จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’

งานจิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ ของ ‘รพินทรนาถ ฐากูร’ ที่กลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง และความมีเสน่ห์ของประเทศ 'อินเดีย' ที่ทำให้หลายคนอยากพูดถึง

เคล็ดไทย ศึกษิตสยาม สวนเงินมีมา ร่วมกันจัดงานเสวนา ใครยังอ่านบทกวี ? ชวนมาร่วมวงจิบชา อินเดีย ฟังบทกวี นกเถื่อน ของ รพินทรนาถ ฐากูร

โดย แครส-อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักประวัติศาสตร์ และ แพท-พัทริกา ลิปตพัลลภ จากเพจ ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก ดำเนินรายการโดย นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567  ณ ร้านศึกษิตสยาม ถนนเฟื่องนคร (ในงาน เฟื่องนคร Book Buffet 2024)

วรนุช ชูเรืองสุข บรรณาธิการ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา กล่าวว่า ที่มาของการจัดงานครั้งนี้ เพราะมีการพิมพ์หนังสือ นกเถื่อน ครั้งใหม่

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’ Cr. Kanok Shokjaratkul

"นกเถื่อน Stay Birds เป็นบทกวีนิพนธ์ ของ รพินทรนาถ ฐากูร ถอดความโดย ปรีชา ช่อปทุมมา เคยพิมพ์มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน

สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เคยพิมพ์งานของท่านรพินทรนาถ ฐากูร 3 เล่มด้วยกัน คือ นกเถื่อน, จันทร์เสี้ยว, โศลกแห่งความรัก ซึ่งขายไม่ค่อยได้ ต่อมาพิมพ์บทกวี รูมี กวีลำนำรัก

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการนำบทกวีไปโพสต์ แชร์ ลงติ๊กต่อก จนกลายเป็นกระแสความสนใจของคนหนุ่มสาว จึงคิดพิมพ์กวีนิพนธ์ นกเถื่อน ออกมา"

รพินทรนาถ ฐากูร เป็นนักปรัชญา นักธรรมชาตินิยม กวีภาษาเบงกอล เขียนบทกวีครั้งแรกตอนอายุ 8 ปี ตีพิมพ์บทกวี ตอนอายุ 16 ปี มีสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี ค.ศ.1913 เป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • คนรุ่นใหม่ยังอ่านบทกวีอยู่ไหม

แครส-อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า น่าจะมีเยอะ เขาอ่านแต่ไม่รู้ว่านี่คือบทกวี

"ถ้าผมเอาบทกวีในเล่มนี้ไปโพสต์ในเฟสบุ้ค ใครเห็นแล้วชอบ มันโดนใจ เขาก็เอาไปโพสต์ต่อ แต่เขาไม่รู้ว่ามาจากต้นทางที่ไหน รพินทรนาถ ฐากูร เป็นใคร

นึกว่าเป็นคำคม ที่มันสวย ๆ โดนใจ กระทบใจ ในฐานะคนเขียนบทกวี ผมตอบได้ว่า ถ้อยคำ มันทำงานแล้ว แต่ก็อยากให้รู้สักหน่อยว่าใครเขียน ต้นทางมายังไง

การอ่านกลอนในปัจจุบันมันเปลี่ยนไป จากเดิมอ่านแบบหนังสือ ขวา ซ้าย มาอ่านแบบเลื่อนขึ้นเลื่อนลง ทำให้ได้เนื้อความส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งหายไป

แล้วก็ไม่ได้มานั่งดื่มด่ำแบบแต่ก่อน ที่นอนอ่านใต้ร่มไม้ เดี๋ยวนี้อ่านในสเตตัสเฟซบุ๊ค จะทำยังไงให้เขารู้ ให้เขาไปตามอ่าน"

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • บทกวี มีความเป็นสากล

อาชญาสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ตัวเองชอบอ่านบทกวี เขียนบทกวี มาจากครอบครัว

"ตอนเด็ก ๆ เราโตมากับการท่องบทอาขยาน และปู่ย่าตายายที่ชอบอ่านทำนองเสนาะให้ฟัง ผมเลยจำได้ อย่างขุนช้างขุนแผน เป็นกลอนแปด มีคำเป็นจังหวะแบบนี้

เสียง ทำให้จำได้ เพราะฉันทลักษณ์ไทยจะบังคับเสียง ถ้าวรรคนี้จะขึ้นเสียงลงเสียงต่ำไม่ได้ เหมือนเราฟังเพลง แล้วก็ร้องเพลงได้โดยอัตโนมัติ

พอโตขึ้นก็รู้ว่าบทกวีไม่ได้มีแต่คำร้อยกรอง สัมผัสแบบลงจังหวะเป๊ะ ๆ ทุกอย่าง มันยังมี บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ อย่างที่ท่านรพินทรนาถ ฐากูร เขียน สั้น ๆ เล็ก ๆ แต่ว่าคำมันลึกซึ้ง กินใจ

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’

Cr. Kanok Shokjaratkul

บทกวีมีพลัง นอกจากถ้อยคำแล้ว มันยังมีความคิด ความรู้สึก บางอย่างซ่อนอยู่

มีพี่คนหนึ่งบอกว่า คำว่า บทกวี ในภาษาอาหรับ เป็นคำเดียวกับคำว่า รูขุมขน นั่นหมายความว่า มันเป็นความรู้สึก

ผมรู้สึกว่าโลกของบทกวีข้างนอก มีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าที่เราต้องเขียนให้มันถูกต้องตามหลัก มันมีความรู้สึกที่เป็นสากล

ถ้าผมพลัดหลงอยู่ในโลกอาหรับหรืออินเดีย ผมสามารถคุยเรื่องบทกวีกับเขาได้ ต่อให้เราไม่เหมือนกันเลย หรือไม่เข้าใจวัฒนธรรมเขา

แต่มนุษย์มีสิ่งที่เชื่อมกันได้เป็นสากล นั่นคือ ความรู้สึก เช่น อากาศร้อน เรารู้สึกยังไง บทกวีก็ทำงานแบบนั้น คนเราสามารถคุยกันด้วยมิติของถ้อยคำและบทกวีได้โดยที่ไม่ต้องรู้จักหรือมาจากวัฒนธรรมเดียวกัน

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’ Cr. Kanok Shokjaratkul

สำหรับบทกวี นกเถื่อน ผมได้อ่านตอนอายุ 19-20 อ.ปรีชา ช่อปทุมมา แปล ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นบทกวียากอะไร คิดว่ามันเป็นคำคม โดนใจ ทำให้ขบคิด พออายุมากขึ้น ได้อ่านอีกในฉบับพิมพ์ใหม่ครั้งนี้ เราก็ได้เห็นอะไรใหม่

ผมและเพื่อนที่อ่านตอนเด็ก ๆ แล้วกลับมาอ่านใหม่ ก็มองเห็นไม่เหมือนกัน มันมีมิติ มีรายละเอียดที่งอกเงยขึ้นไปอีก บางทีเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ชีวิตที่เราได้พบเห็นมา

ถ้าผมอายุถึง 80 ปีแล้วยังได้อ่านเล่มนี้ ผมก็จะเห็นไปอีกมิติหนึ่ง อาจเข้าใจโลกได้ดีกว่าตอนที่ผมเป็นเด็ก

บทกวี คือ บันทึกสภาพอารมณ์ของสิ่งที่เราเห็นทุกวัน ช่วงอายุที่เปลี่ยนไป ถ้อยคำที่เป็นตัวสื่อก็ไม่เหมือนกัน ความลึกของความรู้สึกก็ไม่เหมือนกัน"

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • คนที่ไปประเทศอินเดีย ถ้าไม่รักก็เกลียดเลย

แพท-พัทริกา ลิปตพัลลภ จากเพจ ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก กล่าวว่า การเดินทางไปอินเดียแต่ละครั้งมีความรู้สึกว่าได้กลับบ้าน

"เราทำหนังสือออกมาสองเล่ม เล่มแรก ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก เป็นการรวบรวมการเดินทางไปอินเดียในช่วง 12 ปี รวมประมาณ 30 ครั้ง

เล่มที่สอง ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน เล่าเรื่องการเดินทางไปเม็กซิโก เพราะ ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) แต่จริง ๆ แล้วเม็กซิโกมีอะไรมากกว่านั้น เราได้ไปใช้ชีวิตกับชนเผ่าพื้นเมืองที่นั่น

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’

Cr. Kanok Shokjaratkul

เราไปอินเดียมาสิบกว่าปี สิ่งที่ทำมาหนึ่งอย่างคือหนังสือ เพิ่งจะเปลี่ยนทัศนคติตัวเองว่าเราควรทำอย่างอื่นด้วยไหม ก็เลยไปอินเดียแล้วเริ่มถ่ายยูทูบ 

แต่มันต้องถ่ายรายละเอียดเยอะมาก ทำให้ชีวิตเราหายไปหมดเลย เราไม่ได้ใช้ชีวิตกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเลย เราไม่ได้จับดอกไม้ขึ้นมาดม เราไม่ได้นั่งคุยกับคนที่อยู่ตรงหน้าเรา พอกลับมาที่บ้านก็จะตัดต่อยังไง จะเขียนยังไง ทำไปได้สามวัน วาง ไม่เอาแล้ว

มาคิดว่ามีวิธีไหนอีกไหมที่ยังทำงานวิดีโอได้อยู่ แต่ไม่ต้องขนาดนั้น ก็ลดสเกลมาเป็นติ๊กต่อก ตอนแรกทำเรื่องวัฒนธรรมอินเดีย การแต่งตัว หลัง ๆ เป็นเรื่องอาหาร เพราะเข้าถึงคนได้ง่ายมากที่สุด เราไม่ได้เป็น Food Blogger ไม่ได้เก่งเรื่องอาหาร ก็พยายามเรียนรู้ตลอด จนมาถึงทุกวันนี้

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’

Cr. Kanok Shokjaratkul

อินเดียหล่อหลอมเราในหลาย ๆ อย่าง การไปอินเดียแบบไม่คิดล่วงหน้าว่าจะต้องเป็นแบบนั้น ไม่ดราม่าในชีวิตให้มากเกินไป เราจะเริ่มเห็นข้อดีหลาย ๆ อย่าง เห็นมุมดีของอินเดีย

เวลาที่เรากินอาหารอินเดียหนึ่งจาน มันมีวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ มีเทศกาล มีครอบครัว มีเรื่องตลาด มีเรื่องมากมาย แต่คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าอาหารอินเดีย สกปรก และ ท้องเสีย

เพราะ 1) คุณเลือกร้านสกปรกจริง ๆ  2) ดวงของคุณ 3) คนอินเดียให้ความสำคัญกับศาสตร์อายุรเวทโบราณ มีธาตุร้อน ธาตุเย็น เพราะอาหารเขามีแป้งเยอะ เครื่องเทศต่าง ๆ จะช่วยย่อย พอคนไทยไปกินก็ ท้องเสีย เพราะท้องยังไม่ได้ปรับ นี่คือเหตผล"

จิบชา ฟังบทกวี ‘นกเถื่อน’ รพินทรนาถ ฐากูร เรื่องเล่าจาก ‘อินเดีย’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ใครอยากแสวงหาต้องไป อินเดีย จริงหรือ?

พัทริกา เล่าว่า ตอนเท้าแตะประเทศอินเดีย จะรู้สึกได้ถึงพลังงานบางอย่าง

"พอเราไปใช้ชีวิตที่นั่น พลังงานนั้นก็เพิ่มขึ้น เรานั่งวิเคราะห์กับคนอินเดีย เขาถามว่า คนอินเดียในประเทศนี้มีกี่คน แล้วทุกคนท่องมันตราทุกวัน วันละหลายรอบ มีเทศกาลเกี่ยวกับศาสนา การไหว้เทพ วัวข้างถนนก็สัตว์เทพ จะไม่มีพลังงานได้ยังไง

แม้ว่าเสียงข้างนอกจะดัง ทั้งเสียงรถไฟ เสียงรถบีบแตร แต่ถ้าเราตั้งจิตนิ่ง ๆ จะพบว่ามีความเงียบอยู่ในเสียงดังนั่น นี่เป็นสิ่งที่เราเจอด้วยตัวเอง

บางคนอาจจะรำคาญเสียงดัง แต่เรารู้สึกว่ามันเพราะจัง เวลาคนไปอินเดียแล้วบ่นโน่นนี่ ก็อยากถามว่าถ้าอินเดียสะอาดขึ้นมา แล้วไม่มีเสียงบีบแตรเลย จะกลับไปอินเดียอีกไหม คำตอบคือ ก็ไม่ไป"