Taylor Swift effect แรงทะลุอุตฯ เพลง ส่ง Swift Bump เขย่าวงการอเมริกันฟุตบอล

Taylor Swift effect แรงทะลุอุตฯ เพลง ส่ง Swift Bump เขย่าวงการอเมริกันฟุตบอล

ไม่ว่านักร้องตัวแม่ "เทย์เลอร์ สวิฟต์" จะทำอะไร มักได้รับความสนใจจากแฟนคลับ "สวิฟตี้" อย่างล้นหลามเสมอ ล่าสุด Taylor Swift effect แรงทะลุอุตสาหกรรมเพลง กำเนิด Swift bump เขย่าวงการอเมริกันฟุตบอล ยอดผู้ชมกลุ่มหญิงสาวเพิ่ม 53% สปอนเซอร์เข้า NFL อีกเพียบ!

Key Points:

  • “Swift bump” ทำให้เอ็นเอฟแอลมีสปอนเซอร์เพิ่มขึ้น 20% และผู้ชมกลุ่มผู้หญิงก็เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุ โดยผู้ชมเอ็นเอฟแอลในกลุ่มวัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้น 53% และกลุ่มผู้ชมหญิงอายุ 18-24 ก็เพิ่มขึ้น 24%
  • สวิฟต์ได้สร้างมูลค่าแบรนด์ให้กับทีมชีฟส์ และเอ็นเอฟแอลเพิ่มขึ้นกว่า 331 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้มีแค่เอ็นเอฟแอลที่ได้ประโยชน์จาก Taylor Swift effect แต่แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสวิฟต์ก็ได้รับอานิสงส์จากอิทธิพลของเธอด้วย
  • ด้านแฟแนติกส์ ผู้ผลิตและร้านค้าปลีกชุดกีฬาอเมริกัน เผยว่า สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเคลซีมียอดขายพุ่ง 400% หลังสวิฟต์เข้าชมการแข่งขันของทีมครั้งแรก 

เทย์เลอร์ สวิฟต์ สวมกอด ทราวิส เคลซี หลังคว้าแชมป์ Super Bowl

ปรากฏการณ์ “Taylor Swift effect” ที่ทำให้นักร้องสาวประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างมาก และหนุนให้เทย์เลอร์ สวิฟต์กลายเป็นหนึ่งในคนบันเทิงที่มีรายได้มากที่สุดในโลก และดูเหมือนจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้ง เมื่อเธอและ “ทราวิส เคลซี” นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ทีมแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ (Kansas City Chiefs) เริ่มเดตกันเมื่อ 6 เดือนก่อน

สำนักข่าวอัลจาซีราห์ รายงานว่า งานซูเปอร์โบวล์ 2024 (Super Bowl 2024) เมื่อวันอาทิตย์ (11 ก.พ.67) ที่ผ่านมา อาจกลายเป็นการแข่งขันที่มีสวิฟตี้ หรือแฟนคลับเทย์เลอร์มาร่วมชมจำนวนมาก เพื่อมาดู “สวิฟต์” ในฐานะแฟนกีฬาที่มาดูทีมแคนซัส กับ ทีมซานฟรานซิสโก 49ers แข่งขันกันที่สนามกีฬาอัลลิเจียนต์ ในลาสเวกัส

Taylor Swift effect เขย่าวงการ NFL

อาชีพนักร้องของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้สร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมาก ด้วยฐานแฟนคลับขนาดใหญ่จึงก่อให้เกิดตลาดอิทธิพลแฝง หรือที่เรียกว่า “Taylor Swift effect”

ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแค่เพิ่มมูลค่าชื่อเสียงของสวิฟต์ แต่ยังช่วยเพิ่มแฟนคลับใหม่ๆ ให้กับเนชันแนลฟุตบอลลีก (เอ็นเอฟแอล) โดยเฉพาะแฟนคลับกลุ่มผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกกลุ่มแฟนคลับใหม่นี้ว่า “Swift bump” ทำให้เอ็นเอฟแอลมีสปอนเซอร์เพิ่มขึ้น 20% และผู้ชมกลุ่มผู้หญิงก็เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุ โดยผู้ชมเอ็นเอฟแอลในกลุ่มวัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้น 53% และกลุ่มผู้ชมหญิงอายุ 18-24 ก็เพิ่มขึ้น 24%

โรเจอร์ กูเดลล์ กรรมาธิการเอ็นเอฟแอลยินดีที่ตัวเลขผู้ชมเพิ่มขึ้น และกล่าวว่า

“อิทธิพลของสวิฟต์ได้สร้างแฟนคลับรุ่นใหม่เพิ่มอีกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่สนใจว่าทำไมเธอต้องมางานนี้ ทำไมเธอสนใจการแข่งขันนี้นอกเหนือจากทราวิสแฟนของเธอ เธอเป็นแฟนคลับฟุตบอลแล้ว”

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีฐานแฟนคลับผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เข้าชมโดยรวมเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยเอ็นบีซีสปอร์ต ระบุว่า การแข่งขันที่ทีมชีฟส์เอาชนะนิวยอร์กเจ็ตส์ ในเดือนต.ค.2566 มีผู้เข้าชมจากหลายแพลตฟอร์มรวม 27 ล้านคน ซึ่งเป็นยอดชมสูงสุดนับตั้งแต่งานซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 57 ในเดือนก.พ.2566

อิทธิพลจากสวิฟต์ ‘สร้างมูลค่าแบรนด์’ เป็นวงกว้าง

ตามข้อมูลของเอเพ็กซ์ มาเก็ตติง สวิฟต์ได้สร้างมูลค่าแบรนด์ให้กับทีมชีฟส์ และเอ็นเอฟแอลเพิ่มขึ้นกว่า 331 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้มีแค่เอ็นเอฟแอลที่ได้ประโยชน์จาก Taylor Swift effect แต่แบรนด์ที่เกี่ยวข้อง กับสวิฟต์ก็ได้รับอานิสงส์จากอิทธิพลของเธอด้วย แม้แต่ทีมซานฟรานซิสโก 49ers ก็ยังได้รับอิทธิพลจากเธอ

หลังจากสวิฟต์สวมใส่เสื้อแจ็กเก็ตที่มีลักษณะคล้ายเสื้อทีมของแฟนเธอ เข้าชมการแข่งขันในเดือนม.ค. เสื้อตัวดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้านแฟแนติกส์ ผู้ผลิตและร้านค้าปลีกชุดกีฬาอเมริกัน เผยว่า สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเคลซี มียอดขายพุ่ง 400% หลังสวิฟต์เข้าชมการแข่งขันของทีมครั้งแรก 

ขณะที่แบรนด์สินค้าอื่นๆ พยายามคว้าโอกาสเท่าที่ทำได้ เพื่อให้แบรนด์ได้รับ Taylor Swift effect เช่นกัน ซึ่งมีตั้งแต่ Hoopla แบรนด์ผลิตภัณฑ์เล็บในเมืองแคนซัส ไปจนถึง Ziploc ผู้ผลิตถุงอาหารปิดผนึก โดยแม่ของเคลซีเองได้เฉิดฉายตามสื่อต่างๆ ในฐานะ Chief Leftover Officer ของ Ziploc แบรนด์รณรงค์ลดขยะอาหาร (Food waste)

ขณะที่คอมเพล็กซ์ นิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับวัฒนธรรมประชานิยม (pop culture) ระบุว่า 1 สัปดาห์หลังจากสวิฟต์เป็นที่สนใจจากการสวมใส่รองเท้าผ้าใบ New Balance 550 ทำให้แบรนด์มียอดเข้าชมสินค้าหน้าร้านเพิ่มขึ้น 25%

เทย์เลอร์ สวิฟต์ ใส่เสื้อแจ็กเก็ต ที่มีลักษณะคล้ายเสื้อทีมแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์

สปอนเซอร์และการ Collab สำคัญไฉน

รายได้จากการทำข้อตกลงกับแบรนด์ และสปอนเซอร์ต่างๆ สำคัญต่อวงการกีฬามาก รวมถึงเอ็นเอฟแอลด้วย ขณะเดียวกัน การสร้างเครือข่ายให้แบรนด์กับสปอนเซอร์เป็นวงกว้าง จะช่วยหนุนยอดผู้ชม และทำให้เอ็นเอฟเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่ต้องการได้

แม้สวิฟต์ไม่ใช่สปอนเซอร์ หรือ brand collaborator อย่างเป็นทางการของเอ็นเอฟแอล ลีกมีสปอนเซอร์มากถึง 37 รายการในปี 2566-2567 ซึ่งหนึ่งในนั้นมี เกเตอเรด (Gatorade) ที่เป็นสปอนเซอร์ให้ลีกมานานเกือบ 40 ปี และยูทูบ ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหม่ในปี 2566 ที่ผ่านมา

สปอนเซอร์ยูไนเต็ด เว็บไซต์วิเคราะห์ข้อมูลทางกีฬา ระบุว่า รายได้จากสปอนเซอร์ของเอ็นเอฟแอลอยู่ที่ 2,350 ล้านดอลลาร์ เติบโต 15% จากฤดูกาลแข่งขันล่าสุด

นอกจากนี้ ในปีก่อน เอ็นเอฟแอลได้ขยายความนิยมอย่างมีกลยุทธ์ด้วยการร่วมมือทางธุรกิจกับแบรนด์แฟชั่นหลายแห่ง โดยเฉพาะแบรนด์ของศิลปิน เช่น OVO แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่ร่วมก่อตั้งโดยแรปเปอร์เดรก และเตรียมคอลแลปกับแรปเปอร์อีกหลายคน อาทิ Benny the Butcher และ Lil Wayne

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์