิม ตั้งอยู่ด้วย

ที่ตั้ง : ถนนราชบุรี-ผาปก ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เปิด : 08.00-18.00 น.

9) พระพิฆเนศ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.เพชรบุรี

พระพิฆเนศหล่อโลหะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในมหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่ตั้ง : มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เปิด : 08.00-18.00 น.

10) อุทยานพระพิฆเนศ นครนายก

พระพิฆเนศปูนปั้นใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ปางนั่งประทานพร หรือปางคณบดี ปางไสยาสน์ประทานพร หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 15 เมตร และมีองค์พระพิฆเนศถึง 108 ปาง

ที่ตั้ง : สี่แยกประชาเกษม หมู่ 11 ถนนนครนายก-น้ำตกสาริกา ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เปิด : วันจันทร์-ศุกร์ 09.00-17.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 08.30-18.00 น.โทร : 06-4552-4292

.........................

อ้างอิง : พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ, KCindjija : BLOG ที่เที่ยวอินเดีย วัฒนธรรม, Hindu Meeting, Travel.trueid.net