ลานีญ่า โลกร้อน และการรับมือฝนถล่มที่อินโดนีเซีย

ปริมาณฝนที่อินโดนีเซียปีนี้หนักมากจนกลายเป็นภัยพิบัติน้ำท่วม เป็นจังหวะฤดูฝนบวกกับปีลานีญ่าพอดี การรับมือกับผลกระทบขนาดใหญ่นี้ ถือเป็นภารกิจใหม่ที่ท้าทาย
KEY
POINTS
- ปีลานีญ่าทำให้เกิดฝนตกหนักมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเกาะชวาและสุมาตราในอินโดนีเซีย ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและโคลนถล่มหลายพื้นที่ เช่น ซูคาบูมี จาการ์ตา ปริมาณฝนบางพื้นที่มีฝนสะสมถึง 300-400 มม.
- หน่วยงาน BNPB ของรัฐบาลอินโดนีเซีย เป็นศูนย์กลางการจัดการภัยพิบัติ หากท้องถิ่นรับมือไม่ไหว รัฐบาลส่วนกลางจะเข้ามาช่วยเหลือ โดยใช้เทคนิคโปรยสาร NaCl และ CaO เพื่อเร่งให้ฝนตกก่อนเมฆจะก่อตัวใหญ่ ลดความรุนแรงของฝน
- อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ฝนตกหนักผิดปกติและฤดูกาลเปลี่ยนแปลง นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไป ส่งผลให้บางพื้นที่เผชิญน้ำท่วมหนัก บางพื้นที่เจอภัยแล้งรุนแรง
ทุกๆ ปีลานีญ่าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะมีฝนตกมากที่บริเวณหมู่เกาะและคาบสมุทร ใกล้เส้นศูนย์สูตร ลานีญ่าปีนี้ซึ่งเกิดระหว่าง กุมภาพันธ์-เมษายนก็เช่นกัน ที่ได้เกิดปรากฏการณ์ฝนตกมากเป็นพิเศษในเกาะชวา และ สุมาตรา เป็นทบเท่า ด้วยเพราะประเทศเส้นศูนย์สูตรมีฤดูฝนในระหว่างพฤศจิกายนถึงมีนาคม เป็นจังหวะฤดูฝนบวกกับปีลานีญ่าพอดี
ฝนที่เกาะชวาปีนี้มากและหนักจนกลายเป็นภัยพิบัติน้ำท่วม ล่าสุดตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมได้เกิดเหตุน้ำท่วมโคลนถล่มที่เกาะสุมาตรา เกาะกาลิมันตัน โดยเฉพาะที่เกาะชวาตะวันตกหลายจุด เช่น พื้นที่ชานเมืองโซนใต้ของกรุงจาการ์ต้า เมืองซูคาบูมี เมืองเบกาซี ฯลฯ
เมฆฝนเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซียใหญ่มากกินพื้นที่ครอบคลุมหลายร้อยกิโลเมตร ปริมาณฝนแต่ละครั้งระดับ 100 มม.ขึ้นไป ภาพประกอบจาก องค์การบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ BNPB แสดงปริมาณฝนสะสมสีเขียวอมเหลืองคือ ระดับ 200-300 มม. และระดับเขียวอ่อน 300-400 มม. มีมากที่สุด
กลไกการรับมืออุทกภัยของอินโดฯ ต่างจากของไทย แบ่งเป็นส่วนท้องถิ่น-ส่วนกลาง
BNPB เป็นหน่วยงานส่วนกลางเพื่อแก้และบรรเทาปัญหา คล้ายกับหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัยของไทย กลไกของอินโดนีเซียแตกต่างจากไทยตรงที่เขามีระบบราชการส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด หากพิบัติภัยมีความหนักหน่วงเกินกว่ารัฐบาลท้องถิ่น (เปมดา) จะรับมือไหว หน่วยงานส่วนกลางจะยื่นมือเข้าไป
น้ำท่วมใหญ่มีนาคมรอบนี้ มีพื้นที่ประสบภัยใหญ่ เช่น ภัยพิบัติเขตซูคาบูมี Sukabumi เกิดทั้งน้ำท่วมและโคลนถล่ม BNPB ข้อมูล ณ วันที่ 7 มีนาคม 2568 บันทึกไว้ว่า มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยฯ จำนวน 155 หลัง และมีบ้านเรือนพังทั้งหลัง จำนวน 1 หลัง ในขณะเดียวกัน มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายหนัก 6 หลัง เสียหายปานกลาง 8 หลัง เสียหายเล็กน้อย 9 หลัง และได้รับผลกระทบ 18 หลัง สะพาน 3 แห่งที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง และอีก3 แห่งที่ได้รับความเสียหายปานกลาง
แม้จะเกิดพิบัติภัยน้ำท่วมไปแล้วแต่ฝนยังไม่หยุดตก ยังมีเมฆขนาดใหญ่คลุมพื้นที่เกาะชวาต่อเนื่อง พื้นที่ผลกระทบสำคัญคือ "นครหลวงจาการ์ต้า" และ "เขตชวาตะวันตก" ซึ่งมีประชากรหนาแน่น
ที่จริงแล้วอินโดนีเซียได้รับคำเตือนผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมาก่อน ว่า ประเทศใกล้ศูนย์สูตรเป็นเขตที่จะเกิดฝนตกมาก โลกยิ่งร้อน ฝนจะยิ่งตกมาก การรับมือกับน้ำฝนมากกว่าปกติ ตกครั้งละมากๆ และก่อผลกระทบขนาดใหญ่กำลังเป็นภารกิจใหม่ที่ท้าทายของอินโดนีเซีย
อินโดฯ ใช้เทคโนโลยีเร่งให้ฝนตก ลดผลกระทบภัยพิบัติน้ำท่วม
นอกจากการค้นหา กู้ภัย บรรเทาสาธารณภัยอาหารที่พักตามปกติแล้ว วิธีการใช้รับมือพิบัติภัยภาวะฝนตกหนักของอินโดนีเซียที่กำลังพัฒนาภารกิจขึ้นมาก็คือ การดัดแปลงสภาพอากาศเร่งให้ฝนตก !!
BNPB ได้เริ่มใช้เทคนิคเลี้ยงเมฆก่อฝน Cloud seeding โปรยสารโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) เร่งให้ฝนตกตั้งแต่เมฆยังไม่ใหญ่มาก วิธีการดังกล่าวเป็นการดัดแปลงสภาพอากาศ ลักษณะเดียวกับการทำฝนหลวงในประเทศไทย แต่แทนที่จะพยายามแก้ปัญหาภัยแล้งก่อให้เกิดฝน ปรับแปลงมาเป็นการเร่งโปรยสารให้ฝนรีบตกตั้งแต่เมฆเริ่มก่อตัว อันจะทำให้ผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนไม่มากเกินไป จนเกิดน้ำท่วมพิบัติภัย
ปฏิบัติการดัดแปลงสภาพอากาศแบบอินโดนีเซียเรียกว่า OMC- Operasi Modifikasi Cuaca ในฐานะหน่วยงานส่วนกลาง หากมีการร้องขอจากหน่วยงานปกครองท้องถิ่น จะดำเนินการ OMC ให้ ในระหว่างช่วงเสี่ยงเพราะพยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 10-20 มี.ค. จะเกิดมีฝนตกใหญ่และต่อเนื่องอีกรอบ
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้สภาพอากาศในอินโดนีเซียแปรปรวนมากขึ้น โดยอาจมีฝนตกหนักขึ้นในบางพื้นที่ แต่ก็อาจมีภัยแล้งรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบเขตร้อน และได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดมีฝนตกมากกว่าปกติ
ยิ่งภาวะโลกร้อนรุนแรง ก็ยิ่งทำให้ฝนตกหนัก พ่วงปัญหาน้ำท่วมดินถล่ม
การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝนในอินโดนีเซียมีลักษณะที่ซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยมีแนวโน้มบางประการที่สังเกตได้ ดังนี้:
1. ฝนตกหนักมากขึ้นในบางพื้นที่ ในบางส่วนของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะสุมาตราและเกาะชวา มีรายงานว่าปริมาณฝนที่ตกหนักขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้อากาศอุ่นขึ้นและมีความชื้นมากขึ้น เหตุการณ์ฝนตกหนักบ่อยครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมและดินถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) อย่างกว้างขวาง
2. รูปแบบฝนที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบฝนในอินโดนีเซียเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ฤดูฝนอาจมาเร็วหรือช้ากว่าปกติ และบางพื้นที่อาจประสบปัญหาฝนตกไม่สม่ำเสมอ
ในเดือนมีนาคม 2568 ที่กำลังเกิดอุทกภัยและฝนตกหนักต่อเนื่องหลายพื้นที่ แท้จริงมีนาคมควรจะเป็นช่วงที่ฝนในเกาะชวาเริ่มลดลง เพราะเป็นปลายฤดูฝนแล้ว แต่การณ์กลับเป็นว่า มีนาคมเป็นเดือนที่ฝนตกหนักมากจนเกิดอุทกภัยน้ำท่วมดินถล่ม แม้ว่าก่อนหน้านั้นเมื่อปลายปีที่แล้วหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าเป็นปีที่ฝนตกปกติ แต่สถานการณ์จริงของเดือนมีนาคมได้บ่งบอกยืนยันว่าเป็นปีที่ฝนเกินปกติ
ที่จริงความผิดปกติของดินฟ้าอากาศเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่กลางปี 2567 ที่ผ่านมาแล้ว นั่นก็คือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมเป็นฤดูแล้งของอินโดนีเซีย แต่ปรากฏมีฝนตกหนักผิดปกติ จนเกิดน้ำท่วมดินถล่มในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่เกาะสุลาเวสี ในครั้งนั้น สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ (BMKG) อธิบายว่าสาเหตุมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเขตร้อนในช่วงฤดูกาลอย่าง Madden-Julian Oscillation ร่วมกับคลื่นเคลวินและคลื่นรอสส์บีบริเวณเส้นศูนย์สูตร และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่อบอุ่นขึ้นในน่านน้ำรอบๆ อินโดนีเซีย ทำให้มีเมฆมากขึ้นในบางส่วนของประเทศ และก่อให้เกิดรูปแบบปริมาณน้ำฝนที่ผิดปกติ
รูปแบบของฝนที่ผิดปกติดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ