ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก

“บุพเพสันนิวาส 2” นอกจากเรื่องเล่าความรัก ยังมี 4 บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ชาวสยาม รู้จักคำว่า การผ่าตัด,ห้างสรรพสินค้า และการถ่ายรูป ฯลฯ เกร็ดประวัติศาสตร์เหล่านี้ทำให้หนังสนุกได้อย่างไร

หลายคนที่ได้ดูภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส 2 อาจมีความสงสัยว่า ในเรื่องส่วนไหนจริง ส่วนไหนไม่จริง

ในเรื่องนี้ วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ กล่าวชัดเจนว่า บุพเพสันนิวาส 2 ไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์ แต่ได้แรงบันดาลใจจากเกร็ดประวัติศาสตร์

 

“บุคคลสำคัญในเรื่องมีตัวตนอยู่จริง โดยเฉพาะ สุนทรภู่ ซึ่งเป็นทั้งกวีและที่ปรึกษาด้านความรักให้กับ ภพ (พระเอกของเรื่อง) ส่วนตัวละครอีก 3 คน ก็เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมในยุคนั้น

อย่าง บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ หมอสอนศาสนาที่ทำให้คนยุคนั้นได้เรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน หมอบรัดเลย์ นำวิทยาการการแพทย์สมัยใหม่เข้ามา ทำการผ่าตัดช่วยชีวิตคนครั้งแรกในสยาม และ นายห้างหันแตร เจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทย”

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

  • เกร็ดประวัติศาสตร์ บุพเพสันนิวาส 2

ผศ.ดร.ณัฐพร ไทยจงรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  กล่าวถึงความโดดเด่นของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผูกเป็นเรื่องราวในบุพเพสันนิวาส 2 ว่า

“เวลาที่เรานึกถึงวรรณกรรมไทยที่คลาสสิกมาก ๆ เราจะนึกถึงงานของ สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผลงานที่เด่น ๆ คือ พระอภัยมณี ความโดดเด่นของสุนทรภู่ ทำให้ทีมสร้างภาพยนตร์หยิบมาตีความมุมมองใหม่

คนที่สอง บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ เรื่องของศาสนามักโยงกับเรื่องการศึกษา เขาศึกษามาหลากหลาย ไม่ว่าคณิตศาสตร์ วิชาถ่ายรูป แต่เครดิตของปาลเลอกัวซ์ที่ทุกคนพูดถึงก็คือ เรื่องของภาษา

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก Cr. Kanok Shokjaratkul

ซึ่งทีมผู้สร้างภาพยนตร์ นำเกร็ดเหล่านี้มาสร้างสรรค์และดัดแปลงให้บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ เป็นอาจารย์ที่สอนสั่งให้ความรู้จนนางเอกเป็นสตรีหัวก้าวหน้า

คนที่สาม หมอบรัดเลย์ เป็นคนที่ทำให้เกิดการผ่าตัดครั้งแรกในเมืองไทย สมัยนั้นในงานเฉลิมฉลองที่ วัดประยุรวงศาวาส พลุที่จุดเกิดระเบิด ทำให้พระภิกษุบาดเจ็บ หมอบรัดเลย์ก็ผ่าตัดให้

คนที่สี่ นายห้างหันแตร เจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของประเทศไทย และได้เป็นขุนนางในราชสำนัก เพราะในช่วงที่เราทำสงคราม เขานำปืนมาขายให้

เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในยุคนั้น ก็คือ มีการนำ เรือกลไฟ มาหลอกขาย เป็นเรือที่ผุ ๆ พัง ๆ ผู้กำกับจึงหยิบเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่องเรือมาสร้างเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ภพและเกสร ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง”

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ผู้กำกับ Cr. GDH

  • ตีความให้สนุกในบุพเพสันนิวาส 2

ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวถึงการทำงานเบื้องหลังว่า

“ผมตีความตัวละคร สุนทรภู่ จากการอ่านงานของเขา เขาน่าจะเป็นคนร่าเริง และน่าจะเป็นคนที่ตลก ส่วน บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ตามความรู้สึกผม เขาน่าจะมีอิทธิพลต่อการศึกษาในด้านเทคโนโลยี ดาราศาสตร์ ก็เลยคิดว่าน่าสนใจ และในเรื่องเราอยากให้มีเหตุการณ์สุริยุปราคามาเกี่ยวด้วย

ทางด้าน หมอบรัดเลย์ ผู้บุกเบิกงานพิมพ์ในประเทศไทย เขาเป็นหมอ แล้วก็มีความเป็น Journalist ด้วย เป็นคนแรกในสยามที่ทำหนังสือพิมพ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยกลายเป็นบิดาการพิมพ์ เราจึงผูกเรื่องให้ ภพ เป็นหนึ่งในคนไข้ที่หมอบรัดเลย์ต้องรักษา”

ในส่วนของนักแสดง นิมิตร ลักษมีพงศ์ ผู้รับบท สุนทรภู่ ก็กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพูดบทกลอนที่เกี่ยวกับความรักเกือบทั้งเรื่อง

“กลอนที่สุนทรภู่แต่ง มักจะหนีไม่พ้นเรื่องความรัก ไม่แปลกที่ภพจะมาปรึกษาท่าน 

หัวใจเจ้า เปี่ยมรัก แสนหนักแน่น

นี่แหละแม่น แสนวิเศษ กว่าสิ่งไหน

มัวแต่เมา เกาขี้กลาก ยิ่งยากใจ

แค่ต้องรู้ วิธีใช้ หาให้เจอ”

4 บุคคลสำคัญในบุพเพสันนิวาส 2

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก Cr. GDH

สุนทรภู่ : กวีเอกกรุงรัตนโกสินทร์

เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เชื่อกันว่า สุนทรภู่ ได้ร่ำเรียนหนังสือในวัยเยาว์กับพระในสำนักวัดชีปะขาว ถนัดในเรื่องการแต่งบทกลอน ผลงานประพันธ์ชิ้นแรกคือ นิทานคำกลอนเรื่องโคบุตร

เมื่อสุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ ท่านได้รับตำแหน่ง ‘ขุนสุนทรโวหาร’ ได้เริ่มแต่งนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี รวมถึงบทประพันธ์อีกมากมาย อาทิ นิราศภูเขาทอง, นิราศอิเหนา, พระไชยสุริยา, เสภาขุนช้างขุนแผน ผลงานเรื่องสุดท้ายคือ บทละครเรื่อง อภัยนุราช

ในบั้นปลายชีวิต สุนทรภู่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘พระสุนทรโวหาร’ เป็นกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มีความโดดเด่นในด้านการประพันธ์ และสร้างสรรค์ผลงานไว้จำนวนมาก จนได้รับการขนานนามว่า ‘กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก Cr. GDH

ปาลเลอกัวซ์ : ผู้นำสรรพวิชาสู่สยาม

เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2348 ที่เมืองกอมแบร์โตลท์ ประเทศฝรั่งเศส ตอนเดินทางมาถึงประเทศไทยอายุ 25 ปี

ช่วงแรกมาพักอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ บางรัก ยังไม่รู้ภาษาไทยแม้แต่คำเดียว จึงเรียนภาษาไทยอยู่หลายเดือน แล้วก็เริ่มต้นเผยแผ่ศาสนาคริสต์ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก

ท่านเป็นผู้นำวิชาความรู้สรรพวิทยาการของชาติตะวันตก เช่น ภูมิศาสตร์, ดาราศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, ภาษาละติน, ภาษาฝรั่งเศส มาให้แก่ชาวสยาม

ท่านชอบศึกษา ภาษาบาลี, ภาษาไทย, พระพุทธศาสนา และ พงศาวดารสยาม จนมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง

ภายหลังท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยาม เช่น เล่าเรื่องกรุงสยาม สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยนั้น และท่านยังเป็นบุคคลแรกที่สั่งซื้อกล้องถ่ายรูปแบบ ดาแกร์ (Daguerreotype) จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในสยามอีกด้วย

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก Cr. GDH

หมอบรัดเลย์ : คนต้นคิดโอสถศาลาแห่งแรก     

หมอบรัดเลย์ หรือ แดนบีช บรัดเลย์ เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เดินทางมาสยามขณะอายุ 31 ปี

ทำงานในคณะหมอสอนศาสนา เพรส ไบทีเรียน สมัยต้นรัตนโกสินทร์ พักอาศัยอยู่แถว วัดเกาะ สำเพ็ง (วัดสัมพันธวงศ์)

และเปิด โอสถศาลา ขึ้นเป็นที่แรกในสยาม เพื่อทำการรักษา จ่ายยา และหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้

ในปี พ.ศ. 2379 หมอบรัดเลย์ได้ผ่าตัดแขนขาให้กับภิกษุรูปหนึ่งที่โดนสะเก็ดระเบิดในงานฉลอง วัดประยุรวงศาวาส นับเป็นการผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของสยาม และได้ผ่าตัด ต้อกระจก

รวมถึงรักษาผู้ป่วย โรคฝีดาษ และเขียนตำรา การปลูกฝีโค ไว้ใช้ เผยแผ่ความรู้ให้คนสมัยนั้นได้นำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษเพื่อการรักษาและการป้องกันที่ถูกต้องอีกด้วย

หมอบรัดเลย์ ได้ออกหนังสือพิมพ์ในสยามฉบับแรกชื่อว่า The Bangkok Recorder ทำให้เกิดการพัฒนาของวงการสื่อสารมวลชนของไทยไปอีกขั้น จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งการพิมพ์ไทย’

ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก Cr. GDH

นายห้างหันแตร : ผู้สร้างห้างสรรพสินค้าแห่งแรก

หันแตร หรือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้งร้านค้าในประเทศไทย

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช’ และเป็นผู้สร้างห้างสรรพสินค้าแห่งแรกขึ้นในสยาม คนนิยมเรียกว่า ‘ห้างหันแตร’

ชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับหญิงไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่บ้านกุฎีจีนชื่อว่า ‘แองเจลิน่า’ เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากลูกหลานของ ‘ท้าวทองกีบม้า’

ภายหลังความสัมพันธ์ระหว่างนายฮันเตอร์กับทางการสยามเริ่มเกิดปัญหา เมื่อสยามตอนนั้นทำการรบกับ โครชินไชน่า (เวียดนาม)

นายฮันเตอร์ได้เสนอขาย ปืนคาบศิลา จำนวน 200 กระบอก และต้องการให้ทางสยามซื้อให้หมด ทั้งที่ทางการสยามต้องการเพียง 100 กระบอกเท่านั้น

เขายังเป็นผู้นำ เรือกลไฟ ‘เอ็กสเปรส’ (Express) มาเสนอขายแก่สยาม ในเวลานั้นผู้คนฮือฮามาก เพราะไม่เคยเห็น “เหล็กลอยน้ำได้” อย่างเรือกลไฟมาก่อน

แต่ทางสยามมองว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบธรรม นำมาซึ่งเรื่องลุกลามบานปลาย จนเกิดข้อพิพาทกับสยามในเวลาต่อมา

...................

อ้างอิง : GDH