'ส.ศิวรักษ์' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ

'ส.ศิวรักษ์' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ

ปัญญาชนสยาม'สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 'ในวัย 91 ปี แม้จะเดินเหินช้าลงตามวัย แต่ความจำยังดีเลิศ ล่าสุดเรื่องราวของเขาและสิ่งของได้รวบรวมจดหมายเหตุจัดเป็นนิทรรศการ

เหตุที่ต้องรวบรวมเรื่องราวชีวิต สิ่งของ จดหมายเหตุ ส.ศิวรักษ์ เก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู เพราะปัญญาชนสยาม 4 แผ่นดิน(รัชกาลที่ 7-10) มีคุณูปการต่อประเทศหลายเรื่อง ทั้งการเขียนและแปลหนังสือ โดยเฉพาะเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เขามีความรู้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงผลักดันบุคคลสำคัญในประเทศให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม โดยไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ

ในวัย 91 ปี อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังจำเรื่องราวในอดีตได้ดี และวิพากษ์สังคมได้เผ็ดร้อนเหมือนเดิม แม้เขาจะบอกว่า 

"ตอนนี้ก้าวถอยหลังแล้ว  มีไม้ตะพดเตือนไม่ให้ล้ม อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะเจริญสติ ถ้าก้าวไปข้างหน้าก็ก้าวช้าๆ คงก้าวต่อไปได้อีกไม่นาน"

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ (สู่ช่วงปัจฉิมกาลแห่งชีวิต สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วัย 91 ปี)

  • ปัจฉิมกาลแห่งชีวิต ส.ศิวรักษ์

อาจารย์สุลักษณ์ เล่าในช่วงท้ายของการเสวนา ในงานนิทรรศการจดหมายเหตุนี่แน่ะกู! สู่ช่วงปัจฉิมกาลแห่งชีวิต สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จัดแสดง ณ โถงกิจกรรมชั้น 1 และห้องสมุด หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญญโญ(สวนโมกข์กรุงเทพ) โดยนิทรรศการจัดถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2567

เรื่องราวที่คุยกันวันนั้น ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นพิธีกรซักถามส่วนใหญ่เป็นการย้อนเรื่องราวในอดีต และคำถามสุดท้ายให้อาจารย์สุลักษณ์ มองไปข้างหน้า ...

"ผมอยากเห็นบ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มีเสรีภาพเป็นพื้นฐาน มีสังคมนิยมเป็นแกนกลาง หวังว่ามนุษย์จะรักใคร่จุนเจือกัน และเข้าหาสิ่งประเสริฐนอกเหนือวัตถุ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ จะนับถือคริสต์หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมหวังเช่นนั้น ตัวผมเองก็ไม่หวังอะไรมาก ต่อนี้ไปก็ไปสู่แดนสุขาวดี..."

ต้องยอมรับว่านักคิดเฉกเช่น อาจารย์สุลักษณ์มีบทบาทในสังคมที่หลากหลาย เป็นทั้งนักเขียน นักต่อสู้เพื่อสังคม นักวิพากษ์สังคมที่มีทั้งคนรักและคนชัง ผู้รอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์และศาสนาอย่างแตกฉาน ซึ่งน่าจะอันดับต้นๆ ของประเทศ

ในงานนิทรรศการครั้งนี้ อาจารย์สุลักษณ์ใจกว้าง อนุญาตให้นำดราม่าโพสต์ที่มีคนด่า "นี่แน่ะกู" ในเฟซบุ๊กสวนโมกข์กรุงเทพ มานำเสนอด้วย

 “ตลอดเวลาที่ผ่านมา ส.ศิวรักษ์ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มักโดนทั้งซ้าย ทั้งขวา เล่นงาน มีคนด่าอยู่ในน้อย และล่าสุดมีโพสต์ประกาศงานนี้ มีคนมากดโกรธไป 29 คน และแสดงความเห็น”

อาจารย์สุลักษณ์ บอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก ใครอยากด่าก็ด่าไป ผมไม่ถือหรอกครับ ก็ให้เขาได้ระบาย เพราะเป็นประชาธิปไตย คนได้ระบาย...ก็ดี เพราะด่าผมไม่เข้าคุก...” 

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิพากษ์สังคม นักเขียน นักคิดฯลฯ

คนขวางโลกที่มีคุณูปการต่อสังคมไทย

ในวัยเด็กสุลักษณ์เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และเคยเป็นบรรณาธิการ อุโฆษสาร หนังสือประจำปีการศึกษา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขารู้จักศิษย์เก่าหลายคน อาทิ พระยาอนุมานราชธน

และบวชเณรที่วัดทองนพคุณ ในครั้งนั้นพระภัทรมุนี (อิ๋น ภทฺรมุนี) เป็นอาจารย์ที่เขานับถือมาก จากนั้นไปเรียนปริญญาตรีด้านปรัชญาและวรรณคดี มหาวิทยาลัยเซนต์ เดวิดส์ แคว้นเวลส์ รวมถึงได้เนติบัณฑิตอังกฤษ ที่อังกฤษ

เมื่อจบจากอังกฤษ ตั้งใจว่าจะมาทำงานด้านการเมือง แต่ในที่สุดเปลี่ยนใจ หันมาบนเส้นทางขีดๆ เขียนๆ และวิพากษ์สังคม จนเป็นที่มาของนิตยสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ รั้งตำแหน่งบรรณาธิการคนแรก ต่อมาตั้งร้านหนังสือศึกษิตสยามบนถนนเฟื่องนคร และตั้งสำนักพิมพ์และสายส่งเคล็ดไทย ซึ่งเคยเฟื่องฟูในยุคหนึ่ง 

ปัจจุบันเขามีผลงานหนังสือและงานแปลกว่าร้อยเล่ม ทั้งการวิพากษ์การเมือง พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ อาทิ ก้าวแรกของปรัชญาฝรั่ง,ปัญญาชราชน ,ก่อนเฮือกสุดท้ายแห่งชีวิต ปัญญาชนสยาม,คันฉ่องส่องจริยศาสตร์ ,คันฉ่องส่องพระ  ฯลฯ  หนังสือแปล อาทิ โสกราตีส และจดหมายเหตุลา ลูแบร์ (แปลครั้งแรกในไทย)ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังก่อตั้งและร่วมก่อตั้งมูลนิธิ องค์กร หน่วยงาน อีกมากมาย อาทิ มูลนิธิเสฐียร โกเศศ-นาคะประทีป,มูลนิธิโกมล คีมทอง ,กลุ่มเสขิยธรรม ,ศูนย์ไทย-ธิเบตศึกษา ,สถาบันปรีดี พนมยงค์,คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน ฯลฯ 

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ

จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยามแปลครั้งแรกในไทย โดยส.ศิวรักษ์

  • จดหมายจากญาติมิตรที่ต้องเก็บรักษา

อาจารย์สุลักษณ์มีกัลยาณมิตร ทั้งในแวดวงชนชั้นนำทางสังคม นักคิด นักการเมือง ศิลปิน ผู้นำศาสนาทั้งไทยและต่างประเทศ ฯลฯ รวมถึงร่วมเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ในสังคมตั้งแต่หนุ่มจนถึงวัย 91 ปี

เรื่องใดที่มองว่าไม่ถูกต้องนักในสังคม สุลักษณ์มักออกมาขวาง และยินยอมที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ จึงไม่แปลกที่เขามักจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหลายกรณี แต่มีกัลยาณมิตรหลากหลายวงการคอยช่วยเหลือเสมอมา  

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน มิตรสหายอีกคนของอาจารย์สุลักษณ์ บอกว่า หลายคนอาจไม่รู้ว่า เขาเป็นคนเสนอชื่อท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อท่านอายุครบ 100 ปีต่อยูเนสโก้ นอกจากนี้ยังมีบทบาทเชื่อมต่อเรื่องราวในอดีตสู่ปัจจุบัน และอนาคต 

"เรื่องเหล่านี้อาจารย์ทำมาตลอดชีวิต สมัยก่อนคนจะไม่ค่อยได้ยินชื่อ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือเรื่องราวพระมหากษัตริย์ที่คนส่วนใหญ่รู้แค่ประวัติทั่วไป แต่อ.สุลักษณ์นำเสนอเรื่องราวอย่างลึกซึ้ง” 

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ จดหมายที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนถึงอาจารย์สุลักษณ์ 

เหมือนเช่นที่กล่าวมา สุลักษณ์ศึกษาเรื่องศาสนาอย่างแตกฉาน ไม่ใช่แค่พุทธเถรวาท พุทธมหายาน และวัชรยาน ยังรวมถึงคริสต์ อิสลาม นั่นทำให้เขามีกัลยาณมิตรเป็นผู้นำศาสนาทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งท่านติช นัท ฮันห์ องค์ไทละลามะ ท่านอาจารย์พุทธทาส และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ฯลฯ 

“อาจารย์สุลักษณ์เชื่อมต่อเรื่องราวได้หมด รวมถึงเรื่องพระมหากษัตริย์ก็มีความจงรักภักดี ความสำคัญเหล่านี้ทำให้ชีวิตอาจารย์ สิ่งของต่างๆ ข้อเขียน จดหมายโต้ตอบ และหนังสือต่างๆ แม้กระทั่งไม้เท้าที่ได้มาจากบุคคลสำคัญ ของทั้งหมดไม่ใช่แค่สมบัติของอาจารย์ แต่เป็นสมบัติของชาติ จึงเป็นที่มาที่ต้องทำจดหมายเหตุ” คุณหมอวิชัย เล่า

การรวบรวมจดหมายเหตุ เรื่องราวชีวิตและสิ่งของอาจารย์สุลักษณ์ ผู้รู้ด้านจดหมายเหตุได้ดำเนินมาหลายปี โดยใช้หลักวิชาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เก็บรักษาไม่ให้จดหมายและเอกสารต่างๆ เสื่อมสลายไป

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ พระพุทธรูปหยกที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์มอบให้อาจารย์สุลักษณ์ 

 “ถ้าจะทำพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่วัดทองนพคุณ(วัดที่อ.สุลักษณ์บวชเณร)อาจไม่เหมาะ หอจดหมายเหตุที่ดีในประเทศไทยมี 3-4 แห่ง และ 1 ในนั้นคือ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ทำได้ทั้งพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด ซึ่งการทำแบบนั้นลงทุนสูง ห้องต้องรักษาระดับอุณหภูมิและทำให้ถูกหลักวิชาการ" ช่อฟ้า เจตนาวีระบุตร ผู้รวบรวมศึกษาจดหมายเหตุเล่า 

“ตอนที่อาจารย์กลับจากเมืองนอกก็เริ่มตั้งหน่วยงานทำงานเพื่อสังคมจึงมีเอกสารหน่วยงานต่างๆ จดหมายส่วนตัว ช่วงแรกอาจารย์สนใจศิลปะวัฒนธรรม ย้อนไป 50-60 ปีงานพุทธศาสนาที่อาจารย์ทำ อาจารย์มองว่า ศาสนาต้องทำเพื่อสังคมและฝึกฝนตนเอง เคยเจอจดหมายหลวงพี่ไพศาลที่บวชเรียนเล่าถึงการฝึกฝนตนเอง”

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักเขียนและลูกศิษย์อีกคนของอาจารย์สุลักษณ์ เล่าว่า ผลงานสำคัญอีกชิ้นที่จับต้องได้คือ ประวัติเรื่องราวชีวิตท่านอาจารย์พุทธทาส หนังสือเล่มนี้มีอาจารย์สุลักษณ์อยู่เบื้องหลังผลักดันให้พระประชา ปสนฺนธมฺโม (ประชา หุตานุวัตร เสียชีวิตแล้ว) บันทึกไว้ในหนังสือ เล่าไว้ในเมื่อวัยสนธยา

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ “ตอนนั้นอาจารย์สุลักษณ์บอกพระประชาว่า ถ้ามีโอกาสบวชที่สวนโมกข์ฯให้ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติในมุมลึก เพราะพระที่มีชื่อเสียงมักถ่อมตน ไม่ชอบพูดเรื่องส่วนตัว”

  • เรื่องเล่าจาก ส.ศิวรักษ์ ที่มีต่อปูชนียบุคคล

1. อาจารย์พุทธทาส ไม่เคยโกรธใคร

 “เวลาผมไปสวนโมกข์ ท่านอาจารย์จะชอบคุยกับผม เพราะผมชอบเถียง ชอบค้านท่าน ไม่ว่าจะเถียงอะไร ท่านก็หัวเราะ โกรธไม่เป็น เคยมีคนถามว่า ท่านเป็นพระอรหันต์หรือ...ท่านบอกว่า ไม่รู้ แต่เราไม่โกรธใคร

ผมมองว่าท่านเป็นพระตัวอย่าง ไม่ติดยึด ชีวิตท่านทั้งหมดเป็นพระผู้ให้ เพราะพระส่วนใหญ่ชอบรับ ท่านมีความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติ ท่านเป็นบุคคลที่ลึกซึ้ง"

2. ท่านติช นัท ฮันห์ กัลยาณมิตรตลอดชีวิต

"พบกันครั้งแรกในงานที่ให้ศาสนิกชนต่างๆ ได้รู้จักและประสานงานกัน ตอนนั้นผมคุยกับท่านนัทฮันห์ เขาวิตกมาก เพราะเวียดนามถูกอเมริกันบุก ท่านนัทฮันห์พูดกับผมว่ามาประชุมล้มเหลว แต่ได้เพื่อน ท่านถือผมเป็นกัลยาณมิตรตลอดชีวิต ท่านอุดหนุนจุนเจือผมทุกครั้งเวลาผมถูกจับ ท่านจะบอกลูกศิษย์ให้ช่วยผม"

3. ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต อ่อนน้อมและเรียนเก่งมาก

"ท่านเป็นพระที่เติบโตในระบบ เรียนหนังสือเก่ง ภาษาอังกฤษดีกว่านักเรียนนอก เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัว หนังสือพุทธธรรมที่ท่านเขียน ท่านแก้แล้วแก้อีก เป็นหนังสือที่ดีที่สุดที่เคยมีในเมืองไทย

ตอนนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่นและจีน เสียดายสุขภาพท่านไม่ค่อยดี จะหาพระที่ประเสริฐอย่างท่านยาก มีความรู้เป็นเลิศ เรียบง่ายและน่าเคารพ"

4. อังคาร กัลยาณพงศ์ อัจฉริยะกวีและจิตรกร

“ผมภูมิใจมากที่เกิดมาในยุคเดียวกับท่านอังคารเป็นอัจฉริยะ คนไทยที่จะเข้าใจท่านอังคารมีน้อยมาก เพราะบทกวีของเขา ยิ่งแก่ตัวยิ่งเขียนยาก เพราะเอาธรรมะมาประยุกต์ใช้"

5. เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินที่มีอุดมการณ์

"เฟื้อมีความสามารถในการเขียนรูปไม่แพ้ปีกัสโซ อาจารย์ศิลป์บอกว่า เฟื้อเป็นศิลปินที่เก่งมาก แต่คนไทยลืมกำพืดตัวเอง ไม่รู้จักศิลปะของตัวเอง อาจารย์จึงอยากให้อนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิม 

เฟื้อปฎิเสธการเป็นศิลปินมีชื่อ ถ้าจะเขียนรูปได้เงินเป็นแสนเป็นล้านก็ทำได้ แต่เฟื้อหันมาอนุรักษ์ศิลปะไทย เดินทางทั่วประเทศ เป็นนักวิชาการศิลปากรเงินเดือนถูกๆ อาจารย์เฟื้อยากจนมาก

มีครั้งหนึ่งเขาอยากช่วยอนุรักษ์หอไตร วัดระฆัง จึงมาหาผม เพื่อให้ผมช่วยออกหน้า เพราะเป็นเรือนไม้และศิลปะที่งดงามมาก" 

.............

ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ

1.รูปปั้น ส.ศิวรักษ์

ผู้ปั้นรูปนี้ชื่อ เปี๊ยก-พิศาล ทิพารัตน์ เป็นศิลปินที่ส.ศิวรักษ์ชื่นชอบ เพราะพิศาลเคยปั้นรูปของสามัญชนที่ยืนหยัดเพื่อความยุติธรรมทางสังคมและเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ 

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ

2.หนังสือ อุโฆษสาร (Echoes,1952)

หนังสือประจำปีการศึกษาของโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งส.ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการคนแรก ทำให้เขาได้รู้จักศิษย์เก่าหลายคน อาทิ พระยาอนุมานราชธน \'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ

3.นิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์

เน้นกลุ่มคนอ่านที่เป็นปัญญาชน แต่มีอยู่วันหนึ่ง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถาม ส. ศิวรักษ์ ว่า “ปัญญาชนรู้จักชาวนาไหม ให้รู้ไว้เลยว่า ถ้าไม่มีชาวนา ปัญญาชนไม่มีข้าวกิน “และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจชนชั้นอื่นๆ จนเป็นที่มาของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับชาวนา

\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ 4. ไดอารี่ ส.ศิวรักษ์

เขาเขียนไดอารี่ทุกวัน ตั้งแต่อายุ 14 ปีจนปัจจุบันวัย 91 ปีก็ยังเขียน เขาบอกว่า ช่วยบันทึกความจำให้รู้ว่า เราทำอะไรไปบ้าง เขาบันทึกเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางวันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลา

5. ตราปั๊มสัญลักษณ์จีน

ส.ศิวรักษ์ มีเชื้อสายจีน เดิมแปลง “แซ่เซียว” เป็นนามสกุล “เซียวเกษม” แล้วแปลงอีกทีเป็น “ศิวรักษ์” เขาจึงมีตราประทับภาษาจีนในวงกลมมี 2 คำ ตัวแรกคือ “สุลักษณ์” ตัวที่สองคือ “ศิวรักษ์” (เซียว) \'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ

6. หมวก ส.ศิวรักษ์

เขามีทั้งหมวกสานจากต้นกก หมวกใบลาน มักได้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง จีน เขมร ลาว เวียดนาม และไทยด้วย เขาเคยบอกว่า “ที่ใส่หมวกก็เพราะมันร้อน ฝรั่งน่ะมันกลัวสโตรคมากนะ ถึงตายได้ ตามธรรมเนียมคนไทยไม่ได้ใส่หมวกแบบนี้ ใช้โพกหัวพันผ้าเอา"

 
\'ส.ศิวรักษ์\' ในวัย 91 ปี : ชีวิต เรื่องราว สิ่งของ ถึงเวลารวบรวมเป็นจดหมายเหตุ

7. ไม้เท้า

เขาเป็นคนชอบสะสมไม้เท้า เขาเคยบอกว่า “บางคนชอบเล่นรถ ชอบสะสมเมียน้อย ไม้เท้านี่เป็นจุดอ่อนของผม”

ส.ศิวรักษ์มักได้รับสืบทอดไม้เท้าต่อจากบุคคลสำคัญของประเทศ อาทิ  ไม้เท้าของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม้เท้าของพระยา,ไม้เท้าของอ.ปรีดี พนมยงค์