ถอดบทเรียน 'Taylor Swift' The Eras Tour เมื่อไทยอยากทะยานสู่ 'ฮับคอนเสิร์ต'

ถอดบทเรียน 'Taylor Swift' The Eras Tour เมื่อไทยอยากทะยานสู่ 'ฮับคอนเสิร์ต'

ชวนถอดบทเรียน คอนเสิร์ตระดับตำนาน "Taylor Swift" The Eras Tour อยากทะยานสู่เมืองจัดคอนเสิร์ต ไทยต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง?

KEY

POINTS

  • สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในดีลเอ็กซ์คลูซีฟให้ 'เทย์เลอร์ สวิฟต์' ปักหมุด The Eras Tour ไว้ที่ "สิงคโปร์" เป็นแห่งเดียวในอาเซียน มีการประเมินเม็ดเงินการใช้จ่ายในสิงคโปร์ว่า สูงถึงราว 13,000 ล้านบาท
  • นอกจากผลประโยชน์ผ่านการเจรจาที่ win-win ทั้งฝั่งศิลปิน และ ประเทศเจ้าภาพแล้ว การที่ศิลปินระดับโลกจะเลือกไปเวิลด์ทัวร์ที่ประเทศไหนบ้างนั้น ยังมีปัจจัยเรื่องความพร้อมอื่นๆ อาทิ ความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทาง ที่นำมาประกอบการพิจารณาด้วย
  • "สิงคโปร์" และ "เกาสง" เมืองรองแห่งไต้หวัน ถือเป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้ถึงความตั้งใจของภาครัฐในการปั้นให้เมืองของตัวเองเป็นฮับของอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตระดับโลกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงเม็ดเงินการใช้จ่ายได้อย่างประสบความสำเร็จ

ชวนถอดบทเรียน คอนเสิร์ตระดับตำนาน "Taylor Swift" The Eras Tour อยากทะยานสู่เมืองจัดคอนเสิร์ต ไทยต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง?

คอนเสิร์ตของศิลปินสาว "Taylor Swift" The Eras Tour ที่จัดแสดง ณ ประเทศสิงคโปร์ แบบเต็มสัปดาห์ (2 - 9 มี.ค. 2567) ถูกพูดถึงในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องเงินอุดหนุนสูงลิ่ว ดีลลับมัดมือชก เพื่อเป็น The Only 1 Stop in South East Asia ของสิงคโปร์ ซึ่ง "ลี เซียนลุง"​ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ออกมายอมรับว่า เป็นเรื่องจริง แถมสำทับด้วยความภูมิใจว่า นี่ถือเป็นข้อตกลงที่ประสบความสำเร็จสุด ๆ 

ในแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้เบื้องหลัง "ดีลเอ็กซ์คลูซีฟ" ให้ศิลปินมาเล่นที่เดียวนั้น ก็คือ "ความพร้อมในการจัดคอนเสิร์ต" ของแต่ละประเทศ ทั้งสเกลพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย หากมีเหตุฉุกเฉิน สามารถนำคนออกจากพื้นที่ได้รวดเร็วขนาดไหน รวมถึงการตื่นตัวของรัฐบาลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้มาพร้อมกันหมด ซึ่งเหล่า "สวิฟตี้" หรือ แฟนๆ ของสวิฟต์รู้กันดีว่า เธอให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้อย่างมาก

คอนเสิร์ต taylor swift

กรุงเทพธุรกิจ จึงชวนตามไปดูว่า ถ้าประเทศไทยอยากปักหมุดเป็นฮับการจัดคอนเสิร์ตระดับภูมิภาคนั้น มีปัจจัยหรือกรณีศึกษาใดบ้างที่เราควรจะรับทราบและเรียนรู้

สเตเดียมสิงคโปร์กับความปลอดภัยของผู้เข้าชม

ก่อนอื่น คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงประเทศสิงคโปร์ จากคำชี้แจงเงื่อนไขในการเข้าชมอีเวนต์ที่ National Stadium ของสิงค์โปร์ ที่เผยแพร่โดย Singapore Sports Hub โดย KSM (เจ้าของสถานที่) ซึ่งอัปเดตล่าสุด ธ.ค. 2565 ชี้แจงไว้ว่า ถ้าลูกค้าไม่ยินยอมทำตามข้อกำหนด-เงื่อนไข ที่ชี้แจงไว้บนตั๋วหรือแพลตฟอร์มผู้เข้าชมจะไม่สามารถเข้าสู่สถานที่ได้เพราะไม่ยินยอมทำตามเงื่อนไข

ในบรรดาเงื่อนไขที่ทางเจ้าของสถานที่ชี้แจงไว้ 7 ข้อ ข้อที่น่าสนใจที่การยกมาพูดถึงนั้นมีด้วยกันในเรื่องความปลอดภัยที่ชี้แจงไว้ในข้อที่ 1 มีความรัดกุมถึงเหตุฉุกเฉินซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้าช่วยเหลือ ส่วนเรื่องสิ่งของต้องห้ามที่ชี้แจงไว้ในข้อที่ 3 ก็ไม่พ้นอาวุธ ยาและสารผิดกฎหมาย หรือวัตถุไวไฟ 

ถอดบทเรียน \'Taylor Swift\' The Eras Tour เมื่อไทยอยากทะยานสู่ \'ฮับคอนเสิร์ต\'

ผู้เขียนเองได้มีโอกาสไปชมคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน พบว่า มีการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ KSM ของสเตเดียมถึง 3 ด่านด้วยกัน ซึ่งถือว่ามีความรัดกุมที่เข้มงวด และเมื่อคอนเสิร์ตจบการแสดง ผู้คนก็สามารถเดินทางออกจากสเตเดียมได้อย่างค่อนข้างไหลลื่นและรวดเร็ว เพียงไม่เกิน 15 นาทีสามารถออกมายังขนส่งสาธารณะทุกๆ ช่องทาง ทั้งรถบัสและรถไฟฟ้า MRT ได้เลย

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมองย้อนกลับมาที่สเตเดียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่างสนามราชมังคลากีฬาสถาน ทางด้านความปลอดภัยนั้นก็มีการตรวจที่รัดกุม แต่พบปัญหาล่าสุดในคอนเสิร์ตของวง Coldplay ที่จัดขึ้นเมื่อ 3 - 4 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา พบมีการสูบกัญชารบกวนผู้เข้าชมคนอื่นๆ สะท้อนว่า ยังมีช่องโหว่ในการจัดการซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ได้มากยิ่งขึ้น

การตื่นตัวของรัฐบาลกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อ Taylor Swift เป็นศิลปินดังระดับโลกมีแฟนคลับและผู้ชมติดตามในทุกช่วงวัย ประกาศจัดคอนเสิร์ต The Eras Tour ที่มีสเกลขนาดใหญ่ระดับครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกดนตรี แล้วจะมีเหตุใดที่สิงคโปร์จะไม่คว้าโอกาสไว้เพื่อประโยชน์ ผลกำไร และการฟื้นฟูประเทศตัวเอง

แม้ฟีดแบ็กจากหลายประเทศใกล้เคียงจะมีมุมมองต่อดีลพิเศษครั้งนี้ว่า "ไม่แฟร์" ต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีการให้เงินอัดฉีดให้เทย์เลอร์มาเล่นที่สิงคโปร์ที่เดียวในภูมิภาค

ถอดบทเรียน \'Taylor Swift\' The Eras Tour เมื่อไทยอยากทะยานสู่ \'ฮับคอนเสิร์ต\'

"ผมไม่เห็นว่ามันดูไม่เป็นมิตรต่อประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ และการที่การท่องเที่ยวประเทศสิงคโปร์ได้ให้เงินส่งเสริมเพื่อให้ Taylor Swift มาจัดแสดงก็ปิดดีลไปอย่างราบรื่นทั้งสองฝ่าย" ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์ได้กล่าวไว้ วันที่ 6 มี.ค. 67 

เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ นี่เป็น "ดีลธุรกิจ" ที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ขณะที่ฝั่งศิลปินเอง การปักหมุดเล่นหลายรอบในที่เดียว แน่นอนว่า ช่วยลดต้นทุนการเดินทางและขนส่งได้อีกมหาศาล และที่สำคัญคือช่วยลดความเหนื่อยของศิลปินและทีมงานได้อย่างดี

ขณะที่ประโยชน์ที่ฝั่ง "สิงคโปร์" ได้รับนั้น นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในจำนวนผู้ที่มาชมคอนเสิร์ต 300,000 คนนั้น ราว 70% หรือ 2​ แสนคนเศษมาจากต่างประเทศ โดยจะมีการใช้จ่ายในโรงแรม อาหาร และสิ่งบันเทิงต่างๆ ในสิงคโปร์ สูงถึง 350 - 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 9,300 - 13,200 ล้านบาท

ฉะนั้น หากไทยหรือประเทศไหนต้องการจะคว้าดีลยักษ์ระดับนี้มาครองได้ "ความพยายามอย่างจริงจัง" ทั้งจากฝั่งภาครัฐและเอกชนที่ต้องผนึกกำลังและทำอย่างมียุทธศาสตร์ชัดเจน น่าจะเป็นหนึ่งในหนทางสู่ความสำเร็จ

ถอดบทเรียน \'Taylor Swift\' The Eras Tour เมื่อไทยอยากทะยานสู่ \'ฮับคอนเสิร์ต\'

"เกาสง" เมืองรองแห่งไต้หวัน กับยุทธศาสตร์ "สร้างเมือง" ผ่านอีเวนต์-คอนเสิร์ต

ความตื่นตัวของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศเองก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการจับตามองโอกาสและสถานการณ์ที่กำลังเป็นกระแส ณ ช่วงเวลานั้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่นที่ไต้หวัน หลายๆ ครั้ง คอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกจะไปจัดที่เมืองรองอันดับที่ 2 อย่างเมืองเกาสง แทนที่จะไปจัดที่ ไทเป ซี่งเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด

ตั้งแต่ไต้หวันเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ศิลปินระดับโลกมากหน้าหลายตา ตั้งแต่ศิลปินฝรั่งยันศิลปินเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น Coldplay, Ed Sheeran, BLACKPINK หรือแม้แต่ศิลปินเพลงกลุ่มเฉพาะทางที่มีความโด่งดังระดับโลกจำพวกแนวเพลงคลาสสิก เพลงแจ๊ส ก็มาจัดการแสดงที่ National Kaohsiung Stadium เมืองเกาสงอยู่เสมอๆ

นั่นเพราะว่า รัฐบาลของเมืองนี้ที่นำโดย เฉิน ฉีม่าย นายกเทศมนตรีเมืองเกาสง ต้องการจะเปลี่ยนภาพลักษณ์โครงสร้างวัฒนธรรมของเมืองจากอดีตที่มีชื่อแค่อุตสาหกรรม ซึ่งในวันนี้เขามีความทะเยอทะยาน (มากกว่านายกเทศมนตรีกรุงไทเป) ในการจะทำให้เกาสงกลายเป็นเมืองแห่งการจัดกิจกรรมให้มากขึ้น ตามข้อมูลของ Taiwan Business Topic สำนักข่าวไต้หวันภาคภาษาอังกฤษเปิดเผยไว้

ปี 2566 เมื่อ BLACKPINK มาจัดคอนเสิร์ตที่เกาสง เฉกเช่นเดียวกับเดือน ก.พ. 2567 เมื่อ Ed Sheeran มาจัดแสดงคอนเสิร์ต มีรายงานจากสำนักข่าว Taiwan News Formosa TV กล่าวถึงว่าช่วงสุดสัปดาห์นั้น ตลาดกลางคืน ธุรกิจบันเทิง โรงแรมแน่นขนัดไปด้วยผู้คน มีการแจกคูปองส่วนลดในการซื้ออาหารในตลาด ซึ่งช่วยฟื้นฟูผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เกาสงได้มากทีเดียว

ในคอนเสิร์ตล่าสุดของ Ed Sheeran ได้ทำสถิติผู้เข้าชมรวมทั้งข้างในและผู้อยู่รอบนอกสเตเดียมสูงสุดถึง 94,646 คน ซึ่ง เฉิน ฉีม่าย นายกเทศมนตรีเกาสงได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟสบุ๊กเพจของตนในวันที่ 4 ก.พ. 67

นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีเกาสงยังได้เพิ่มบุคลากรในสถานีรถไฟ MRT และเพิ่มรถรับส่งอีกกว่า 45 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไป-กลับ 

เกาสงนับได้ว่าเป็นเมืองตัวอย่างในการสนับสนุนเพื่อการจัดแสดงอีเวนต์ซึ่งมีการอำนวยความสะดวกต่อเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเกือบทั่วถึงมากทีเดียว

ถอดบทเรียน \'Taylor Swift\' The Eras Tour เมื่อไทยอยากทะยานสู่ \'ฮับคอนเสิร์ต\'

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การไปชมคอนเสิร์ตที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวเรื่องการบ่นสำคัญคงหนีไม่พ้นปัญหาการเดินทางที่ครบรส แม้ขาไปสามารถเดินทางไปได้อย่างง่าย แต่ตอนเดินทางกลับนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งเพราะรถติด จำนวนรถขนส่งไม่เพียงพอ และตัวสถานที่ก็อยู่ห่างไกลจากขนส่งและรถไฟฟ้า ทำให้ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงทีเดียวเพื่อที่จะเดินทางถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ

อากาศร้อน โจทย์ท้าทายภูมิภาคเอเชีย

นอกเหนือจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากทัวร์คอนเสิร์ตนี้ซึ่งประเทศโซนร้อนอาจต้องมีการคิดวิธีการแก้ปัญหา เช่น บางประเทศในโซนเอเชียที่ร้อนตลอดทั้งปีอย่างประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ประเทศบราซิลเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้คนไม่สามารถรับมือกับอากาศร้อนได้ มีคนขาดน้ำ และได้มีแฟนคลับเสียชีวิตภายหลังด้วย ซึ่งตัวศิลปินสาวได้ออกมาเทคแอ็กชันให้ผู้จัดเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจัง เพราะคอนเสิร์ตทัวร์ครั้งนี้ หนึ่งโชว์ใช้เวลาถึงเกือบ 4 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งนานกว่าทัวร์ครั้งก่อนๆ 

จะเห็นได้ว่าความพร้อมในการจัดคอนเสิร์ตนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมีรายละเอียดเล็กน้อยยุบยิบจำนานมากที่ต้องเอาใจใส่อย่างรัดกุม เข้มงวด นอกจากเงินอัดฉีด เพิ่มกำลังคนในการอำนวยความสะดวก รัฐบาลเองก็ต้องรีบคว้าโอกาสและทำมันให้เป็น Win-win situation ให้ประเทศเราเองได้ทุกภาคส่วนเช่นกัน และนอกจากนี้อากาศก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก อีกหนึ่งโจทย์ท้าทายในภูมิภาคเอเชีย 

ถ้าสามารถจัดการโครงสร้างพื้นฐานในการอำนวยความสะดวกได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเดินทางขนส่ง นายกเศรษฐาแทบไม่ต้องกังวลเลยว่า เม็ดเงินมหาศาลจะไปถึงร้านหมูปิ้งข้างทางหรือไม่ เพราะประเทศไทยเราขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยอยู่แล้ว อย่างไรนักท่องเที่ยวต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

แต่โจทย์หลักน่าจะต้องกลับไปสร้างความพร้อมที่จะรับมือกับผู้ชมคอนเสิร์ตจำนวนมหาศาล ให้เกิดความพร้อมขึ้นจริงๆ ให้ได้เสียก่อน

 

อ้างอิง :  Yahoo finance  UNSW Sydney  The Straits Times  Taiwan news  Singapore sports hub