‘สังกะดี สเปซ’ ชุมชนงานคราฟต์ เพื่อความยั่งยืน โดย 'นุสรา เตียงเกตุ'

มารู้จักกับ ‘สังกะดี สเปซ’ แหล่งเรียนรู้ ตลาดงานคราฟต์แห่งใหม่ จากภูมิปัญญาพื้นบ้านทั้งไทยและทั่วโลก เหมาะกับผู้รักธรรมชาติ และวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย
สังกะดี สเปซ (Sanggadee Space) เป็น ชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงผู้คน ให้โอกาส ผ่านงานฝีมือ และการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม ที่มีรากฐานการสืบทอดจากภูมิปัญญาของมนุษย์โลกจากหลายประเทศ
โดยมองข้ามความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ และเขตแดน เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สร้างอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้ จากการสร้างสรรค์ของตัวเอง สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดขึ้นได้จริง
- โรคระบาด สร้างชุมชนงานคราฟต์
นุสรา เตียงเกตุ ปราชญ์ด้านผ้าล้านนา (ผ้าซิ่น ตีนจก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่) เป็นชาวกรุงเทพฯ หลังเรียนจบคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอได้มาฟื้นฟูผ้าอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เวลาผ่านเกือบไป 40 ปี เธอก็ก่อตั้ง สังกะดี สเปซ แห่งนี้ขึ้นมา
Cr. Kanok Shokjaratkul
"สังกะดี เป็นภาษาเหนือ แปลว่า อะหยังก็ดี อะไรก็ดี What ever is good พื้นที่นี้เกิดขึ้นหลังจากโควิด เรามีโปรเจกต์นี้อยู่ในใจมาโดยตลอด
ตัวเองทำงานกับชาวบ้านเรื่องศิลปหัตถกรรมที่มีอยู่ในเชียงใหม่ ไปเจอสิ่งที่รู้สึกภาคภูมิใจ กับสิ่งที่ชาวบ้านเขามีอยู่ เรารู้สึกว่าชีวิตเขาสมบูรณ์จริง ๆ มีข้าวกิน มีผ้านุ่งที่เป็นแบรนด์ของเขาเอง มีบ้าน หลังคามุมตองตึง
เราก็มาอยู่บ้านแบบนี้ 8 ปี คลอดลูกมา 3 คน ซึมซับเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้านมาตลอด เราเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบนี้ เพราะเราเชื่อมั่นใน ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ไม่ว่าเรื่องผ้า หรือเรื่อง ปัจจัยสี่ ตั้งแต่ ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค
หลังโควิด เราไม่รู้ว่าชีวิตเราจะเกิดอะไรขึ้น ลูกคนที่สองเรียนจบเภสัชก็เปิดร้านขายยามาสองร้านแล้วรู้สึกไม่ใช่ เขาสนใจเรื่องสุขภาพ และวิถีชีวิตที่ทำให้สุขภาพดี ก็มาทำ Bamboo Family และมีตลาดเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
ที่นี่มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ เดิมเป็นป่าไมยราพ และพื้นที่แก้มลิง เคยมีน้ำท่วมสูง อาคารหลังนี้และตลาดข้างใน 3 ปีแล้ว ใบตองตึงไม่เคยเปลี่ยน ก็อยู่ได้ดี ตอบโจทย์เรื่องปัจจัยสี่
เราพยายาม Connect ผู้คนจากหลาย ๆ ที่ มีคุณกุ้ง เปรมฤดี กุลสุ, คุณมิสุ จากทะเลสาบอินเล ประเทศเมียนมา มาช่วยกัน ความคิดเราเหมือนกันตรงที่เชื่อมั่นในธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล
สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอด คือเรื่อง วัตถุดิบ (material) ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เรื่องผ้า หรือว่าศิลปหัตถกรรมทั้งหมด เส้นใยเป็นเลือดเนื้อและชีวิต เราจัดงานประจำปี ชื่อว่า เส้น (SEN) มาจาก Sanggadee Exhibition in Nataure"
ครูนุสรา ผู้สวมเสื้อจากบ้านครัวหลังสุดท้ายในกรุงเทพฯที่ได้มาเมื่อ 20 ปีที่แล้วคู่กับผ้าซิ่น หางกระรอก บอกว่า
"เส้นใย มันสามารถเชื่อมต่อผู้คนได้ ไม่ว่าเส้นใยบัว เส้นใยฝ้าย เส้นใยไหม เสื้อตัวนี้มาจากบ้านครัว ส่วนซิ่นผืนนี้ มีประวัติศาสตร์เล่าเรื่องมากมายที่เป็นความสัมพันธ์ของผู้คน ไม่ใช่แค่ไทย หรือเมียนมา แต่รอบอาเซียน หรือแม้กระทั่งทั่วโลก
ผ้าซิ่นผืนนี้ใช้เทคนิคทวิตส์เส้นสองเส้นเข้าด้วยกัน ผ้าสองสี เส้นใยสองเส้น มันทำให้ทั้งแข็งแรงขึ้นและมี Taxture เนื้อผ้าที่มีความแตกต่าง บอกประวัติศาสตร์ที่เราจะไปต่อกันยังไง
Cr. Kanok Shokjaratkul
ไม่ว่าปัญหาฝุ่นควัน หรืองานศิลปหัตถกรรม เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ เราต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าเราจะแยกแยะ จัดระบบ ยังไงก็ตาม เราพบว่าเราเชื่อมโยงกันมานานแล้ว
เราอยากให้ที่นี่เป็นสถานที่เชื่อมโยงผู้คน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องผ้าและเรื่องงานหัตถกรรมอื่น ๆ เป็นที่เรียนรู้ ใช้ชื่อ สังกะดี อะไรก็ดี แต่ไม่ใช่อะไรก็ได้
เราเลือกสรรสิ่งดี ๆ ให้กับผู้คน นอกจากการพัฒนาวิถีชีวิตและศิลปหัตถกรรมแล้ว เรายังเชื่อมโยงผู้คนและพัฒนาผู้คนให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ว่าจะในภาวะปกติ หรือในภาวะวิกฤติ ที่มันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ที่นี่ไม่ได้มีแค่งานคราฟต์เท่านั้น มีวิถีชีวิต มีอาหาร มีวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในทุก ๆ สถานที่ที่เราเข้าไป
Cr. Kanok Shokjaratkul
อาคารหลังแรกเป็นเรื่องเส้นใย อาคารหลังที่สองเป็นเรื่องวัสดุ อาคารหลังที่สามเรื่องทอผ้า อาคารหลังใหญ่ เป็นเรื่อง Spiritual House เรื่องสุขภาพใจ เราโตภายนอกแล้วต้องโตภายในด้วย มีพระ มีสวดมนต์ มีโยคะ เป็นศาลาประกอบพิธีกรรม
อีกหลัง มีกลุ่ม Chiang Mai Drum Circle มาขอใช้ซ้อมตีกลอง เราไม่ได้เน้นแค่โปรดักส์ เราเน้นเรื่องการเรียนรู้
ในทุกอาคารมีการเรียนรู้ มีเรื่อง Bamboo School ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับไม้ไผ่ โครงสร้างอาคารไม้ไผ่ในหลาย ๆ ที่ ไม่ว่าทางใต้ พม่า แอฟริกา เราเอามาทำเป็นโปรแกรมที่นี่
ส่วนเรื่องอาหาร มีอยู่ในตลาด เรามีโปรดักส์ของหลายชาติพันธุ์และคนรุ่นใหม่ ให้ สตาร์ทอัพ หรือคนที่มาเรียนรู้ แล้วอยากทดลองว่าของตัวเองจะขายได้ไหม ส่วนด้านหน้ามีร้านร่มสันกำแพง มาใช้พื้นที่
สิ้นปีอาจทำเป็น Bamboo Garage ขายของมือสอง หรือเอาของมือสองมาพัฒนา มีรถเก่าวินเทจมาจอดตกแต่ง เราอยากเห็นการใช้คุณค่าเก่าที่กลับมา ใครมีรถสไตล์นี้เยอะก็เอามาจอด มาทำประโยชน์ได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
พื้นที่นี่จะมีอีเวนท์ปีละครั้ง ในปีนี้ตรงกับวันที่ 4-7 ธันวาคม ชื่องาน เส้น SEN เน้นเรื่องการพึ่งตัวเองด้วยปัจจัยสี่ เล่าเรื่องแต่ละเครือข่าย แล้วเอามาโชว์เคส มีเวิร์คชอป มีต่างชาติเข้ามาร่วม
ที่ผ่านมาเรามีเพื่อนฝูง มีเน็ตเวิร์ค จากอังกฤษ อินโดนีเซีย, ลาว, เมียนมา, ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, อุซเบกิสถาน เราใช้ช่องทางทั้งโดยส่วนตัว และระบบรัฐ มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน
เพราะบางทีเรารอไม่ได้ ทำอะไรได้ก็ช่วยกัน ส่วนใหญ่จะมาแชร์เรื่องความรู้ เพราะมาร์เก็ตเพลสเราเยอะแล้ว บางทีมันโอเวอร์ซัพพลาย เศรษฐกิจแบบนี้ เราเลยโฟกัสเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้"
จากนั้น ครูนุสรา ก็พานำชมอาคารต่าง ๆ เริ่มที่อาคารหลังแรก เรื่องเส้นใย
"วันนี้พิเศษมีเส้นใยจากทะเลสาบอินเลมา สาธิตการทำเส้นใยบัว แบบเมียนมา ที่มาจากใยจริง ๆ ในก้านบัว ต่างจากที่เรารับรู้ การทำเส้นใยบัวบางแห่งของประเทศไทย เอาก้านบัวทั้งก้านไปตีปั่น แต่อันนี้เป็นใยของบัวจริง ๆ
ที่อินเลจะเอาใยบัวไปทอเป็นผ้า ถวายเป็นพุทธบูชา ไม่ได้เอามาใช้พร่ำเพื่อ เพราะมันทำยาก แล้วต้องใช้ความอุตสาหะอย่างแรงกล้า ในการทำผ้าใยบัวออกมา ต้องเอามาคลึงจนเป็นเส้นใยเพื่อมาเกลียวเป็นเส้นด้าย ถักทอเป็นผืนผ้า เส้นใยบัว มีแทกเจอร์ที่นุ่ม ไม่กระด้าง ยิ่งซักก็ยิ่งนุ่มมากขึ้น" (ในตลาดร้านข้างในจะมีบะหมี่ใบบัว ที่ใช้ใบบัวเป็นแพคเกจจิ้งด้วย)
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
ส่วนนี่เป็นเส้นใยหญ้าเตี้ยน จ.น่าน เขาไว้หาปลา เดี๋ยวนี้เอามาทำกระเป๋า ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ฝ้ายกับไหม มันมีเส้นใยหลายชนิด ไม่ว่าใยกัญชง เราทำมานาน 20 ปีแล้ว มีเสน่ห์มาก เพราะมีเท็กซเจอร์ ทั้งเส้นใหญ่เส้นเล็ก เอามาถักเป็นกระเป๋าเป็นอะไรได้"
เราเดินกันต่อ ไปที่อาคารหลังที่สอง
"หลังนี้เป็นเรื่องวัตถุดิบ และของสะสม มีบล็อกปรินท์ไม้ มี แวร์ แกนไม้เสียบ มีอุปกรณ์ปักที่เหมือนเห็ด มี หว่อง เครื่องประดับเอว ทำจากหวาย ของชนเผ่า
เราอยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้ว่าอุปกรณ์สมัยก่อนเป็นยังไง มี ลูกเดือย ใช้ปักในเสื้อผู้หญิงกระเหรี่ยงที่แต่งงานแล้ว ลูกเดือยเป็นทั้งอาหารและเครื่องประดับ เป็นวัสดุที่สำคัญกับงานผ้า
การที่เราส่งเสริม material แมททีเรียลไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว ความตั้งใจสืบทอดเรื่องหัตถกรรม ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ ถ้าเราทำให้มันครบวงจร
ทำยังไงให้ material วัตถุดิบที่ใช้ในงานเหล่านี้มันมีสเปซ เพราะปัญหาของช่างและนักออกแบบหัตถกรรมอยู่ที่ว่าเราหาเส้นใยที่เราต้องการไม่ได้ เราถึงเก็บทุกอย่าง ทั้งต้นหญ้า ใยกัญชง เศษด้าย เศษฝ้าย หมดเลย
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวมันไม่พอ เราต้องพัฒนาเรื่องการศึกษาและการรับรู้ ทำให้คนเขาเห็นประโยชน์ของเรื่องราวเหล่านี้ จะได้เข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องปลูก
ตอนนี้เราใช้ชีวิต Follow ตามความต้องการของตลาด ทำตอบโจทย์ตลาด แล้วชีวิตเราจะเป็นยังไง โลกกำลังเตือนเราว่า Back to the Basic เพราะเรื่องพวกนี้มันเป็นคุณค่าที่ยั่งยืน
ที่นี่ใครมีอะไรก็มาแบ่งปันกัน ถ้าปลูกได้เราก็จะปลูก เราปลูก มะเกลือ, คำแสด เอาไว้ย้อมผ้า เพราะมันเริ่มหายไป ต้นฝาง เป็นที่ต้องการในโลกมาก แต่บ้านเราเริ่มหาไม่ได้แล้ว
เดินไปกันต่อที่อาคารหลังที่ 3 เป็นหอพระ
"อาคารหอพระ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชื่อว่า พระพุทโธหน้าทอง หรือ พาราหน้าคำ มีการถวายตุง 16 ชาติรอบ เป็นพุทธบูชา
ที่นี่เราส่งเสริมหลายเรื่อง ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีกรรม เครื่องเขิน, ดอกไม้เงิน, ธูป, เทียน, สังฆทาน เราทำกันเอง พยายามสอน เผยแพร่ให้คนทำเองได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
จากนั้นก็เดินไปฝั่งตรงข้าม เป็นอาคารหลังที่ 4 ชื่อว่า ภาวนา
"หลังนี้เป็นสตูดิโอเรียนรู้เรื่องการทอผ้า ของแบรนด์ ภาวนา ด้วย กี่เอว กี่ทอผ้าที่ดั้งเดิมที่สุด สมัยก่อนเรามีแค่กิ่งไม้ ไม้ไผ่ หรือไม้อะไรก็ได้ ก็เอามาขึ้นเส้นยืน มี ครูต่อ ดำรงศักดิ์ มีสัตย์ จากดอยเต่า เป็นคนทำ
ที่ผ่านมาเราเคยเห็นแต่กี่สี่เสาใต้ถุนบ้าน แต่นี่เป็น กี่เอว สามารถพกพาไปไหนก็ได้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่ เซ็ทอัพที่ไหนก็ได้ หลังจากทำเส้นยืน ก็เอามายึดกับตรงนี้ จะเป็นลูกกรงหรืออะไรก็ได้ แล้วก็มานั่งทอตรงนี้
ตอนไปประชุมเรื่องกี่โลก เราพบว่า กี่เอว ตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ เป็นภูมิปัญญาภาคเหนือ เราอยากจะเก็บรักษาไว้
กี่เอว สามารถนำปรับใช้ในงานออกแบบได้ ตอบโจทย์ได้ดีในบางดีไซน์ เพราะกี่เอวไม่มีรูฟืม จะเอาเชือกเส้นเท่าหัวแม่มือก็ได้ หรือเปลี่ยนแทกเจอร์ เปลี่ยนเส้นยืนเส้นพุ่งได้เยอะเลย ในขณะที่กี่ทั่วไปมีขนาดของรูฟืมช่องฟืมที่จำกัดขนาดของเส้นใย
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
บางคนบอกว่างานทอผ้าทำยาก งานทอผ้าก็เหมือนเล่นดนตรี ต้องทำบ่อย ๆ จะใช้การจำไม่ได้เพราะจำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าเราลงมือ มันจะไม้ลืม
สังกะดี สเปซ ชุมชนคนทำงานคราฟต์ เป็นการสร้างชุมชนในรูปแบบใหม่ มีการเรียนรู้โดยกระบวนการซึมซับ ทำให้เห็นเป็นปกติทุกวัน
เหมือนหุงข้าวด้วยฟืน ที่เราทำไม่เป็นแล้ว แต่คนที่คุ้นชินมันจะเป็นเรื่องง่าย เพราะฉะนั้นทำให้มันเคยชิน ทำให้มันอยู่ในวิถี มันจะยั่งยืน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
Cr. Kanok Shokjaratkul
สังกะดี สเปซ (Sanggadee Space) อยู่ที่ อำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีตลาดงานคราฟต์ Bamboo Family Market เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น. และมีเวิร์คชอป
ข้อมูลเพิ่มเติมดูที่ Facebook: สังกะดี สเปซ - Sang ga dee Space