สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

Reflection in a Dead Diamond, What Marielle Knows, What Does That Nature Say to You ชวนดูสีสัน ความสดใหม่ของหนังเข้าประกวดเทศกาล BERLIN FILM FESTIVAL 2025

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเทศกาล World Premiere อันดับสามของโลกรองจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และเวนิส แต่ใครที่เคยติดตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเบอร์ลินในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา คงจะเห็นได้ชัดเลยว่า คุณภาพของหนัง โดยเฉพาะที่มาประกวดชิงรางวัลหมีทองคำในแต่ละปี มักจะมีอะไรสดใหม่ด้วยน้ำเสียงเชิงทดลองที่แตกต่างไปจากหนังในสองเทศกาลที่กล่าวมาได้อย่างน่าสำรวจ

สายประกวดในเทศกาลเบอร์ลิน ประจำปีนี้ ที่แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับรางวัลทางการใด ๆ ก็ยังจัดว่าน่าสนใจชวนให้แสวงหาโอกาสหาดู จากฝีมือของผู้กำกับระดับกลางเก่ากลางใหม่ ที่ยังรอการแจ้งเกิดในสังเวียนประกวดภาพยนตร์เหล่านี้

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

อย่างหนังที่น่าจะ ‘สนุก’ และ ‘ตลก’ ที่สุดในสายประกวดครั้งนี้ ก็คือ What Marielle Knows ของผู้กำกับเลือดใหม่ Frédéric Hambalek จากเยอรมนี เล่าเรื่องราวเสียดสีพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกไม่เคยยอมบอกความจริงจากสิ่งที่ตัวเองคิดของพวกผู้ใหญ่

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

 

เมื่อบุตรสาววัยรุ่น Marielle อยู่ดี ๆ ก็สามารถ ‘อ่านใจ’ บุพการีของเธอได้ จนรู้พุงรู้ไส้ว่าคุณพ่อคือพวกจอมตอแหล ส่วนคุณแม่ก็เอาแต่ร่านหวังจะเคลมเพื่อนร่วมงาน ซึ่งปาฏิหาริย์ของน้อง Marielle ก็ทำให้ทั้งพ่อและแม่กลายเป็นไก่แจ้ตาแตกแหกทุก ๆ ความลับ เล่นเอากลับเนื้อกลับตัวไม่ทัน

ซึ่งบทหนังก็ขยี้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวนี้หลังจากไม่มีเกราะกำบังใด ๆ ได้อย่างเมามัน จนคนดูที่เทศกาลต่างหัวเราะกันอย่างสนั่นลั่นโรง Palast!

 

ส่วน What Does That Nature Say to You งานใหม่ของ Hong Sang-soo ผู้กำกับเกาหลีใต้ขาประจำเทศกาลนี่ก็ยังคงเฉียบขาด คมคายกับการวิพากษ์อาการหลงอีโก้ของมนุษย์เพศชายผู้กำลังตกลงปลงใจกับสาวคู่หมั้นคู่หมาย แต่ดันต้องมาตกม้าตาย เมื่อสุรา makgeolli ละลายเข้าเส้นเลือดเยอะเกินไป จนเผยสันดานก้าวร้าวไม่ไหว้หน้าใคร จนเกือบจะทำให้งานวิวาห์สามารถจะล้มครืนได้แบบต่อหน้าต่อตา!

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

 

หนังจำกัดทั้งเวลาและสถานที่โดยตีกรอบเรื่องราวให้อยู่ภายในการชวนว่าที่ลูกเขยมาร่วมรับประทานอาหารที่บ้านของฝ่ายหญิง ดำเนินตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งยิ่งเล่าเราก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงความกระอักกระอ่วนอันน่าขบขันว่ามันไม่มีหรอกนะ ‘เขยในอุดมคติ’ ที่จะตรงใจว่าที่พ่อตาแม่ยายได้เสียทุกอย่าง สร้างความดิบแบบหนังอิสระด้วยงานภาพกล้องวีดิโอที่ออกจะ out-of-focus เหมือนจงใจจะตัดขาดจากทุก ๆ ความ ‘ชัดเจน’

 

แต่งานที่เรียกได้ว่า ‘ขี้เล่น’ มากที่สุดประจำเทศกาลในปีนี้ ต้องยกให้เป็นทีของหนังฝรั่งเศสเรื่อง Reflection in a Dead Diamond โดยสองผู้กำกับรุ่นใหม่ Hélène Cattet และ Bruno Forzani ที่เรียกได้ว่าเป็นการ ‘รื้อสร้าง’ พร้อม ‘ทำลายล้าง’ รูปฟอร์มทั้งหลายของหนังแนวสายสืบข้ามชาติชุดดังอย่าง James Bond หรือ OSS 117 หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่างานกลุ่ม Eurospy

ถ่ายทอดบรรยากาศที่เคยเฟื่องฟูของงานตระกูลนี้ตั้งแต่สมัยยุค 1960s ด้วยแสงสีลีลาที่แสนจะฉูดฉาดจัดจ้าน นำเสนอภาพความอลังการตระการตาด้านภาพยนตร์ที่สร้างมนต์เสน่ห์ให้หนังตระกูลนี้เสมอมา แม้ว่าในส่วนของโครงเนื้อหาอาจจะไม่สามารถขมวดสรุปได้เลยว่ามันกำลังพยายามจะเล่าอะไร!

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025 สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

 

หรือหนังแนวครอบครัวแสนอบอุ่นเทศกาลเบอร์ลินก็มีให้ ได้แก่เรื่อง The Safe House ของผู้กำกับสวิส Lionel Baier ตีแผ่ด้านกลับของการประท้วงรุนแรงช่วง May ’68 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยแทนที่จะนำเสนอเหตุการณ์ปะทะ ผู้กำกับกลับสมัครใจหันมาเล่าเรื่องราวของเด็กชายวัย 9 ปีที่พ่อแม่หนีไปประท้วงแล้วฝากบุตรชายสุดหวงเอาไว้กับลุง ๆ และย่ายาย!

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

 

The Safe House จึงกลายเป็นหนังการเมืองประเทืองจิตประเทืองใจในความตลกและเบาสมองของมัน ทำให้ May ’68 เป็นประสบการณ์ฝันหวานมากกว่าฝันร้าย จากสายตาของผู้เป็นเด็กและเยาวชน!

 

หนังแนวปมชีวิตของคนร่วมสมัยก็ยังเป็นอะไรที่พบเห็นได้เสมอ ๆ ในการประกวดเทศกาลเบอร์ลิน อย่างเรื่อง Ari ของผู้กำกับหญิงฝรั่งเศส Léonor Serraille ก็ฉายให้เห็นถึงสภาวะของอันเปราะบางของมนุษย์เพศชาย ว่าพวกเขาจะยังดำรงอยู่ในสังคมได้หรือไม่ หากจะไม่หลงเหลือ ‘ความเป็นชาย’ ในตัวเลย

ตัวละครคุณครู Ari ในหนังจึงมีแต่พลังแห่งความแปร่งประหลาด ประกาศทั้งความแหย อ่อนแอ และขี้แย ที่บรรดาชายแทร้เขาพยายามเก็บซ่อนกันหนักหนา มีทั้งความเป็นบิดา และความเป็นนักรัก bisexual เริงกามาได้ในเวลาเดียวกัน!

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

แต่กระนั้นการสร้างตัวละคร Ari ของทั้งผู้กำกับ Léonor Serraille และ Andranic Manet นักแสดงนำ ก็ยังมีความกำกวมและฟุ้งฝัน จนชักจะไม่มั่นใจว่า จะสามารถมีคนประเภทนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเราได้จริง ๆ

 

แต่หากสนใจปมชีวิตแห่งการเป็นมารดาของตัวละครหญิง ก็ยิ่งต้องลองชมหนังเรื่อง Mother’s Baby ของผู้กำกับสตรี Johanna Moder จากออสเตรีย เมื่อวาทยากรหญิง Julia (รับบทโดย Marie Leuenberger) มีตำแหน่งเป็นทั้งเมียและแม่ของครอบครัวที่เพิ่งจะทำกิฟต์เจ้าตัวเล็กคนแรกได้สำเร็จ ทว่าเมื่อ Julia ทำคลอดเสร็จ เด็กน้อยก็สุขภาพมีปัญหา ต้องนำไปเยียวยาในห้องพิเศษ

พ้นเขตอันตรายได้ลูกกลับมา Julia กลับรู้สึกตลอดเวลาว่านี่ไม่ใช่บุตรของเธอนี่นา นำไปสู่คำถามจี้ใจข้อใหญ่ว่า เหตุใดมารดาจึงต้องถูกบังคับให้รักและดูแลลูก ความผูกพันอันเป็นภาคบังคับเหล่านั้นมาจากไหน และเธอมีสิทธิ์จะรังเกียจลูกของตนเองได้หรือไม่ จนกลายเป็นหนังอัตถภาวนิยมร่วมสมัยที่ทั้งหลอนและเสียวไส้ เมื่อมารดารุ่นใหม่ปฏิเสธจะทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ในการเลี้ยงดูทายาท!

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

 

ส่วน Hot Milk ของผู้กำกับ Rebecca Lenkiewicz ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายไว้อ่านริมหาดชื่อเดียวกัน (2016) ของ Deborah Devy เล่าถึง Sofia สตรีลูกครึ่งอังกฤษ-กรีก ที่ต้องพามารดาวัยชราผู้มีอาการของโรคร้ายนาม Rose หลีกหนีความวุ่นวายจากอังกฤษมารักษาที่คลินิกตากอากาศริมหาดในสเปน

ที่นี่เองที่ Sofia จะได้พบกับ Ingrid นักท่องเที่ยวสาวมั่นผู้รักการปันหัวใจให้มนุษย์ทั้งสองเพศจน Sofia ได้ออกเดทกับ Ingrid หากชีวิตที่ยังต้องรับผิดชอบความป่วยไข้ของมารดาจะทำให้ Sofia สามารถทำทุกอย่างที่เธอต้องการได้หรือไม่?

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

หนังดำเนินเนื้อหาหลัก ๆ ตรงตามฉบับนิยาย หากกลับกลายเป็นว่าสามารถหยิบมาได้เฉพาะความเด๋อด๋า ในขณะที่ลีลาการเล่นกับมุมมองของตัวละครและรูปแบบอักษรในนิยาย ไม่สามารถปรากฏบนผืนจอภาพยนตร์ได้ ทั้ง ๆ ที่มันก็คล้ายจะเป็นลูกเล่นที่เด่นที่สุดแล้วในนิยายเล่มนี้!

 

ปีนี้หนังประกวดเทศกาลเบอร์ลินมีหนังที่ใช้ชื่อว่า Dreams เหมือนกันถึงสองเรื่อง สำหรับเรื่องที่คว้ารางวัลใหญ่อย่างหมีทองคำไป ชื่อเต็ม ๆ จะใช้ว่า Dreams (Sex, Love) ส่วน Dreams เฉย ๆ เป็นผลงานการกำกับของผู้กำกับเม็กซิกัน Michel Franco ซึ่งเพิ่งจะมีผลงานเข้าประกวดในเทศกาลเบอร์ลินเป็นครั้งแรก

Dreams เรื่องนี้ ได้นักแสดงหญิง Jessica Chastain มาเล่นเป็น Jennifer เศรษฐินี เจ้าของกิจการที่มีรายได้มั่นคง ผู้ได้พบรักและตกลงปลงใจกับหนุ่มนักเต้นเท้าไฟที่หลบหนีข้ามแดนมาจากเม็กซิโกนาม Fernando (Isaac Hernández) ผู้ใฝ่ฝันว่าจะได้แสดงในโชว์ยิ่งใหญ่ สานฝัน American Dream ของเขาให้กลายเป็นจริงได้ ภายใต้การสนับสนุนอย่างดีจากแม่ยกอย่าง Jennifer!

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

ต่อให้เนื้อเรื่องจะฟังดูเด๋อ ๆ แต่ผู้กำกับกลับนำเสนอมุมมองของคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ไม่ใช่แค่เพื่ออยู่ แต่เพื่อเดินไปสู่ความฝันบนโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย ซึ่งแม้แต่คนที่คอยให้ท้ายอย่าง Jennifer เองก็ยังต้องเสี่ยงอันตรายและ ‘ยอมแลก’ กับอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ในหนังที่นำเสนอมนุษย์ทุกรายอย่างเทา ๆ กลาง ๆ และไม่ได้วางตัวให้ใคร ๆ ได้เป็นพระเอกหรือนางเอกของเรื่องเลย!

 

แต่เรื่องที่ออกจะอ่อนเชยไปสักหน่อยสำหรับการประกวดเทศกาลเบอร์ลินในปีนี้ ก็คือหนังที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อง Girls on Wire ของผู้กำกับหญิง Vivian Qu ซึ่งเล่าถึงการต่อสู้กับแก๊งค์อาชญากรรมในเมืองใหญ่ หลังจากที่ Fang Di ได้หนี Tian Tian ลูกพี่ลูกน้องของเธอ จากเมืองชนบทไปเสนอตัวทำงานเป็นสตั๊นท์วูแมน จน Tian Tian ต้องทิ้งดินแดนมาตุภูมิออกตามหา Fang Di

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

หนังเหมือนจะมีการเล่นล้อกระบวนการทำหนังซึ่งสุดท้ายก็เป็นพลังแห่งมายาที่หาได้มีอะไรจริง แต่ยิ่งเล่าหนังก็ยิ่งตื้นเขินฟูมฟาย จนสุดท้ายก็กลายเป็นความเหนื่อยหน่ายทำให้พลาดทุกรางวัลไปโดยไม่มีอะไรให้เสียดาย

 

เช่นเดียวกับหนังเรื่อง Yunan ของผู้กำกับ Ameer Fakher Eldin ที่ได้ยินชื่อแล้วจะนึกว่าเป็นหนังจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นหนังเยอรมันที่ได้นักแสดงหญิงชั้นนำอย่าง Hanna Schygulla มารับบทเป็น Valeska เจ้าแม่เจ้าของโรงเตี๊ยม ณ ชนบทห่างไกลในยุโรปผู้โอบอ้อมอารี และมีโอกาสได้ต้อนรับ Munir ซึ่งร่วมแสดงโดย Georges Khabbaz หนุ่มมาดกวีที่นิทานที่คุณแม่เคยเล่าได้ตามมาหลอกหลอนเขาอยู่ตลอดเวลา

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025

หนังดำเนินไปอย่างเนิบช้าตลอดความยาว 124 นาที ที่ส่วนใหญ่จะปล่อยให้ตัวละครเดินไปเดินมาซึมซับทัศนียภาพ โดยไม่เอ่ยถ้อยคำใด ๆ ให้ได้ทราบความคิดกันเลย Yunan จึงเป็นงานมหากาพย์แห่งความเอ้อระเหย ชนิดที่คนที่ไม่คุ้นเคยกับงานแนวยุโรปเทือกนี้ก็อาจจะไม่สามารถหาจุดที่ประทับใจได้

 

ปิดท้ายด้วยงานสารคดีเพียงหนึ่งเดียวในสายประกวดเทศกาลเบอร์ลินปีนี้ ได้แก่ Timestamp ของผู้กำกับหญิง Kateryna Gornostai จากยูเครน ที่เน้นถ่ายทอดให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อระบบการศึกษาสำหรับเล่าอนาคตของชาติ ที่แม้สงครามอาจจะรุนแรงเพียงไหน พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะหยุดการเรียนการสอนได้

หนังจึงเผยให้เห็นถึงใบหน้าเปื้อนยิ้มทุก ๆ ครั้งที่เด็ก ๆ ได้มาโรงเรียน วนเวียนกันศึกษาวิชานั้นวิชานี้ ราวกับว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใจกลางสมรภูมิ!

 

สีสันหนังประกวดเทศกาลภาพยนตร์ BERLIN FILM FESTIVAL 2025