ควรเปลี่ยน KPI การเผาเป็นสัดส่วนรอยไหม้ แทนจุดความร้อน

ควรเปลี่ยน KPI การเผาเป็นสัดส่วนรอยไหม้ แทนจุดความร้อน

ไทยใช้ดัชนีจุดความร้อน Hotspot, จำนวนวันที่มลพิษสูงเกินมาตรฐาน และจำนวนผู้ป่วย เป็น KPI ชี้วัดขนาดมลพิษ PM2.5 แต่กลับพบว่าตัวชี้วัดเหล่านี้มีจุดอ่อน

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยกำลังยกระดับการบริหารจัดการของภาครัฐ เพื่อต่อสู้กับวิกฤติมลพิษอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก ผ่าน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่กลับพบว่าดัชนีชี้วัด 3 ด้านที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ยังไม่ครอบคลุมและมีช่องโหว่  
  • ควรปรับปรุง KPI ใหม่โดยเอาผลกระทบปัญหาฝุ่นต่อประชาชนเป็นตัวตั้ง เทคโนโลยีปัจจุบันมีทั้งเครื่องวัดแบบ Low Cost Sensor และการวัดค่าเทียบเคียงแบบ AOD จากดาวเทียม เพื่อระบุพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
  • ปัจจุบัน GISTDA มีรายงานรอยเผาไหม้ จากดาวเทียม Landsat-8 ระยะ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ออกมาเป็นประจำทุกปี นับจากพ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดเพื่อควบคุมสัดส่วนการเผาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันประเทศไทยใช้ดัชนีจุดความร้อน Hotspot เป็น KPI ตัวชี้วัดขนาดและการปัญหามลพิษ PM2.5 ร่วมกับ จำนวนวันที่มลพิษสูงเกินมาตรฐาน และจำนวนผู้ป่วย ซึ่งแต่ละด้านมีจุดอ่อนในตัวของมัน กล่าวคือ 

  • จุดความร้อนจากดาวเทียม:  ผ่านวันละสองรอบ และใช้เพียงดวงเดียวคือ Suomi-NPP มาเป็นค่าทางการ  มีช่องโหว่ให้คนลอบเผาหลบดาวเทียม จำนวนจุดความร้อนไม่สอดคล้องกับขนาดรอยไหม้ บางจังหวัดจุดความร้อนเยอะ แต่รอยไหม้เท่าๆ กับจังหวัดที่มีจุดความร้อนน้อย 
  • จำนวนวันที่มลพิษสูงเกินมาตรฐาน: วัดจากเครื่องทางการของกรมควบคุมมลพิษ มักจะติดตั้งจังหวัดละ 1 เครื่องในตัวเมือง ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเข้มข้นของมลพิษครอบคลุมทั้งจังหวัด บางจังหวัดเขตที่เผาไหม้มาก ประสบปัญหาความเข้มข้นฝุ่นสูงอยู่ไกลออกไปคนละทิศทางลม ดังนั้น จำนวนวันที่ค่ามลพิษสูง จึงไม่สะท้อนความทุกข์ยาก สภาพผลกระทบครอบคลุมจริง
  • จำนวนผู้ป่วย OPD ด้านทางเดินหายใจ: ตัวชี้วัดนี้ก็มีช่องโหว่ เพราะผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นขนาดเล็ก อาจจะแสดงผลในโรคอื่น เช่นโรคหัวใจ โรคสมอง หรือมีผลทำให้ผู้ตั้งครรภ์แท้งลูก การสะสมของฝุ่นในร่างกายเป็นผลกระทบสุขภาพระยะยาวที่ไม่ได้ถูกคำนวนเป็นตัวชี้วัดร่วม

ประเทศไทยกำลังยกระดับการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อต่อสู้กับวิกฤติมลพิษอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก ผ่าน พ.ร.บ.อากาศสะอาด และมาตรการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยฝุ่นละอองฉบับที่ 2 และความตื่นตัวของสังคมต่อสภาพวิกฤติที่ขยายวงครอบคลุมทั้งภาคกลางภาคอีสาน ไม่ใช่แค่ภาคเหนือดั่งภาพจำในอดีต 

การบริหารจัดการภาครัฐก็เป็นอีกมิติที่จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพเช่นกัน โดยเฉพาะดัชนีชี้วัด 3 ด้านที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ยังไม่ครอบคลุมและมีช่องโหว่  

ตัวชี้วัดปัญหามลพิษ ควรเน้นมิติผลกระทบสุขภาพต่อประชาชนที่จำกัดวงให้ชัดเจน

ดัชนี้ชี้วัดผลกระทบฝุ่นด้านสุขภาพประชาชน ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดเครื่องใหญ่ของกรมควบคุมมลพิษเสมอไป หากค่ามาตรฐานตามประกาศทางการยังจำเป็น ก็ใช้วิธีการเดิม ควบคู่กับการวัดผลที่เน้นมิติผลกระทบสุขภาพต่อประชาชน ในจำกัดวงระดับย่อยลงมา คือ ค่าความเข้มข้นเกินมาตรฐานเกิดผลกระทบรายอำเภอ รายตำบล โดยใช้เทคโนโลยีอื่นที่เทียบวัดค่ากับเครื่องวัดมาตรฐานได้ไม่แตกต่างมาก 

ทั้งนี้ให้ยึดหลักการเอาผลกระทบของประชาชนเป็นตัวตั้ง เทคโนโลยีปัจจุบันมีทั้งเครื่องวัดแบบ Low Cost Sensor และการวัดค่าเทียบเคียงแบบ AOD จากดาวเทียม เพื่อจะสามารถระบุได้ว่า ตำบลใดมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเข้มข้นและยาวนานระดับใด 

ในแง่ของการควบคุมแหล่งกำเนิดการเผาที่โล่งก็เช่นกัน ก่อนนี้ใช้เพียงจำนวนจุดความร้อน Hotspot ต่อมามีค่ารอยไหม้ Burned Scars จากดาวเทียมมาประกอบ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐยังยึดจุดความร้อนเป็นหลักสำคัญ เพราะรอยไหม้ต้องใช้เวลาประมวลผล ขณะที่จุดความร้อนมาทุกวันๆ ละ 2 รอบ ประชาชนก็สามารถส่องดูจำนวนจุดความร้อนผ่านเว็บไซต์เองได้ ราชการบางหน่วยถึงขนาดบอกให้ประชาชนเผาหลบดาวเทียมเพื่อไม่ให้เกิดจุดความร้อน (แต่มลพิษเกิดไม่เป็นไร ไม่มีเครื่องวัดว่าลอยมาจากเขตฉันหรือเขตของผู้อื่น) 

จำนวนจุดความร้อนเฉยๆ ไม่ได้บ่งบอกประสิทธิภาพ เพราะมันหลบเลี่ยงได้ ขณะที่ผลการวัดค่าขนาดของรอยไหม้เพียงประการเดียว ก็ไม่เป็นธรรมต่อจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่ เพราะแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ใหญ่เล็กต่างกัน 

จะเป็นการดีหรือไม่ หากมีการใช้ตัวชี้วัดที่แม่นยำและสามารถเปรียบเทียบพัฒนาการของการบริหารจัดการแหล่งกำเนิดการเผาที่โล่ง (การเกิดไฟ) ด้วยสัดส่วนการเผาต่อขนาดพื้นที่ทั้งหมด แสดงผลเป็นร้อยละ (%) การเผา 

การตั้งเพดานคุมสัดส่วนการเผา เป็นเป้าที่ชัดเจนกว่าการสั่งให้ลดจุดความร้อน

ปัจจุบัน GISTDA มีรายงานรอยเผาไหม้ จากดาวเทียม Landsat-8 ระยะ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ออกมาเป็นประจำทุกปี นับจากพ.ศ. 2563 เป็นต้นมา หากใช้รอยไหม้เป็นดัชนีชี้วัดตามสัดส่วนพื้นที่ จะได้ผลตามตารางดังนี้ 

ควรเปลี่ยน KPI การเผาเป็นสัดส่วนรอยไหม้ แทนจุดความร้อน

จากตารางจะเห็นว่าระหว่าง 2563-2567 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสัดส่วนรอยไหม้ ระหว่าง 11.54-22.36% มากน้อยขึ้นอยู่กับปีฝนตกมากหรือแล้งมาก (ลานีญ่า-เอลนิโย่) ขณะที่จังหวัดลำพูน มีรอยไหม้ระหว่าง 3.03-20.06% หากตัดปีฝนตกมากออก การควบคุมการไหม้ของลำพูนดีขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุด เหลือเพียง 7.7% จากที่เคยมากถึง 20.06% เป็นต้น

และหากรัฐตั้งเพดานเป้าหมายสัดส่วนการเผา ให้จังหวัดทำให้ได้ 5% จะเป็นเป้าหมายชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่าการสั่งให้ลดจุดความร้อนลง 20-25% แบบที่ปฏิบัติต่อเนื่องมา 

นอกจากนั้นยังสามารถใช้ตัวเลขรอยเผาไหม้รายเดือน เฉพาะเดือนที่มีการไหม้สูงเช่น ระหว่าง ก.พ.-เม.ย. เพื่อดูประสิทธิภาพการจัดการช่วงเผชิญเหตุ เพราะบางปีมีฝนมากในเดือนพฤษภาคม เป็นต้น 

*หมายเหตุ: การคำนวณพื้นที่จังหวัดของเชียงใหม่และตาก พ.ศ.2567 ใช้ตัวเลขขนาดพื้นที่จังหวัดปรับปรุงใหม่ ส่วนการคำนวณระหว่าง 2563-2566 ยังใช้ขนาดพื้นที่จังหวัดเดิม ซึ่งไม่ได้เขียนไว้ในตาราง



 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ